top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

สงครามสมรส : ดูแลจิตใจลูกอย่างไรในวันที่พ่อ แม่ ตัดสินใจร้างลา



ละครไทยในระยะหลัง ๆ นี้มักจะเสนอเกี่ยวกับเรื่องราวของครอบครัวที่กำลังแตกแยก คู่สามี – ภรรยาที่กำลังหย่าร้าง ซึ่งละครเรื่อง “สงครามสมรส” ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มละครคู่รักหย่าร้าง แต่ที่พิเศษกว่าเรื่องอื่น ๆ คือ ละครเรื่องสงครามสมรสไม่ได้มุ่งนำเสนอการตบตีแย่งชิงสามี หรือภรรยา ที่กำลังจะหย่าร้างไปมีครอบครัวใหม่ แต่สงครามสมรส เน้นการนำเสนอกฎหมายสมรส กฎหมายครอบครัว และกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการหย่าร้างและการขอสิทธิเลี้ยงดูบุตร และแน่นอนค่ะว่าละครเรื่องสงครามสมรส สามารถใช้นิยามคำว่า “ละครสะท้อนสังคม” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะจากสถิติการหย่าร้างของคนไทยตลอดปี 2566 พบว่า เฉพาะเขตกรุงเทพฯ มีคู่(เคย)รักมาจดทะเบียนหย่า จำนวน 17,410 คู่ รองลงมา คือ จังหวัดชลบุรี จำนวน 8,060 คู่ และลำดับที่สาม คือ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5,880 คู่ โดยสาเหตุการหย่าร้างยอดฮิต ก็คือ การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การนอกใจ การขาดความรับผิดชอบ และปัญหาการใช้สารเสพติด


ซึ่งในทุกการหย่าร้างยอมมีคราบน้ำตา และไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตัวของสามี ภรรยา ผู้หย่าร้างกันเท่านั้น เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยไม่ตั้งใจ ก็คือ “ลูก” แต่เมื่อความรักไปต่อไม่ได้ จะฝืนต่อไปก็ทรมานใจกันไปเสียเปล่า อีกทั้งยังจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง การหย่าร้างกันก็คงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ดังนั้นเมื่อการหย่าคือทางออกที่ดีที่สุด พ่อ แม่ ก็ควรที่จะต้องเตรียมใจของลูกให้พร้อมรับมือกับการเลิกราที่กำลังจะมาถึง และเมื่อได้ทำการหย่าอย่างเป็นทางการแล้ว ก็ควรจะดูแลจิตใจไม่ให้ลูกรู้สึกว่าเขามีปมด้อย เขาขาดแคลนความมั่นคงทางใจ เพื่อไม่ให้เขาเติบโตการเป็นคนที่มีปัญหาชีวิต จนเกิดเป็น Toxic ต่อตนเอง ต่อคนรอบข้าง และต่อสังคม


ดิฉันเองในฐานะลูกที่พ่อ แม่ หย่าร้างกัน และแม่ที่พยายามสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจให้แก่ลูก จึงได้นำเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาในการดูแลจิตใจลูกในวันที่พ่อ แม่ หย่าร้างกันมาฝากค่ะ

1.บอกลูกให้รู้ตัวว่าพ่อ แม่ กำลังจะหย่ากัน

แม้ว่าความจริงมันจะโหดร้าย แต่มันก็เป็นปกติธรรมดาของชีวิต การที่พ่อ แม่ ปิดบังความจริง แล้วลูกมารู้เองทีหลังนั้นมันจะเพิ่มความเจ็บปวดขึ้นเป็นสองเท่า เพราะลูกจะรู้สึกว่าพ่อ แม่ ไม่ซื่อสัตย์กับเขา แต่ถ้าพ่อ แม่ จับมือกันไปอธิบายด้วยเหตุและผล แบบใจเย็น ๆ ให้ลูกเขาใจว่าความรักของพ่อกับแม่มีปัญหาใหญ่ ไปต่อไม่ได้แล้ว จำเป็นที่จะต้องยุติบทบาทคนรักกัน แต่บทบาทความเป็นพ่อ แม่ยังคงอยู่    


