top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

จิตวิทยาการโน้มน้าวใจ 5 เทคนิคพูดอย่างไร ให้คนเชื่อใจและยินดีทำตาม



เมื่อเราเห็นอินฟลูเอนเซอร์ดัง ๆ หรือแม่ค้า พ่อค้าออนไลน์หลาย ๆ คน เรามักจะสงสัยว่า เพราะอะไรคนที่ได้ฟังพวกเขาจึงเชื่อใจและยินดีทำตามประหนึ่งว่าโดนป้ายยา ซึ่งเมื่อพิจารณาตามหลักจิตวิทยาจะพบว่า เคล็ดลับอยู่ที่ “เทคนิคพูด” ค่ะ หากคนพูดมีเทคนิคพูดที่โน้มน้าวใจ ก็สามารถจูงใจผู้ฟังให้เกิดความเชื่อใจ และยินดีทำตามได้อย่างสนิทใจ

ด้วยเหตุนี้ ในบทความจิตวิทยานี้ดิฉันจึงได้รวบรวมจิตวิทยาการโน้มน้าวใจ 5 เทคนิคพูดอย่างไร ให้คนเชื่อใจและยินดีทำตาม มาฝากกันค่ะ

 

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเรื่อง “การพูดโน้มน้าวใจ” กันก่อนนะคะ ในทางจิตวิทยาให้ความหมายของเทคนิคพูดโน้มน้าวใจไว้ว่า เป็นการสื่อสารที่ผู้พูดพยายามสร้างอิทธิพลให้เหนือกว่าผู้ฟัง โดยการเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ผ่านการใช้ภาษาด้วยรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพูด การเขียน การสื่อสารรูปแบบอื่น ๆ ในที่สาธารณะชน หรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือผ่านกิจกรรมทางสังคม 


โดยเทคนิคพูดโน้มน้าวใจเพื่อให้คนเชื่อใจและยินดีทำตามนั้น มี 5 เทคนิคหลัก ๆ ดังนี้ค่ะ


1. แสดงความเป็นมิตรอย่างจริงใจ

“อยากได้สิ่งใด ต้องให้เขาก่อน” คตินี้ยังคงใช้ได้ในทุกสถานการณ์ รวมถึงการโน้มน้าวใจคนด้วยค่ะ หากเราต้องการให้ใครก็ตามเชื่อใจ เราก็ต้องมอบ “ความจริงใจ” ให้เขาก่อน เวลาเจรจาหรือสื่อสารกับใคร บอกเขาไปตรง ๆ เลยค่ะว่าเราต้องการอะไร อย่าแอบ อย่ากั๊กไว้


เพราะถ้าคนที่เราคุยด้วยมารู้ทีหลังว่าเราไม่ซื่อ หรือมีเจตนาแอบแฝง เขาจะโกรธ และความสัมพันธ์จะติดลบทันทีเลยค่ะ เพราะฉะนั้นเวลาพูดคุยกับใครไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจ หรือเรื่องส่วนตัวก็ตาม ขอให้ยึด 2 สิ่งไว้ในใจ คือ ความจริงใจ และความเป็นมิตรค่ะ 


2. สื่อสารชัดเจน ตรงประเด็น

เวลาเป็นสิ่งมีค่า เพราะฉะนั้นการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา จะช่วยประหยัดเวลา และสร้างความประทับใจได้มากกว่าการสื่อสารที่อ้อมค้อม เพราะยิ่งอ้อมมากยิ่งมีโอกาสสื่อสารผิดพลาดมาก ยิ่งใช้เวลาในการเจรจาธุรกิจ หรือขายงานมากเท่าไหร่ โอกาสปิดงาน หรือปิดการขายก็น้อยลงเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าหากเราจะขายของ หรือจูงใจใด ๆ ก็ตาม ขอให้สื่อสารให้ชัดเจน ตรงประเด็น และใช้เวลาในการสื่อสารให้พอดีค่ะ


3. สร้างแรงจูงใจให้คนฟัง 

ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำว่า หากเราต้องการจูงใจให้ผู้ฟังต้องการทำตามสิ่งที่เราพูดด้วยตนเอง เราก็ต้อง “พูดในสิ่งที่คนฟังต้องการได้ยิน” เช่น ก่อนที่จะพูดธุระของเรา หรือร้องขอสิ่งที่เราต้องการ เราควรจะทักทายสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังก่อนด้วยการ Small Talk เช่น กล่าวทักทาย ถามเรื่องทั่วไป พูดคุยสัพเพเหระ ก่อนจะเข้าเรื่องประเด็นหลักเพื่อละลายพฤติกรรม หรือทุบกำแพงในใจ


