top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ 5 วิธีดูแลสุขภาพจิตเด็กในช่วง Covid-19



จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในบ้านเราที่ไม่ลดความร้อนแรงลงเลย แถมยังพาเพื่อนมาระบาดครบทุกสายพันธุ์แล้วในตอนนี้ ทำให้หลายคนต้อง Work from home เป็นเวลานับเดือน บางคนก็ต้องกักตัวอยู่คนเดียวเพราะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ Covid-19 หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทำให้เกิดความเบื่อที่ออกไปไหนไม่ได้ หลายคนมีอาการซึมเศร้าเพราะการอยู่คนเดียว และหลายคนมีอาการ Panic เพราะเจ้า Covid-19 (บทความแนะนำ “5 เทคนิคดูแลตัวเอง ลดอาการแพนิคจากสถานการณ์ Covid-19” และไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นนะคะ ที่เกิดปัญหาสุขภาพจิต แต่เด็กเล็ก ๆ จนถึงวัยรุ่น ที่เขาไม่สามารถออกไปไหนได้ ไปเล่นกับเพื่อนไม่ได้ ไปโรงเรียนไม่ได้ ไปเที่ยวไม่ได้ ก็อาจมีปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นเช่นกัน โดยผู้อำนวยการบริหารองค์กรยูนิเซฟ กล่าวไว้ว่า “สำหรับเด็ก ๆ วันแล้ววันเล่า ที่พวกเขาไม่ได้พบกับเพื่อน และอยู่ห่างไกลคนที่รัก หรือบางคนอาจต้องอยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้านที่ใช้ความรุนแรง ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบมหาศาลต่อเด็ก ๆ เด็กจำนวนมากต้องอยู่ในบ้านด้วยความกลัว โดดเดี่ยว กระวนกระวาย และวิตกกังวลต่ออนาคต” ด้วยความห่วงใยจาก iSTRONG นักจิตวิทยาขอแนะนำสำหรับครอบครัวที่มีเด็ก ๆ ในความดูแล ไว้ใช้ดูแลสุขภาพจิตให้กับเด็ก ๆ ในช่วง Covid-19 กันนะคะ


1. ใส่ใจ และให้เวลากับเด็ก ๆ อย่างเพียงพอ


ถึงแม้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 จะทำให้คุณพ่อ คุณแม่ ต้อง Work from Home อยู่บ้าน ทำให้ได้อยู่กับลูก ๆ มากขึ้น แต่เมื่อถึงเวลางาน ก็ต้องทำงาน ส่งผลให้บ่อยครั้งที่คุณพ่อ คุณแม่ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกได้ เช่น ไม่สามารถปลีกตัวจากงานไปเล่นกับลูก ซึ่งอยู่ในวัยเด็กเล็กได้ ไม่สามารถตามดูแลการใช้ Social Network ของลูกวัยรุ่นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ลูกเกิดปมในใจ ถ้าเราอธิบายให้ลูกเข้าใจไม่ดีพอว่าเราต้องทำงานในช่วงเวลาใดบ้าง หรือทำให้ลูกคบเพื่อนที่พาไปในทางที่ทำให้เขาเดือดร้อน หรือเกิดปัญหา ปลีกตัว เก็บตัว เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตตามมาอีก


ดังนั้นวิธีแก้ที่ง่ายที่สุดที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือการแบ่งเวลาให้กับลูก ๆ อย่างชัดเจนค่ะ เวลางานเราก็รับผิดชอบงานของเราไป เมื่อเลิกงาน เราก็รับผิดชอบลูกของเราในฐานะของพ่อ และแม่ เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ นอกจากเราที่อยู่กับเขาแล้ว เขาก็ไม่มีใครอีกเลยค่ะเพราะออกจากบ้านไม่ได้ ไปเจอเพื่อนไม่ได้ ไปโรงเรียนก็ไม่ได้ ที่พึ่งทางใจเดียวของลูกก็คือเรา

2. ให้โอกาสเด็กพูดถึงความรู้สึกตัวเอง


คำถามที่พ่อ แม่ ส่วนใหญ่มักจะถามลูกเมื่อเจอหน้ากัน ก็คือวันนี้จะทำอะไร ตอนนี้ทำอะไรอยู่ แต่น้อยครั้งค่ะ ที่เราจะถามลูกว่า “รู้สึกอย่างไรบ้าง?” “มีความสุขดีไหม?” “ต้องการให้พ่อกับแม่ช่วยอะไรไหม?” เว้นแต่เราจะสังเกตเห็นว่าลูกซึมเศร้า หรือเกรี้ยวกราดผิดปกติ เราถึงถามใช่ไหมคะ ซึ่งจริง ๆ แล้วคำถามตัวอย่างข้างต้น เป็นคำถามเปิดทางให้ลูกได้แสดงความรู้สึกจริง ๆ ของลูกออกมาทั้งความรู้สึกทางบวก และความรู้สึกทางลบ สำหรับความรู้สึกทางบวก เราก็จะไม่ห่วงเท่าไร แต่กับความรู้สึกทางลบนี่ละค่ะที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นตามมา เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า บุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Anti-social) เป็นต้น


ดังนั้นนักจิตวิทยาจึงขอแนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ หมั่นสังเกตอารมณ์ และพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกนะคะ ว่าเขากำลังส่งสัญญาณอะไรถึงเราอยู่หรือไม่ และหมั่นถามอารมณ์ความรู้สึกของเขาเพื่อให้เขาได้บอกเล่าและให้เราได้ให้คำปรึกษาช่วยเหลือแก้ไขได้ทันเวลาค่ะ


