top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 ข้อสังเกตลูก ๆ ของคุณ เผชิญความเครียดอยู่หรือเปล่า?

สถานการณ์ Covid – 19 ในบ้านเรายังไม่มีวี่แววว่าจะหายไป แต่ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งได้รับวัคซีนไปแล้วบ้าง เรื่องความร้ายแรงของโรคก็อาจจะเบาใจลงได้นิดหน่อยถ้าเทียบกับเมื่อก่อน องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดการโรค และผลกระทบทางจิตใจของประชาชนค่อนข้างดี มีการเผยแพร่ข้อมูลในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจมากมาย แต่พบว่าข้อมูลส่วนใหญ่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับกลุ่มวัยทำงานซึ่งเป็นวัยแบกภาระหลายด้านให้กับครอบครัวแต่จากผลวิจัยทางจิตวิทยาโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา พบว่า สถานการณ์ Covid – 19 ทำให้ความเครียดของเด็กและวัยรุ่นเพิ่มขึ้น โดยมีถึงร้อยละ 63 ที่มีอาการของความวิตกกังวลและซึมเศร้า ในขณะที่อีกร้อยละ 25 มีความเครียดเพิ่มขึ้น และอีกร้อยละ 25 มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งความเครียดของเด็กและวัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่เพียงประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นไปทั่วทั้งโลก รวมถึงประเทศไทยของเราด้วยค่ะ โดยสาเหตุหลัก ๆ ก็เพราะเด็กและวัยรุ่นมีความกังวลอย่างมากต่ออนาคตของตัวเอง เพราะโรคระบาดอย่าง Covid – 19 ก็ไม่หมดไปง่าย ๆ เศรษฐกิจก็ไม่ดี จบมาแนวโน้มที่จะได้งานก็ยาก จะไปเรียนต่อที่บ้านก็ลำบาก จึงทำให้เด็กและวัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงได้ไปรวบรวมข้อสังเกตเกี่ยวกับความเครียดของเด็กและวัยรุ่นที่นักจิตวิทยาแนะนำไว้ทั้งหมด 7 ข้อสังเกตด้วยกัน ดังนี้ค่ะ


1. อารมณ์แปรปรวนง่าย


หากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใกล้ชิดสังเกตเห็นว่าลูก หลานวัยรุ่นของเรามีอารมณ์แปรปรวนง่าย เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย พูดหรือทำอะไรผิดหู ไม่ถูกใจก็อารมณ์เสียง่าย หัวร้อนไว จุดเดือดต่ำ นั่นอาจไม่ใช่เพราะลูก หลาน เราก้าวร้าว แต่อาจเป็นผลมาจากความเครียดของเด็กและวัยรุ่น ยิ่งในสถานการณ์ Covid – 19 ที่เขาออกไปผ่อนคลายความเครียดนอกบ้านไม่ได้ รวมถึงข่าวสารมากมายที่ทำให้เกิดความเครียด ก็อาจเป็นตัวทำให้อารมณ์แปรปรวนได้ง่ายเช่นกัน และยิ่งถ้าหากโดยปกติแล้วลูก หลาน ของเราเป็นคนเรียบร้อย เก็บอารมณ์ได้ดี แต่อยู่ ๆ ก็มาอารมณ์ร้าย ยิ่งชัดเจนว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับเขาอย่างแน่นอนเลยค่ะ ซึ่งนักจิตวิทยาแนะนำว่า ถ้าเด็กและวัยรุ่นมีอาการอารมณ์แปรปรวนผิดปกติติดต่อกันเกิน 1 เดือน ขอให้พาไปรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยด่วน เพื่อหาสาเหตุ และรักษาอย่างทันท่วงทีค่ะ


