top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 คุณลักษณะทางจิตวิทยาที่ส่งเสริมสุขภาพจิตระหว่าง Work from Home


ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดูจะคงที่และควบคุมได้ แต่อะไรก็ยังไม่แน่นอน จึงทำให้เรา ๆ ยังคงต้อง Work from Home กันต่ออีกสักระยะ ซึ่งจากผลการสำรวจ ความคิดเห็นของคนไทยในหัวข้อ “กรณี โควิด-19 กับคนไทย” ระหว่างวันที่ 17 – 21 มีนาคม 2563 พบว่า กลุ่มตัวอย่างถึง 86.68% เห็นว่า COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างมากในทุกด้าน โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้เสียสุขภาพจิต และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัย รวมไปถึงกลุ่มตัวอย่าง 48.73% ยังมีความวิตกกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์

จากผลสำรวจของดุสิตโพล ทำให้ดิฉันเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ชีวิตของพวกเราคนไทยเปลี่ยนไปเยอะมากค่ะ จากเดิมที่เคยออกบ้านไปทำงาน ยังได้สังสรรค์เฮฮากับเพื่อน ๆ หรือเคยเดินซื้อของชิว ๆ ในห้างสรรพสินค้า หรือ ตลาดนัด แต่พอวันหนึ่งที่เจ้า COVID-19 เข้ามา ทุกอย่างก็หยุดหมด คุณผู้อ่านส่วนหนึ่งก็คงต้อง Work from Home ซึ่งถึงแม้ว่าจะทำงานอยู่บ้านก็จริง แต่ความเครียด ความวิตกกังวล ไม่ได้ลดลงเลย ด้วยความห่วงใยจากพวกเรา iStrong ดิฉันจึงได้รับมอบหมายให้ไปหาข้อมูลดี ๆ เชิงจิตวิทยาเพื่อมาเขียนข้อแนะนำในการช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้มีความสุขขึ้นค่ะ ซึ่งสิ่งที่จะแนะนำในวันนี้ ก็คือ “4 คุณลักษณะทางจิตวิทยาที่ส่งเสริมสุขภาพจิตระหว่าง Work from Home” เจ้า 4 คุณลักษณะที่ว่ามีอะไรกันบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ

1. ความฉลาดทางอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ Emotional Quotient หรือในหนังสือจิตวิทยาบางเล่มก็ใช้คำว่า Emotional Intelligence มีชื่อเล่นที่พวกเรารู้จัดดี ว่า EQ ความหมาย ก็คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ มีจิตใจที่มั่นคง การมองโลกในแง่ดี รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ มีเหตุผล มีสติ สามารถควบคุมตนเอง มีความสามารถในการรับรู้ถึงความต้องการของคนอื่น และรู้จักมารยาททางสังคม ดังนั้น หากเราสามารถเพิ่ม EQ ได้ เราก็จะมีความสุขกับการ Work from Home มากขึ้นค่ะ วิธีการพัฒนา EQ ก็สามารถทำได้ด้วยวิธีการ ดังนี้ค่ะ

1. รู้อารมณ์ตัวเอง เมื่อเรารู้ทันว่าตอนนี้เราอยู่ในอารมณ์ไหน หากเป็นอารมณ์ทางลบ เราก็สามารถควบคุมได้ทันนั่นเองค่ะ 2. ใส่ใจคนรอบข้างให้มากขึ้น เมื่อเราใส่ใจคนอื่นมากขึ้น เราจะมีความเข้าใจ และเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น 3. หมั่นพัฒนาตนเอง อะไรไม่เก่งก็เรียนรู้เพิ่มเติม อะไรที่เก่งก็เสริมให้แข็งแกร่ง แล้วเราจะมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นค่ะ 4. มองในมุมบวก พยายามหาข้อดีของสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ หากหาไม่เจอ ก็ช่างมันบ้าง 5. รู้จักวิธีการผ่อนคลายความเครียด เช่น ควบคุมลมหายใจ ฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