3. ใช้ชีวิตในบ้านให้เป็นปกติ


ถึงแม้ว่าสถานการณ์นอกบ้านจะร้อนระอุปานใดจะด้วยสภาพอากาศหรือสถานการณ์Covid-19 เองก็ตาม บ้านต้องเป็น Comfort Zone ให้ลูกอยู่เสมอค่ะ เพราะถ้าหากบ้านยังร้อนเป็นไฟ พ่อ แม่ทะเลาะกัน อารมณ์เสียใส่กันหรือมาระเบิดอารมณ์ลงกับลูกแล้วก็ จะบีบให้เขาไม่มีที่ไป ออกจากบ้านก็เสี่ยงกับ Covid-19 อยู่ในบ้านก็ยังจะเจอกับความรุนแรงในครอบครัวอีก ปัญหาสุขภาพจิตจะตามมาอีกมากเลยค่ะ แล้วมีแนวโน้มที่ลูกของเราจะเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตเรื้อรังไปจนโต ซึ่งอาจทำให้เขาไปสร้างปัญหาให้คนอื่น เป็นปัญหาให้สังคม และสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง และเราที่เป็นพ่อ แม่ นี่ละค่ะที่ต้องปวดใจ คอยมาแก้ปัญหาให้เขา


ดังนั้นเราต้องตัดปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ก็คือการทำบ้านให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับลูก ๆ ของเราให้เขาอยู่อย่างสบายใจและเมื่อสถานการณ์ปกติ เมื่อเขาเกิดปัญหาเขาจะคิดถึงบ้านเป็นที่แรกค่ะ


4. ไม่ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์นอกบ้าน


ในสถานการณ์ Covid-19 สิ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำว่าเราควรทำ คือ “การตระหนัก” ไม่ใช่การตระหนก เพราะความตระหนัก จะทำให้เราติดตามข่าวสารอย่างมีสติ รู้จักหาความจริงของข่าวที่ได้รับก่อนจะเชื่อ รู้จักป้องกันตนเองต่อเชื้อ Covid-19 อย่างถูกวิธี และทำให้สุขภาพจิตของเราแข็งแรง รวมไปถึงเราก็สามารถดูแลสุขภาพจิตของลูกให้แข็งแรง มีความเข้มแข็ง และมีสติเช่นเดียวกับเราได้ค่ะ แต่ถ้าเราตื่นตระหนก หวาดกลัวไปกับทุกสถานการณ์ที่เกิด เชื่อทุกข่าวที่ได้รับ เราจะกลายเป็นคนเสียสติ ก็คือรนไปหมดทุกอย่าง ไม่กล้าใช้ชีวิต ระแวงกับการออกนอกบ้าน จนทำให้เสียสุขภาพจิต อารมณ์ไม่มั่นคง ความคิดไม่ปกติและแน่นอนค่ะ ในเมื่อลูก ๆ เขาออกไปไหนไม่ได้ เขาก็จะได้รับผลกระทบจากความมั่นคงทางอารมณ์ และความไม่ปกติของสุขภาพจิตของเราอย่างแน่นอนค่ะ

5. มีการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม


เมื่ออยู่บ้านร่วมกันนาน ๆ ไม่ว่าใครก็จะมีอารมณ์เบื่อกัน หงุดหงิดกันในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าหากความเบื่อ ความหงุดหงิดนั้นไม่ได้รับการแก้ไขปล่อยให้ค้างคายืดเยื้อไม่นานหากเกิดเรื่องที่ทำให้หงุดหงิดหรือเบื่ออีกก็จะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้เราระเบิดอารมณ์ใส่คนในบ้านและคนที่เป็นเป้าหมายของการระเบิดอารมณ์ก็มักจะเป็นเด็ก ๆ ในบ้าน แต่เด็ก ๆ ในบ้านกลับไม่สามารถไปปล่อยอารมณ์ทางลบที่ได้รับมาต่อให้ใครได้ และเก็บกดเอาไว้รอไประเบิดที่โรงเรียน หรือหนักกว่าก็คือจะกลายเป็นการบ่มเพราะยุวอาชญากร หรืออาชญากรในอนาคตต่อไป


ดังนั้นเราต้องป้องกันการสร้างมารร้ายในใจลูก ๆ ด้วยการจัดการกับอารมณ์ทางลบของเราให้ได้เสียก่อน โดยวิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คืออยู่กับปัจจุบัน มีสติในการใช้ชีวิต หาวิธีระบายความเครียด แบ่งปันความรักในครอบครัว เป็นต้น


จริง ๆ แล้วในสถานการณ์ Covid-19 เป็นช่วงเวลาทองที่เราจะได้ดูแลสุขภาพจิตของลูก ๆ อย่างใกล้ชิด หวังว่าแนวทางในการดูแลสุขภาพจิตเด็กในช่วง Covid-19 จะเป็นประโยชน์ในการดูแลลูก ๆ หรือเป็นข้อแนะนำในการดูแลเด็ก ๆ ให้กับผู้อื่นได้นะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. “ตระหนัก ไม่ตระหนก”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.dmh.go.th/covid19/infographic/reds.asp?g=4&gs=1

2. ThaiPublica. 4 มีนาคม 2564. ยูนิเซฟชี้โควิดทำเด็กอยู่บ้านนาน ระบุ 1 ใน 7 คน ทั่วโลกเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 จาก https://thaipublica.org/2021/03/covid-19-lockdown-impact-childrens-mental-health/

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page