2. มีความรู้สึกกลัว เครียด วิตกกังวลมากผิดปกติ


พฤติกรรมที่นักจิตวิทยาแนะนำว่าเป็นจุดสังเกตที่บ่งชี้ชัดเจนของความเครียดของเด็กและวัยรุ่น ก็คือ การที่ลูก หลานของเรามีความกลัว มีอาการเครียด หรือวิตกกังวลมากผิดปกติ เช่น ไม่กล้าทำในสิ่งที่เคยทำได้ ไม่ว่าจะเป็นไม่กล้าออกไปซื้อของนอกบ้าน ไม่พูดคุยกับเพื่อนทาง Social Network หรือ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่พูดคุยกับใคร ไม่อาบน้ำ ไม่ดูแลความสะอาดตัวเอง เป็นต้น ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าลูก หลานของเรากำลังมีความเครียดอยู่ค่ะ ซึ่งปล่อยเอาไว้นาน ๆ ไม่ดีแน่ เพราะจะทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ที่จะส่งผลต่อสุขภาพกายหลายอย่างตามมา ทั้งท้องผูก โรคกระเพาะ ไมเกรน เป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งต่าง ๆ และแน่นอนโรคจิตเวชอื่น ๆ ก็จะตามมา จนคนที่เครียดตามก็คือเรานี่ละค่ะ


3. มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน


ในเด็กเล็กหากเขามีความกลัว หรือมีเครียดสูง สิ่งหนึ่งที่เขาแสดงออกมา ก็คือ “ฉี่รดที่นอน” แต่สำรับเด็กโต วันรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น สิ่งที่แสดงออกว่ามีความเครียด ก็คือ นอนไม่หลับ ฝันร้าย รู้สึกนอนไม่พอ ปวดหัวมากเวลาตื่น จนเด็กและวัยรุ่นหลายคนที่มีความเครียด กลัวการนอนไปเลย หรือ ไม่ก็แสดงออกโดยการนอนมากผิดปกติ หลับไม่ยอมตื่น (ซึ่งในสถานการณ์ Covid – 19 ที่ออกไปไหนกันไม่ได้จะแยกยากว่านอนตื่นสายเอง หรือเพราะเครียดกันแน่) นั่นก็เพราะในโลกความจริงมันไม่มีความสุขเท่ากับโลกในฝันค่ะ จึงทำให้เขาฆ่าเวลาชีวิตด้วยการนอน ดังนั้นแล้ว ถ้าสังเกตเห็นว่าลูก หลาน มีการนอนผิดปกติ ไม่ว่าจะนอนน้อยไป หรือนอนมากไปก็ตาม ขอให้พบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อขอรับคำปรึกษา และหาแนวทางแก้ไขดีกว่าค่ะ


4. มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ


พฤติกรรมจับสังเกตความเครียดของเด็กและวัยรุ่นข้อนี้จะคลาย ๆ ข้อด้านบนค่ะ คือถ้าไม่มากเกินไปก็น้อยเกินไป โดยเด็กและวันรุ่นที่มีความเครียด จะแสดงออกมาทางพฤติกรรมเบื่ออาหาร ทานอาหารน้อยลง แม้จะมีอาหารที่ชอบมากก็ไม่สามารถทานได้ตามปกติ หากฝืนทานอาจอาเจียนได้ หรือกลับกัน คือ ทานมากผิดปกติ หิวบ่อย หิวทั้งวัน กินไม่หยุด กินทุกอย่าง แม้กระทั่งอาหารที่ไม่ชอบก็กิน หากสังเกตเห็นพฤติกรรมผิดปกติเหล่านี้ ลองถามลูก ๆ หลาน ๆ ดูนะคะว่าเครียด หรือกังวลอะไรอยู่หรือไม่ เพื่อที่เราจะได้ไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาด้วยกัน และหาทางแก้ไขก่อนความเครียดจะมาพร้อมโรคทางกายอื่น ๆ และกลายเป็นโรคทางจิตเวชที่รักษายากค่ะ