และพอพูดคุยเข้าเรื่องหลักแล้วก็ควรยึดหลัก Win – Win คือได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เช่น หากเราจะขอยืมเงินเพื่อน เราก็ต้องมีเงื่อนไขและสร้างความน่าเชื่อถือมากพอที่เพื่อนจะให้ยืมเงิน เช่น ทำสัญญายืมเงิน จะจ่ายคืนเพื่อนเป็นรายเดือนบวกดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อให้ผู้ฟังเห็นว่าตนเองก็เป็นผู้ได้ประโยชน์ และมีแรงจูงใจที่จะทำตามสิ่งที่เราร้องขอ 


4. หาจุดพึงพอใจร่วมกัน

เมื่อเราต้องการโน้มน้าวใจใครสักคนหนึ่ง ผลของการโน้มน้าวใจนั้นจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถหา “จุดร่วม” ของทั้งสองฝ่ายได้หรือไม่ การที่เราเจรจาธุรกิจ การต่อรอง หรือการนำเสนองาน ก็เหมือนกับการต่อรองราคาตอนที่เราซื้อ – ขายของ หากมองในมุมคนซื้อ ถ้าเราต้องการของชิ้นนั้น แต่เงินเราไม่พอ เราก็ต้องต่อรองราคาลงมาจนเราสามารถซื้อได้

แต่ถ้าเรามองในมุมของคนขาย เราก็ไม่สามารถลดราคาจนเราขาดทุนได้ ดังนั้นทั้งคนซื้อ – คนขาย หรือคู่สัญญา ต้องตกลงกันในราคาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ในกรณีที่เป็นการเจรจาธุรกิจ หรือการโน้มน้าวใจให้ใครสักคนทำอะไรให้เราก็เช่นกันค่ะ ทั้งสองฝ่ายจะต้องยินดีกับข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่าย


5. ฟังอย่างตั้งใจ

และเทคนิคพูดอย่างไรให้คนเชื่อใจข้อสุดท้ายที่สุดแสนมหัศจรรย์ ก็คือ “การฟังอย่างตั้งใจ” ใช่แล้วค่ะคุณอ่านไม่ผิด หากคุณต้องการที่จะมีเทคนิคพูดที่ดี คุณต้องมีเทคนิคการฟังที่ดีเสียก่อน โดยการตั้งใจฟังผู้พูด โดยฟังด้วยหูและฟังด้วยใจ ฟังให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความต้องการ ถึงความปรารถนา ถึง “ตัวตน” ของเขา เพราะเมื่อเราฟังเขาด้วยใจ เราจะมองเห็นสิ่งที่เขาเป็นอย่างแท้จริง ซึ่งการได้ยิน “เสียง” ของเขา และมองเห็น “ตัวจริง” ของเขาได้ชัดเจนมากเท่าไร การโน้มน้าวใจ หรือการเจรจาก็มีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม เทคนิคพูดโน้มน้าวใจแม้จะมีข้อดีในการสร้างความน่าเชื่อถือ และจูงใจให้ผู้ฟังคล้อยตามเรา จนสามารถเปลี่ยนความคิดที่นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ฟังได้ แต่เทคนิคนี้ก็เป็นดาบสองคม ที่สามารถนำไปใช้ทั้งทางที่ดีและในทางที่ไม่ดีได้ ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้คุณผู้รู้เทคนิคพูดโน้มน้าวใจแล้ว ขอให้นำเทคนิคดังกล่าวไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์ เช่น ใช้ในการประกอบอาชีพ ใช้ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น หรือใช้ในการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว เพื่อสร้างเสริมสังคมให้มีคุณภาพและน่าอยู่มากยิ่งขึ้นต่อไปค่ะ


หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 1. นักจิตวิทยาแนะนำ 5 ทริคเด็ด สร้างความประทับใจตั้งแต่ครั้งแรก (https://www.istrong.co/single-post/5-secrets-to-making-a-great-firstimpression)

2. 3 เทคนิคจิตวิทยา สื่อสารอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ (https://www.istrong.co/single-post/3-effective-communication-techniques)

อ้างอิง : 1. ปิยรัตน์ พุทธหน่อแก้ว. (มปป.). จิตวิทยาและวาทศิลป์ในการโน้มน้าวและจูงใจคน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www1.reg.cmu.ac.th/qa_new/uploads/km_f1977.pdf

2. unlockmen. (2015, 29 มิถุนายน). เทคนิคโน้มน้าวใจคนใน 10 วินาที ของ James Altucher. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.unlockmen.com/girard-perregaux-neo-constant-escapement

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page