กัญชากับการบำบัดโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่
อาการหรือโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่นั้น คืออาการที่ติดมาตั้งแต่เด็ก จากสถิติพบว่า ในเด็ก 100 คนจะพบเด็กสมาธิสั้น 6-9 คน และผู้ใหญ่ 100 คนจะมีอาการหลงเหลือเป็นสมาธิสั้นอยู่ 3-5% ของประชากรทั่วโลก ซึ่งโรคสมาธิสั้นหรือคนมักเรียกสั้น ๆ ว่า ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) มักเป็นกลุ่มอาการของการไม่สามารถมีสมาธิทำหรือสนใจสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนคนปกติ สูญเสียสมาธิจากการถูกรบกวนได้ง่ายกว่าปกติ ภาวะกระวนกระวาย และอยู่ไม่สุข นอกจากนี้คนที่มีภาวะ ADHD ยังอาจมีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมทั้งไม่สามารถเรียนหรือทำงานได้ปกติเหมือนคนทั่วไป แม้จะมี IQ ที่สูงก็ตาม อ่านบทความ "14 อาการของผู้ใหญ่ที่สมาธิสั้น" ที่นี่ การปล่อยปละละเลยไม่รักษาอาการสมาธิสั้นอาจเกิดผลกระทบต่อพัฒนาการและการใช้ชีวิตของคนคนนั้น ไม่ว่าจะกระทบการเรียนหรือการทำงาน อาการสูญเสียความนับถือตัวเอง และแปลกแยกจากสังคม รวมทั้งไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถบำบัดภาวะสมาธิสั้นได้จะมีอาการหงุดหงิด โมโห ซึมเศร้า รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ และไม่พึงพอใจในชีวิต โดยปกติแล้ว การบำบัดโรคสมาธิสั้นมักมุ่งเน้นที่การปรับพฤติกรรม (อ่านบทความ “7 วิธีประสบความสำเร็จสำหรับผู้ใหญ่สมาธิสั้น”) รวมถึงการจ่ายยาโดยแพทย์ เช่น Ritalin, Methylin, Adderall หรือ Concerta อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน หยุดเจริญเติบโต เป็นตะคริว หรือแม้กระทั่งประสาทหลอน ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยทนไม่ไหวจนมักหยุดใช้ยาไปในที่สุด รวมทั้งเมื่อใช้ยาไปในระยะยาวอาจเกิดภาวะดื้อยา วิตกกังวล หรือมีภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย หากผู้ป่วยตัดสินใจใช้ยาแล้ว ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็มักทำให้อดทนใช้ต่อไม่ไหว แต่หากไม่ยอมทำอะไรเลย การดำเนินชีวิตก็จะย่ำแย่ลง ดังนั้น ในยุคปัจจุบันจึงเริ่มมีความพยายามในการมองหาตัวเลือกใหม่ ๆ ในการบำบัด ซึ่งหนึ่งในนั้นที่มีความเป็นไปได้สูงมาก คือ กัญชา ที่กำลังกลายเป็นพืชถูกกฎหมายในหลาย ๆ ประเทศ เมื่อใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการบำบัดรักษาโรค ทำไมต้องเป็นกัญชา หนึ่งในกลุ่มอาการของโรคสมาธิสั้นคือสมองขาดโดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องในกระบวนการคิดจำพวก ความจำและการตั้งสมาธิ โดยยาจำพวก Adderall และ Ritalin ก็คือตัวกระตุ้นการหลั่งโดปามีนที่จะช่วยให้ผู้ที่ใช้ยามีสมาธิดีขึ้น ไม่ว่าจะในการเรียน การทำงาน หรือการแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งยังกลายเป็นคนมองโลกในแง่ดีมากขึ้น แต่ก็จะมีอาการข้างเคียงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ต่อมีนักวิจัยจำนวนมาก เช่น Dr. David Bearman หัวหน้าทีมวิจัยกัญชา ค้นพบสารประกอบในกัญชาที่เรียกว่า Cannabinoids ที่สามารถกระตุ้นสารโดปามีนในสมองได้เช่นกัน หากมีการใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและมีการควบคุมอย่างปลอดภัย แม้แต่ในการเสพกัญชาโดยไม่ควบคุม ก็ยังพบว่าช่วยให้สมองผ่อนคลายขึ้น มีสมาธิสำหรับการทำงาน แม้งานที่น่าเบื่อหรือยากก็กลายเป็นสิ่งที่สามารถจัดการได้ รวมทั้งมีภาวะอารมณ์ที่นิ่งขึ้น