top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ 5 วิธีดูแลสุขภาพจิต ในสถานการณ์ Covid – 19 รุนแรง


รู้สึกว่าปี 2565 นี้จะกลายเป็น “ปีเสือดุ” เสียแล้วนะคะ เพราะนอกจากเจ้าโอไมครอนจะทำให้สถานการณ์ Covid – 19 รุนแรงขึ้นสู่ระดับที่ 4 ยังมีเรื่องเนื้อหมูราคาแพง ค่าก๊าซหุงต้มและน้ำมันขึ้นราคา แต่ค่าแรงราคาถูก ร่วมถึงความมั่นคงทางการงานของหลาย ๆ คนกลับง่อนแง่น พร้อมกลายเป็นคนว่างงานอยู่ตลอดเวลา กิจการที่กำลังจะได้กลับมาเปิด ก็ต้องปิด หรือหลายกิจการที่กำลังไปได้สวย ก็สะดุดอีกแล้ว บอกเลยค่ะว่าถ้าไม่สตรองจริงอยู่ลำบากมากค่ะ เพราะสถานการณ์เช่นนี้เสี่ยงสูงต่อการก่อให้เกิดภาวะเครียด กดดัน และนำไปสู่โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) เป็นต้น ด้วยความห่วงใยจาก Istrong ดิฉันจึงขอนำเสนอ ข้อแนะนำของนักจิตวิทยา 5 วิธีดูแลสุขภาพจิต ในวันที่ Covid – 19 รุนแรง เพื่อเป็นแนวทางให้คุณนำไปปรับใช้ในการดูแลสุขภาพจิตใจของตนเองและคนที่คุณรักให้แข็งแรง และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (อีกแล้ว) ได้อย่างมีประสิทธิภาพนะคะ


1. รู้ทันอารมณ์ตนเอง


วิธีแรกที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง หากเรารู้ตัวว่าเรากำลังเครียด กำลังกังวล กำลังเศร้า เราจะได้จัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ทัน เช่น เมื่อเราเครียด เราก็จะได้หาที่ปรึกษา หรือไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เพื่อขอคำแนะนำในการพาตัวเองออกมาจากความเครียด หรือเมื่อเรากังวล เราก็มาวางแผนจัดการชีวิตให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น หรือหาวิธีจัดการสิ่งที่กังวลอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดวังวนกังวลซ้ำ ๆ อีก หรือหากเรารู้สึกเศร้า เราก็หากิจกรรมที่ผ่อนคลายเพื่อลดความเศร้า เช่น อยู่กับเพื่อน อยู่กับครอบครัว ทำกิจกรรมที่เราชอบ เป็นต้น


2. มีสติในการอ่านข่าว หรือรับสื่อ


ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่า สังคมออนไลน์มีส่วนสำคัญอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเรา ทั้งการพบปะผู้คน การหาร้านอาหาร หาที่เที่ยว หรือรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลเรื่อง Covid – 19 ที่รู้ลึก รู้เร็ว แต่รู้จริงหรือเปล่าอีกเรื่องนะคะ เพราะในโลกออนไลน์ใครจะใส่ข้อมูลอะไร ลงไปในนั้นก็ได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นใคร เช่น ดิฉันจะกลายเป็นคุณหมอที่ให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิต หรือให้ข้อมูลเรื่อง Covid – 19 ก็ได้ ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจก็คือ มีคนที่พร้อมเชื่อสิ่งเหล่านั้นอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นแล้ว ก่อนจะเชื่อหรือแชร์ข้อมูลใด ๆ ในโลกออนไลน์ ขอให้มีสติในรับข่าวสาร และเช็กก่อนแชร์ ชัวร์ก่อนแชร์นะคะ


3. ดูแลตัวเองให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ


ยิ่ง Covid – 19 รุนแรงมากขึ้น เราทุกคนก็ต้องดูแลสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงขึ้นด้วยเช่นกันนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ การทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ การอ่านหนังสือเพิ่มพูนความรู้ การลงคอร์สอบรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะ สมรรถนะ และเสริมศักยภาพ รวมถึงใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารัก ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และที่สำคัญ คือ รักษา Work Life Balance ชีวิตเรายังมีสิ่งดี ๆ ให้เราทำอีกมากมายค่ะคุณผู้อ่านค่ะ รักษาเนื้อรักษาตัวให้รอดปลอดภัยกันนะคะ


4. หาที่ปรึกษาเมื่อไม่สบายใจ


เทคนิคสำคัญในการรักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรงในทุกสถานการณ์ ก็คือ เมื่อมีเรื่องไม่สบายใจให้หาที่ระบายออกทันที โดยบุคคลผู้นั้นหาไม่ยากเลยค่ะ ขอแค่เขามีใจที่จะรับฟังเราจริง ๆ โดยไม่คิดแทนเรา หรือตัดสินเรา เช่น คนรักของเรา ครอบครัว เพื่อนสนิท หรือถ้าคุณผู้อ่านไม่รู้จะเล่าความในใจให้ใครฟัง ลองขอคิวพบนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านคุณผู้อ่านได้นะคะ หรือสามารถโทรเล่าความไม่สบายใจให้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาฟังฟรีที่เบอร์ 1323 หรือหากต้องการคำปรึกษาแบบทันใจ และมั่นใจว่ามีคนรับฟังแน่ ๆ สามารถติดต่อเรา ได้ที่ https://www.istrong.co/contact นะคะ


5. กังวลให้น้อย ห่วงใยให้มาก


ความกังวลนอกจากจะทำให้เราล่ก รนราน ไม่สบายใจ เครียด และนำไปสู่โรคทางจิตเวชต่าง ๆ แล้ว ข้อดีเดียวของความกังวลก็คงเป็นความกระตือรือร้นที่ให้เรามา ดังนั้น เพื่อรักษาสุขภาพจิตให้เข็มแข็ง นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า ขอให้ปรับความกังวลเป็น “ความห่วงใย” เพราะหากเรากังวล เราจะไม่ค่อยมีสติ ขาดสมาธิในการแก้ไขปัญหา แล้วเราก็จะอยู่ในวังวนของความกังวลเช่นนั้นไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเรา “ห่วงใย” เราจะใจเย็นลง มีสติ และคิดหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพราะฉะนั้นแล้ว หากคุณเริ่มกังวล ขอให้หายใจเข้า - ออกลึก ๆ แล้วตั้งสติ วางแผนลำดับขั้นตอน เผื่อแก้ไขปัญหาในทางที่เหมาะสมต่อไปค่ะ


ถึงแม้ว่า Covid – 19 จะยังอยู่กับเรา และจะวนกลับมาหลอกหลอนโดยการเพิ่มความรุนแรงให้เราอยู่เรื่อย ๆ แต่ถ้าหากเรามีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง เชื่อแน่ค่ะว่าเราจะแกร่งพอที่จะผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ได้รอดและปลอดภัยค่ะ เพราะในขณะที่โลกหมุนไป ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เข้ามากระทบกับการใช้ชีวิตของเราอยู่เสมอ แต่ถ้าหากรู้สึกท้อ หมดหวัง ไม่ไหวแล้ว เราพร้อมเคียงข้างคุณเสมอนะคะ สามารถติดต่อทางเราได้ตลอดเวลา เรามีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่คอยรับฟัง และให้คำปรึกษาในทุก ๆ เรื่องราวค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2563, เมษายน). องค์ความรู้การดูแลสุขภาพใจในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 “ใจพร้อม ไม่ยอมป่วย”. นนทบุรี : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page