5. เบื่อ เฉยชากับทุกสิ่งแม้แต่สิ่งที่เคยชอบ


ในสถานการณ์ Covid – 19 ที่ทำให้เราต้องอยู่แต่บ้าน ย่อมทำให้เราเบื่อเป็นธรรมดา แต่ถ้าสังเกตเห็นว่าลูก หลาน ของเราเบื่อผิดปกติ เช่น จากเคยชอบดูซี่ย์เกาหลี เต้น Cover เล่น tiktok แต่ระยะหนึ่งกลับอยู่เฉย ๆ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากกิน ไม่อยากตื่น ไม่อยากอาบน้ำ ไม่อยากเจอใคร แม้แต่กับคนในบ้านก็ไม่อยากคุยด้วย ถ้าเบื่อขนาดนี้แล้ว เข้าขั้นมีปัญหาแล้วละค่ะ หากพบความผิดปกติเช่นนี้ ขอแนะนำให้ลองพูดคุยกับลูก หลานดูนะคะว่าเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไรที่สามารถช่วยได้หรือไม่ หากเกินกำลังของเรา ลองไปพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อหาทางออกร่วมกันดูนะคะ เพราะปล่อยเขาให้เฉาไปเช่นนี้จะไม่ดีกับจิตใจของลูก หลาน เราในระยะยาวแน่นอนค่ะ


6. สมาธิ ความคิด และการตัดสินใจไม่ดี


นิยามของคำว่า “สมาธิไม่ดี” ในที่นี้ ก็คือ การมีความตั้งใจจดจ่อลดลง ความจำระยะสั้นไม่ดี คุยกับปุ๊บลืมปั๊บ ขี้หลง ขี้ลืม ส่วนนิยามของคำว่า “ความคิด และการตัดสินใจไม่ดี” ก็คือ การที่ลูก หลาน ของเรา มีความสามารถในการแก้ปัญหาลดลง เรียงลำดับว่าควรทำอะไรก่อน – หลังไม่ถูก ตัดสินใจไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง แม้จะเป็นเพียงเรื่องง่าย ๆ ก็ตาม หากพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในเด็กเล็ก อายุไม่ถึง 6 ขวบ ก็น่าสงสัยอาการสมาธิสั้นค่ะ แต่ถ้าเกิดในเด็กโต หรือวัยรุ่น ขอให้สันนิษฐานก่อนเลยว่า ลูก หลานของเรากำลังมีปัญหาที่แก้ไม่ได้อยู่แน่ ๆ ดังนั้น เราซึ่งเป็นผู้ปกครอง ไม่ควรดุด่า หรือตอกย้ำความผิดพลาดของพวกเขา แต่ควรให้ความช่วยเหลือโดยด่วนแทนนะคะ


7. ซึมเศร้า ท้อแท้ รู้สึกไร้ค่า มีความคิดฆ่าตัวตาย/ทำร้ายตัวเอง


มาถึงข้อสังเกตของความเครียดในเด็กและวัยรุ่นข้อสุดท้ายนะคะ ที่นักจิตวิทยากล่าวว่า ถ้าเราสังเกตได้ถึงข้อนี้ แสดงว่าความเครียดทำร้ายลูก หลานของเราไปมากแล้ว อาการบ่งชี้ที่ว่านั่นก็คือ อาการซึมเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง หรือลูก หลานมีความคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือ ที่ร้ายแรงที่สุด ก็คือ การพยายามฆ่าตัวตาย ถ้าหากลูก หลานของเรามีอาการมาถึงขั้นนี้แล้วขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิดนะคะ อย่าดุด่า หรือตอกย้ำให้เขารู้สึกแย่ไปกว่าเดิม และควรพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยด่วนที่สุดเลยค่ะ



หากสังเกตเห็นว่าลูก หลายวัยรุ่น มีอาการทั้ง 7 ข้อ หรือมากกว่า 4 ข้อแล้วละก็ขอแนะนำให้ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยเร็วที่สุดนะคะ เพราะสัญญาณเหล่านี้กำลังบ่งบอกว่าลูก ๆ ของเรากำลังมีความเครียด และอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

1. Bangkok Hospital. มปป. จิตแพทย์แนะ จัดการความเครียดรับมือ -19 ไม่ให้ป่วยใจ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2564 จาก https://www.bangkokhospital.com/content/psychiatric-guidance-on-stress-management-trading-covid-19


2. ไทยรัฐออนไลน์. 24 กุมาพันธ์ 2564. โควิด-19 ส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตวัยหนุ่มสาว 18-24 ปี มากที่สุด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2564 จาก https://www.thairath.co.th/news/foreign/2038404

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี




facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page