2. แรงจูงใจภายใน

แรงจูงใจ หรือ Motivation แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามหลักจิตวิทยา ก็คือ แรงจูงใจภายใน (intrinsic motives) และแรงจูงใจภายนอก (extrinsic motives) ซึ่งแรงจูงใจที่ส่งผลทางบวกต่อการทำงานและสุขภาพจิตของเรา ก็คือ แรงจูงใจภายใน (intrinsic motives) ที่ประกอบด้วย เจตคติ ความคิด ความสนใจ ความตั้งใจ การมองเห็นคุณค่า ความพอใจ และความต้องการของเราค่ะ ดังนั้น หากเราต้องการพัฒนาแรงจูงใจ ก็สามารถทำได้โดยการเปิดใจ เปิดหู เปิดตา ให้กว้าง เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์ให้ไกล เปิดทัศนคติให้กว้าง และเพิ่มการยอมรับตัวเองให้มากขึ้นค่ะ

3. ความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรค

ความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรค มีชื่อในวงการจิตวิทยาสั้น ๆ ว่า Adversity Quotient มีชื่อเล่นที่สั้นกว่าว่า AQ ซึ่งก็คือ การมีแนวคิดและทัศนคติทางบวกต่ออุปสรรค ว่าเป็นความท้าทาย ทำให้เกิดโอกาสในการประสบความสำเร็จ ประมาณว่า “ยิ่งยากยิ่งท้าทาย” หากเรามี AQ มาก การ Work from Home จะเป็นเรื่องสนุกทันทีค่ะ เพราะความยุ่งยาก และความลำบากในการทำงานจะเป็นเหมือนการผ่านด่านในการเล่นเกมของเรา ดังนั้น หากเราฝึก AQ ไว้ ก็จะดีต่อสุขภาพจิตของเราในสถานการณ์ COVID-19 อย่างมากเลยค่ะ โดยวิธีการพัฒนา AQ ก็สามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ

1. เข้าใจถึงสถานการณ์ของปัญหาที่เราเผชิญอยู่ ว่าปัญหานั้นมีสาเหตุมาจากอะไร และส่งผลกระทบอย่างไร 2. มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย เช่น การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น การใช้เครื่องมือช่วยแก้ปัญหา การมีทางเลือกที่ 2 ที่ 3 เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาในข้อนี้ต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควรเลยค่ะ 3. มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ คิดให้แตกต่างจากเดิม 4. กล้าเสี่ยง กล้าชนกับปัญหา 5. โทษตัวเองให้น้อยลง เพราะบางปัญหา มันเกินความรับผิดชอบของเรา และเราทำเต็มที่แล้ว 4. ความเชื่ออำนาจควบคุมภายใน

ความเชื่ออำนาจควบคุม หรือ locus of control ในทางจิตวิทยามี 2 ประเภทค่ะ คือ ความเชื่ออำนาจควบคุมภายใน (internal locus of control) และความเชื่ออำนาจควบคุมภายนอก (external locus of control) ซึ่งสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพจิตของเราระหว่าง Work from Home มากที่สุด คือ ความเชื่ออำนาจควบคุมภายใน (internal locus of control) ซึ่งมีความหมายถึง ความเชื่อว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นผลมาจากการกระทำและลักษณะพฤติกรรมของเราเอง เราเองสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้โดยวิธีการพัฒนาสามารถทำได้ด้วยการเพิ่มความมั่นใจในตนเอง ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มความรู้ ความสามารถ หาโอกาสในการแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะเมื่อเรามั่นใจในตนเอง เราจะเชื่อมั่นในตนเองว่าเราสามารถทำสิ่งที่ตั้งใจได้ เชื่อว่าเรามีความสามารถพอในการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ค่ะ

โดยคุณลักษณะทางจิตวิทยาที่กล่าวมา นำมาจากผลการวิจัยของ รศ.ดร. รัตติกรณ์ จงวิศาล ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นว่า ทั้ง 4 คุณลักษณะส่งผลทางบวกต่อความรู้สึกในการปฏิบัติงานอย่างมีนัยสำคัญค่ะ ทีนี้หากคุณผู้อ่านนำไปลองใช้แล้ว ได้ผลเป็นอย่างไร อย่าลืมมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ พบกันใหม่บทความหน้าค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : 1. สวนดุสิตโพล. 23 มีนาคม 2563. ผลสำรวจ “กรณี โควิด-19 กับคนไทย”. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 2. รัตติกรณ์ จงวิศาล. 2551. ภาวะผู้นำของผู้ประกอบการ : ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างคุณลักษณะทางจิตวิทยา การทำงานเป็นทีม และความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 3. Stoltz, P.G. 1997. Adversity Quotient : Turning obstacles into opportunities. New York : John Wiley & Son, p.105.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 5 ปี

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page