top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

“สู้ ๆ นะ” “อย่าคิดมาก” ก็พูดไม่ได้ แล้วจะพูดอะไรกับคนเป็นโรคซึมเศร้าได้บ้าง?


โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่รักษาหายได้ แต่กว่าจะไปถึงจุดที่อาการของโรคจะสงบลงนั้นจัดว่าไม่ง่ายเลยทั้งในฝั่งของผู้ป่วยเองและฝั่งของคนใกล้ชิด เพราะทั้งสองฝ่ายจะต้องฝ่าฟันช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันซึ่งก็คือช่วงที่มีอาการแสดงของโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน เช่น มีความคิดลบต่อตัวเองหรือผู้อื่นเป็นอย่างมาก รู้สึกไร้ค่าเป็นภาระของผู้อื่น คิดว่าตายไปหรือหายไปก็คงดี เป็นต้น โดยคนใกล้ชิดของผู้ป่วยหลายคนก็อาจจะพบประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันคือไม่ว่าจะพูดหรือปลอบอย่างไรผู้ป่วยก็กลับมาคิดลบเหมือนเดิม นอกจากนั้น ยังมีกระแสรณรงค์คำพูดที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยอย่างคำว่า “สู้ ๆ นะ” และ “อย่าคิดมาก” ขึ้นมาอีก ทำให้คนใกล้ชิดของผู้ป่วยเกิดความรู้สึกสับสนไม่มั่นใจว่าควรจะทำตัวยังไงกับผู้ป่วยดี


ทำไมการอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามันถึงยากจัง?

ก่อนอื่นเลยก็ต้องขอให้คนใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทำความเข้าใจก่อนว่า ตัวผู้ป่วยเขาก็ไม่ได้ชอบที่ตัวเองมีอารมณ์พฤติกรรมเหล่านั้น ไม่ได้อยากเป็นคนคิดลบหรือคิดมาก ไม่ได้อยากรู้สึกหดหู่ ไม่ได้อยากแสดงอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว ในขณะที่ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมของตัวเองอย่างไร จึงมักจะรู้สึกผิดและคิดว่าตัวเองเป็นภาระสร้างความหนักใจให้กับคนอื่นแต่ก็ต้องการความช่วยเหลือด้วยเหมือนกัน มันจึงเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในการที่จะผ่านไปได้ในแต่ละวัน นอกจากนั้น ต้องอย่าลืมว่า “โรค” ซึมเศร้า คืออาการป่วยชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่คนที่มีอารมณ์เศร้าหรือเป็นคนนิสัยไม่ดีแต่เขาคือผู้ป่วย เปรียบดั่งผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ได้อยากให้มีอาการน้ำมูกไหล ปวดหัวตัวร้อน มีไข้สูง แต่ผู้ป่วยก็หลีกเลี่ยงอาการเหล่านั้นไม่ได้เพราะมันคืออาการของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เมื่อรับการรักษาจนหายดีแล้ว อาการดังกล่าวก็หายไป


“สู้ๆ นะ” ก็พูดไม่ได้ “อย่าคิดมาก” ก็พูดไม่ได้ แล้วจะพูดอะไรกับคนเป็นโรคซึมเศร้าได้บ้าง?

