top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้ทันสัญญาณฆ่าตัวตายก่อนจะสายเกินไป

หลังจากที่ผู้เขียนได้อ่านข่าวของเด็กหนุ่ม ม.6 คนหนึ่งตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง เพราะเครียดเรื่องเรียน โดยในที่เกิดเหตุเขาได้ทิ้งจดหมายตัดพ้อเรื่องที่ตนเองเรียนไม่ทันเพื่อน และวันที่เกิดเหตุคุณพ่อคุณแม่ของน้องได้เดินทางไปเยี่ยมลูกสาวอีกคนที่ต่างจังหวัด น้องจึงอยู่บ้านคนเดียว และก่อเหตุสลดใจขึ้น



ผู้เขียนรู้สึกเห็นใจน้องมาก สลดใจ เสียดายหนึ่งชีวิตที่ต้องจบลงเพราะความกดดันทางสังคม ซึ่งน้องไม่ใช่รายแรกที่ตัดสินใจเลือกทางชีวิตเช่นนี้ และคงไม่ใช่รายสุดท้ายเช่นกัน



คุณผู้อ่านบางท่าน คงเกิดคำถามในใจว่าเพราะอะไรเด็กวัยรุ่นถึงตัดสินใจทำสิ่งที่รุนแรงกับตนเองเพราะเรื่องเรียน ที่บางคนให้นิยามว่า “เรื่องแค่นี้” คำตอบง่ายมากค่ะ เพราะมันไม่ใช่ “เรื่องแค่นี้” สำหรับน้องๆเลย ดังนั้นในบทความนี้เราจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุ และสังเกตสัญญาณเตือน เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับคนที่เรารักกันค่ะ



ทำไมวัยรุ่นถึงมีความเครียดที่รุนแรง



เครียด


ข้อมูลจากบทความเชิงวิชาการของแพทย์หญิง สาริณี จุฬาลักษณ์ศิริบุญ เมื่อปี พ.ศ. 2552 คุณหมอกล่าวว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความเครียดมากที่สุด เพราะเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ทำให้มีผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม และร่างกายอย่างรุนแรง อีกทั้งตามทฤษฏีพัฒนาการทางสังคมของ Erikson พบว่า พัฒนาการทางสังคมของวัยรุ่นอยู่ในขั้นที่ 5 คือความเป็นอัตลักษณ์กับความสับสนในบทบาท (Identity vs. Role Confusion)



ในพัฒนาการขั้นนี้เกิดขึ้นในช่วงอายุ 13 – 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยของการแสวงหาอัตลักษณ์ ของตนเอง และการเสริมสร้างความรับผิดชอบ ซึ่งความรับผิดชอบดังกล่าวมีรากฐานมาจากการอบรมของพ่อแม่ และความรู้สึกไว้วางใจและความมั่นใจในตนเอง



องค์ประกอบสำคัญของการสร้างความรู้สึกเป็นอัตลักษณ์ และผ่านพ้นความรู้สึกสับสนในตนเอง ได้แก่ ความเข้าใจในอัตลักษณ์และการแสวงหาสถานภาพทางสังคม ความเข้าใจในอัตลักษณ์ช่วยให้เด็กวัยรุ่นเกิดความเข้าใจในปัญหาต่างๆ และช่วยในการตัดสินใจ วางแผนเรื่องเกี่ยวกับอนาคต เช่น การเลือกสายการเรียน การเลือกคนรัก เป็นต้น ในวัยนี้ เด็กวัยรุ่นจะเกิดความคิดสงสัยในตัวเอง มักถามตนเองว่า “ฉันคือใคร?” หรือ “ฉันจะทำอาชีพอะไรดี?” เนื่องจากระยะวัยรุ่นเป็นระยะที่มีความรู้สึกสับสน ขาดความมั่นใจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจเพื่อเตรียมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่



ปัญหาของเด็กวัยนี้มักเป็นไปในทำนองที่ว่า ฉันไม่รู้ว่าฉันควรจะทำอะไร ฉันไม่รู้ว่าฉันจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด และฉันไม่รู้ว่าฉันเป็นใคร อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน และความรู้สึกได้รับการยอมรับจากสังคมแวดล้อม มีผลต่อการปรับตัวของวัยรุ่นอย่างยิ่ง เด็กวัยรุ่นจะค่อย ๆ พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองขึ้น เขาจะแสวงหาตนตามอุดมคติ (Ego – ideal) และค้นหาอัตลักษณ์ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับบทบาทใหม่ในสังคม



หากเด็กวัยรุ่นประสบอุปสรรคในพัฒนาการขั้นนี้ จะขาดทักษะที่เหมาะสมในการแก้ไขสถานการณ์ คือ เมื่อเผชิญปัญหามักจะหลบเลี่ยงมากกว่าที่จะแก้ไข ในขณะที่สถานการณ์ หรือปัญหาหนึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อปัญหาอื่นๆประดังเข้ามา ก็เกิดการสั่งสม และซับซ้อนของปัญหา จนนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ส่งผลเสียต่อตนเองเช่น ติดยาเสพติด หนีออกจากบ้าน ฆ่าตัวตาย เป็นต้น



รู้ทันสัญญาณเตือนภัยก่อนจะสายไป


อยากฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อเสนอแนะในการสังเกตผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ผ่าน 10 สัญญาณ ดังนี้


1.เป็นผู้ที่เพิ่งประสบปัญหาชีวิต ประสบเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น สอบตก เรียนไม่จบ ถูกบอกเลิก เป็นต้น


2.มีการใช้สุรา หรือสารเสพติด

3.เคยมีบุคคลในครอบครัวฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย


4.เก็บตัว แยกตัวออกมาคนเดียว


5.นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท หรือฝันร้าย ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป


6.พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล หรือพูดช้า พูดติดอ่าง มีการพูดที่แปลกไปจากเดิม ประกอบกับมีหน้าตาอมทุกข์ เศร้าตลอดเวลา


7.มีการแสดงออกชัดเจนว่าต้องการทำร้ายตนเอง เช่น บ่นว่าอยากตาย พยายามฆ่าตัวตาย มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง


8.มีอารมณ์แปรปรวน อารมณ์เปลี่ยนไว เดี๋ยวร่าเริง เดี๋ยวซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย


9.เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน


10.มีการวางแผนฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า เช่น มีการเขียนจดหมายลาตาย มีการฝากฝังสิ่งของที่รัก สัตว์เลี้ยงให้กับเพื่อนสนิท พ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด



หากคุณผู้อ่านพบว่าคนในครอบครัว หรือบุตรหลานมีพฤติกรรมเสี่ยงข้างต้น ควรเข้าไปพูดคุยอย่างห่วงใยใกล้ชิด และหากดูอาการน่าเป็นห่วงควรพาเข้าพบจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน


คุณผู้อ่านคะ คงไม่มีผู้ใดต้องการให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว ดังนั้นการใส่ใจกัน และยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน จะเป็นหนทางแรกที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้น ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลที่นำมาแชร์กันในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านและคนที่คุณผู้อ่านรัก หากมีเรื่องต้องการขอคำปรึกษาเพิ่มเติมสามารถติดต่อพวกเราเหล่าทีมงาน I strong ได้ที่ https://www.istrong.co/service


 

อ้างอิง :

1. สาริณี จุฬาลักษณ์ศิริบุญ. 2552. ความเครียดของวัยรุ่น. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์.

2. http://ece.pkru.ac.th/early/web_std/Untitled-17.html

3. http://www.prdmh.com

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page