ความแตกต่างระหว่างไลฟ์โค้ช (Life Coach) กับนักให้คำปรึกษา (Counselor)
อาชีพไลฟ์โค้ช (Life Coach) นั้นเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในเมืองไทยมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ตอนนี้พอมีคำว่า นักให้คำปรึกษา (Counselor) เพิ่มเข้ามาอีก ทำให้หลายคนสับสนและอยากรู้ว่าทั้งสองอาชีพนี้ต่างกันอย่างไร ซึ่งอันที่จริงแล้ว อาชีพนักให้คำปรึกษานั้นมีมานานแล้วในต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทย แต่อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่นัก ก่อนอื่น ต้องขออธิบายแบบนี้ว่า ทั้งสองคำเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่คอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ถามคำถาม และรับฟัง เพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาสามารถพบคำตอบหรือทางออกของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งในแต่ละประเทศมีการกำหนดขอบเขตการทำงาน ใบอนุญาต หรือใบประกอบวิชาชีพของทั้งโค้ชและนักให้คำปรึกษาแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองคำมีความแตกต่างกันอยู่บ้างในขอบเขตของกระบวนการให้คำปรึกษา เมื่อศึกษาจากหลากหลายแหล่งแล้ว ผู้เขียนขอสรุปออกมาในหลักการคร่าว ๆ ดังนี้ Life coach หรือ ไลฟ์โค้ช คือคนที่ถูกฝึกอบรมและฝึกฝนให้สามารถช่วยผู้คนได้มองเห็นสถานการณ์ของตัวเองที่กำลังประสบอยู่ จากนั้นจึงช่วยหาทางให้คนคนนั้นได้ค้นพบทางแก้ปัญหา หรือวิธีที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่โค้ชจะใช้วิธีการถามคำถามเพื่อให้ผู้เข้ารับการโค้ช (Coachee) ค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งโดยปกติแล้วบุคคลที่จะมาเป็นไลฟ์โค้ชได้ต้องผ่านการเรียน การฝึกอบรม และการฝึกฝนผ่านการเก็บชั่วโมงการโค้ชจนครบ และมีลำดับขั้นของความเชี่ยวชาญที่ต้องมีการทดสอบในการเลื่อนขั้นไปในแต่ละตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ไลฟ์โค้ชไม่ได้กำหนดว่าต้องเรียนจบด้านไหนหรือมีประสบการณ์การทำงานด้านไหนเป็นพิเศษ แต่มีสถาบันที่ออกใบรับรอง Counselor หรือนักให้คำปรึกษา คือคนที่คอยช่วยสร้างพื้นที่และบรรยากาศที่ปลอดภัยและไว้วางใจให้กับบุคคลที่ต้องการคำปรึกษา เพื่อช่วยให้ผู้เข้ารับคำปรึกษาได้ลงไปสำรวจตัวเองภายในจิตใจ อารมณ์ ประสบการณ์ชีวิต และที่มาของตัวตน เพื่อค้นพบตัวตนของบุคคลนั้นพร้อมทั้งความปรารถนาในชีวิต รวมถึงการได้เยียวยาจิตใจ พร้อมทั้งการค้นหาสาเหตุของปัญหาและวิธีการแก้ไข ซึ่งวิธีการของนักให้คำปรึกษาจะใช้ทั้งการถาม การเจาะประเด็น การสะท้อนมุมมอง และการให้คำแนะนำ นักให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านจิตวิทยา โดยส่วนมากจะมีวุฒิการศึกษาด้านจิตวิทยาหรือด้านสังคมสงเคราะห์ เพราะกระบวนการให้คำปรึกษาเกี่ยวข้องกับการเยียวยาจิตใจและการเข้าถึงตัวตนของบุคคลอื่น ซึ่งบางครั้งอาจลงลึกถึงระดับที่เรียกว่าจิตใต้สำนึก (ขึ้นอยู่กับแนวทางของนักให้คำปรึกษาแต่ละคนที่ได้รับการฝึกปฏิบัติมา) ในประเทศอังกฤษ คนที่จะมีใบประกอบวิชาชีพนักให้คำปรึกษาได้ จำเป็นต้องเก็บชั่วโมงการฝึกปฏิบัติมากถึง 450 ชั่วโมง ซึ่งค่าเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลา 3 ปีหรือนานกว่านั้น
ทั้งไลฟ์โค้ชและนักให้คำปรึกษามีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้ สิ่งที่เหมือนกันระหว่าง Life Coach กับ Counselor
พวกเขาต่างต้องการช่วยให้ผู้คนได้มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม
พวกเขาต่างสร้างบรรยากาศที่ไว้วางใจกัน ไม่ตัดสิน และพร้อมช่วยเหลือ