อาการของโรคซึมเศร้าทำให้ผู้ป่วยหลายคนมีลักษณะไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น สีหน้าแววตา คำพูด และมีแนวโน้มสูงที่จะตีความสิ่งเร้าที่เข้ามาไปในทางลบ ซึ่งในทางการแพทย์มักอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยแนวคิดเรื่องความผิดปกติของระดับสารสื่อประสาทที่ทำให้การทำงานของสมองเปลี่ยนแปลงไป และจากการศึกษาวิจัยของ Laura M. Frey ในปี 2016 พบว่า ความคิดฆ่าตัวตายนั้นมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและคิดว่าตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น ซึ่งหากจะพิจารณาคำว่า “สู้ ๆ นะ” หรือ “อย่าคิดมาก” โดยลองสมมุติว่าเราเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าก็เข้าใจได้ว่าสำหรับคนเป็นโรคซึมเศร้าแล้วการที่จะมีชีวิตอยู่ให้ได้ในแต่ละวันก็ต้องสู้หนักมาก ในตอนที่ผู้ป่วยมาปรึกษาอาจจะกำลังอยู่ในช่วงที่สู้ไม่ไหวแล้ว กำลังต้องการกำลังใจมากกว่าการผลักดันให้สู้ในตอนนี้ ส่วนคำว่า “อย่าคิดมาก” ขึ้นชื่อว่า “อย่า” มันก็จะมีนัยยะไปในเชิงตัดสินว่ากำลังทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้ป่วยเองก็รู้ดีว่าเขาไม่ควรที่จะคิดมาก แต่เขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงถึงจะไม่คิดมาก การบอกว่าอย่าคิดมากจึงเป็นการบอกในสิ่งที่เขารู้แต่ทำไม่ได้และเขาอาจจะกำลังต้องการ how to ว่า “ทำยังไงให้เลิกคิดมาก” คนใกล้ชิดที่ไม่รู้จะวางตัวยังไง พูดอะไรกับผู้ป่วย ก็อาจจะใช้วิธีเลี่ยง 2 คำนี้ไปก่อน และอาจใช้คำที่เป็นการยืนยันว่าเขาสำคัญ เราเป็นห่วงเขา เราอยากช่วยเหลือเขาแต่ก็อยากให้เขาช่วยบอกว่าเขาอยากให้เราช่วยยังไง เช่น

  • “อยากให้อยู่เป็นเพื่อนไหม” ผู้ป่วยอาจจะอยู่ในช่วงที่กำลังต้องการใครสักคนอยู่เป็นเพื่อนหรืออาจจะอยากอยู่กับตัวเองสักพัก ดังนั้น คนใกล้ชิดก็สามารถถามเขาได้ว่าต้องการให้เป็นแบบไหนเพื่อที่จะได้ไม่อึดอัดกันทั้งสองฝ่าย

  • “เธอสำคัญกับฉันนะ” คำนี้จะเป็นการโต้แย้งความเชื่อของผู้ป่วยว่าตนเองไร้ค่าไม่เป็นที่ต้องการของคนอื่น และช่วยยืนยันว่าเขามีความสำคัญต่อคนใกล้ชิดจริง ๆ

  • “ฉันอาจจะไม่เข้าใจว่าเธอรู้สึกยังไง แต่ฉันแคร์เธอนะ” ผู้ป่วยหลายคนจะมีความคิดว่าคนอื่นไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเขารู้สึกทุกข์ทรมานแค่ไหน ซึ่งคนใกล้ชิดก็อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้อย่างที่ผู้ป่วยคิดจริง ๆ คนใกล้ชิดจึงอาจจะบอกผู้ป่วยไปตรง ๆ เลยว่าถึงแม้จะไม่เข้าใจแต่ผู้ป่วยก็เป็นคนที่คุณแคร์

อย่างไรก็ตาม คำพูดหรือรูปแบบประโยคนั้นไม่สำคัญเท่าท่าทีที่แสดงออกไป ดังนั้น คนใกล้ชิดอาจไม่ต้องพะวงมากมายนักว่าควรจะพูดหรือไม่พูดอะไรกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าซึ่งมันอาจสร้างความกดดันให้ตนเองจนไม่อยากจะดูแลผู้ป่วยอีกต่อไปแล้ว และต่อให้คุณจะพูดว่า “สู้ ๆ นะ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่อยากได้ยิน แต่ถ้าคุณพูดด้วยท่าทีสนับสนุน แสดงให้เห็นว่าคุณยินดีที่จะอยู่เคียงข้างเขา รับฟังอย่างไม่ตัดสิน ผู้ป่วยก็จะพยายามเข้าใจถึงความห่วงใยที่คุณมีต่อเขา นอกจากนั้น สิ่งที่คนใกล้ชิดควรทำมากกว่าการระมัดระวังคำพูดก็คือการสนับสนุนให้ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตนตามที่จิตแพทย์แนะนำ และให้การยอมรับผู้ป่วยในแบบที่เขาเป็นโดยไม่คาดหวังให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด



อ้างอิง

[1] What to say to someone with depression. Retrieved from. https://www.medicalnewstoday.com/articles/what-to-say-to-someone-who-is-depressed

[2] Talking about suicide may not be enough: family reaction as a mediator between disclosure and interpersonal needs. Retrieved from. https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/09638237.2017.1340592


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย



คอร์สนักให้คำปรึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตร Certificate Program : Fundamental Level

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page