ในแวดวงการแพทย์จึงหันมาให้ความสนใจกัญชามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลว่าหากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกวิธี หรือไม่มีการควบคุม และใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะเกิดภาวะการเสพติดกัญชาตามมา จากประสบการณ์ตรงของผู้ใช้รายหนึ่งรายงานผลว่า กัญชาช่วยให้เขาคลายเครียด ช่วยให้ปล่อยวางความทุกข์ได้ดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ทำให้มีสมาธิมากขึ้น รวมทั้งนอนหลับได้ดีมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการใช้กัญชาไม่ได้มีแต่ด้านบวก เพราะขณะเดียวกันเขาก็รู้สึกหมดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ งานแต่ละชิ้นดูเหมือนจะใช้เวลานานขึ้น มีผลกระทบในเรื่องสมรรถภาพทางเพศ รวมทั้งอาการเมา (high) จนไม่สามารถขับรถไปทำงานตอนเช้าได้ ภายหลังจากกฎหมายของหลายประเทศเริ่มทำให้กัญชาถูกกฎหมาย จึงได้มีการศึกษาถึงประโยชน์ในทางการแพทย์จำนวนมากมาย แต่ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ในหลายปีมานี้ กัญชากลายเป็นยารักษาโรคในประเทศสหรัฐอเมริกา (แต่ละรัฐมีรายละเอียดของข้อกฎหมายที่ต่างกัน) ทั้งบรรเทาความเจ็บปวดและบำบัดโรคทางจิต และนิยมใช้กันมากในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมักใช้สูบหรือกินจากพืชโดยตรงเพื่อให้เมา (high) ทั้งที่ผลการศึกษายังไม่กระจ่างและยังมีคำถามมากมายอยู่ก็ตาม
ในภาพรวมการใช้กัญชา ณ ขณะนี้ คือการใช้ควบคู่หรือทดแทนยาเดิมเพื่อลดผลข้างเคียงของการใช้ยา ซึ่ง Cannabinoids ได้รับการยืนยันว่าช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับและคลื่นไส้อาเจียนได้โดยไม่เกิดผลข้างเคียง (แต่ต้องได้รับการสั่งยาจากแพทย์) และสำหรับการบำบัดอาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ มักนิยมใช้รักษาตามอาการที่เกิด เช่น อาการอยู่ไม่นิ่ง การแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ภาวะวิตกกังล และภาวะซึมเศร้า ซึ่งดูเหมือนว่า กัญชาจะช่วยบรรเทาอาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ (รวมถึงเด็กและวัยรุ่น) ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวที่หากใช้ไปเป็นเวลานานนั้น ผู้ที่กำลังคิดจะใช้ควรศึกษาผลกระทบในระยะยาวก่อนตัดสินใจ ความจริงที่ปรากฏ ณ ขณะนี้คือ ผลการใช้กัญชาในการบำบัดและรักษาโรคยังคงเกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันไปในแต่ละบุคคล รวมถึงรายละเอียดการใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งในผู้ผลิตหรือผู้สนับสนุนก็อาจจะเน้นย้ำที่ประโยชน์ แต่ฝ่ายที่ยังเคลือบแคลงต่อผลกระทบในการใช้ ก็จะเตือนให้ระวังถึงหลายประเด็นที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ซึ่งหากคุณกำลังพิจารณาใช้กัญชาในเชิงบำบัดด้วยตัวเองควรศึกษาให้ดีก่อน
ที่มา
ADHD and Weed: What’s the Draw? Does Marijuana help with ADHD? https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-distracted-couple/201502/adhd-and-weed-what-s-the-draw
Cannabis and ADD/ADHD https://www.leafly.com/news/health/cannabis-and-addadhd
Can marijuana help treat ADHD? https://www.medicalnewstoday.com/articles/315187.php
New Ground-Breaking Research: Several Studies Show Cannabis Effectively Treats ADHD Symptoms https://medium.com/@liezeboshoff/new-ground-breaking-research-several-studies-show-cannabis-effectively-treats-adhd-symptoms-cff2c5d288f3
コメント