พวกเขาต่างช่วยผู้คนให้ค้นพบสิ่งที่คอยถ่วงหรือเป็นอุปสรรคต่อการเดินไปข้างหน้า
พวกเขาต่างต้องมีทักษะการฟังที่ลึกซึ้ง และการถามคำถามที่ดี
พวกเขาต่างช่วยให้ผู้คนสามารถฟื้นฟูตัวเองและกลับสู่ภาวะปกติสุข
พวกเขาต่างปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้คนได้ค้นพบคำตอบที่เหมาะสำหรับตัวเองมากที่สุด
พวกเขาต่างช่วยให้ผู้คนได้กำหนดเป้าหมายและมองหาวิธีการไปสู่เป้าหมายนั้น
พวกเขาต่างช่วยผู้คนให้สามารถเดินไปข้างหน้าทั้งในด้านอาชีพ ความสัมพันธ์ และชีวิตส่วนตัว
สิ่งที่แตกต่างระหว่าง Life Coach กับ Counselor
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอาชีพมีความแตกต่างกันในวิธีการและผลลัพธ์อยู่บ้าง ดังนี้
การโค้ชจะเน้นไปที่การลงมือทำ (Action oriented) การให้คำปรึกษาจะเน้นการเยียวยาและการรับมือกับสภาวะปัญหา (Coping oriented)
โค้ชช่วยให้คนได้เข้าใจความคิดของตัวเอง นักให้คำปรึกษาช่วยให้คนเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง
โค้ชช่วยคนได้กำหนดเป้าหมายและหาวิธีเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นักให้คำปรึกษาช่วยคนได้เข้าใจตัวตน ค้นพบรากเหง้าของปัญหา และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้
บางครั้งโค้ชตั้งคำถามเพื่อท้าทายคนเพื่อกระตุ้นให้ก้าวไปข้างหน้า นักให้คำปรึกษาอยู่ที่นั่นเพื่อปลอบประโลม เข้าอกเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจ
โดยมาก โค้ชจะมุ่งเน้นไปที่ปัจจุบันและอนาคต นักให้คำปรึกษามักเน้นไปที่ปัจจุบันและอนาคตเช่นกัน แต่บางคนจะพาผู้คนให้กลับไปพิจารณาและตีความอดีตของตัวเองใหม่ได้ด้วย (ขึ้นอยู่กับนักให้คำปรึกษา)
โค้ชมักถูกฝึกฝนให้พาผู้คนก้าวไปข้างหน้า นักให้คำปรึกษามักถูกฝึกมาให้ดูแลเรื่องการเยียวยาจิตใจ แก้ไขปมปัญหาที่ติดค้างในใจ ปัญหาครอบครัว และการรับมือกับโรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวแบบไม่มีเหตุผล (Phobia) ฯลฯ
โค้ชมักใช้กระบวนการโค้ชควบคู่กับจิตวิทยาเชิงบวกและเชิงพฤติกรรม นักให้คำปรึกษาจำเป็นต้องประยุกต์ใช้จิตวิทยาที่หลากหลาย ทั้งจิตวิทยาเชิงบวก จิตวิทยาการให้คำปรึกษา CBT (Cognitive Behavioral Therapy) จิตวิเคราะห์ จิตวิทยาแรงจูงใจ จิตวิทยาครอบครัว จิตวิทยาความผิดปกติ จิตวิทยาความสัมพันธ์ ฯลฯ
วิธีการเลือกว่าเมื่อไหร่ควรจะใช้ไลฟ์โค้ชหรือนักให้คำปรึกษา ความจริงแล้วขึ้นอยู่กับความชอบและวิจารณญาณของผู้เข้ารับการปรึกษา รวมทั้งลักษณะปัญหา แต่มีคำแนะนำเบื้องต้นคือ
หากคุณกำลังมุ่งเน้นที่การรับมือกับปัญหาที่เผชิญอยู่ตอนนี้ ต้องการเดินหน้าต่อ และไม่ต้องการให้ใครเข้าถึงตัวตนและความเป็นส่วนตัวมากเกินไป แต่เน้นที่การหาแนวทางปฏิบัติ และส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่เรื่องการทำงานและความก้าวหน้าในชีวิต หรือการออกแบบอนาคต คุณอาจจะเหมาะกับไลฟ์โค้ช
หากคุณกำลังต้องการแก้ที่ความคิด ปมปัญหาที่ติดค้างในใจที่อยากจะปลดล็อก ปัญหาด้านสุขภาพจิต สภาวะหรือโรคด้านอารมณ์และจิตใจ อยากพัฒนาการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) ความสัมพันธ์ในครอบครัวเชิงลึก ปัญหาชีวิตคู่ คุณอาจจะเหมาะกับนักให้คำปรึกษา
สุดท้ายแล้วทั้งไลฟ์โค้ชและนักให้คำปรึกษาต่างประยุกต์หลักการและกระบวนการให้เหมาะกับตัวเอง และในบุคคลคนเดียว สามารถเรียนรู้ได้ทั้งการเป็นไลฟ์โค้ชและการเป็นนักให้คำปรึกษา และประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละเคส เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เข้ารับการปรึกษา
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
Commentaires