2. ย้ำและแสดงออกให้ลูกมั่นใจว่าลูกไม่ใช่สาเหตุการหย่า

เป็นธรรมดาที่เมื่อพ่อ แม่หย่ากัน ลูกมักจะอดสงสัยไม่ได้ว่า “พ่อ แม่หย่ากันเพราะฉันหรือเปล่า?” นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า คุณพ่อ และคุณแม่ที่ตกลงปลงใจว่าหย่าขาดจากกันต้องแสดงออกให้ลูกรู้ว่า ลูกไม่ได้เป็นต้นเหตุให้พ่อกับแม่ทะเลาะกัน หรือหย่าร้างกัน และต้องทำให้ลูกมั่นใจว่าพ่อและแม่จะยังรักเขา ไม่ทิ้งเขา และสนับสนุนเขาเช่นเดิม เพื่อดูแลจิตใจลูกให้เข้มแข็ง


3. ลูกต้องมาก่อนเสมอ

ถึงแม้การหย่าจะเป็นการตัดสินใจของทั้งฝ่ายสามี ภรรยา แต่เรื่องผลประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พ่อและแม่ต้องคิดถึงลูกก่อนเสมอ ต้องดูแลจิตใจลูกก่อนเสมอ ทั้งสองฝ่ายต้องแบ่งภาระหน้าที่หลังการหย่าให้ชัดเจนว่าใครจะดูแลลูกเป็นหลัก ใครจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายตรงไหน อย่างไร และจะสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกับลูกได้แค่ไหน อย่างไร เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูก และเพื่อลดปัญหาที่จะตามมาค่ะ


4. ไม่ทะเลาะกันให้ลูกเห็น

กฎเหล็กที่นักจิตวิทยาเตือนสำหรับผู้ที่มีครอบครัว ก็คือ “ห้ามทะเลาะกันให้ลูกเห็น” โดยฉากหนึ่งในละครสงครามสมรส ที่สะเทือนใจคนดูมากฉากหนึ่ง ก็คือ ฉากที่บัวบงกช (คุณแอฟ ทักษอร) กับปรเมศวร์ (คุณชาคริต แย้มนาม) คู่ร้างหมาด ๆ ทะเลาะกันหนักมากต่อหน้าลูก คือ น้องปณต จนน้องเกิดปมในใจ และฉากที่ญาดา (แพรว เฌอมาวีร์) อดีตภรรยาของทนายภาวินท์ (ตรี ภรภัทร)บุกเข้ามาอาละวาดที่ร้านเค้กของบัวบงกช และพาตัวน้องเพลิน (น้องมะลิ) ออกไปจากร้าน ซึ่งในฉากนั้น ลูกเสียใจหนักมาก นั่นจึงเป็นสิ่งเตือนใจให้ผู้ชมตระหนักว่า ถ้าทะเลาะกัน อย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูก เพราะลูกจะฝังใจไปนานเลยค่ะ


5. ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า แม้ว่าการหย่าร้างจะทำให้ความเป็นสามี ภรรยาสิ้นสุดลง แต่ไม่ได้ทำให้ความเป็นพ่อ แม่สิ้นสุดไป เพราะฉะนั้น พ่อกับแม่ก็ยังคงต้องทำหน้าที่ของตนในการดูแลลูก ปกป้องลูก ดูแลจิตใจลูก ให้ความรู้ ให้การอบรมสั่งสอน เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นมาด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข และมีทัศนคติต่อโลกนี้ในทางที่ดี เพื่อให้เขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมต่อไปค่ะ


6. อย่าทำให้ลูกเกลียดอีกฝ่าย

กฎเหล็กอีกข้อจากนักจิตวิทยา ก็คือ ถึงแม้ว่าหลังจากการหย่า ลูกจะต้องอยู่ในความดูแลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก แต่พ่อ หรือแม่ ก็ไม่ควรให้ลูกเลือกข้าง หรือใส่ไฟอีกฝ่ายเพื่อให้ลูกเกลียดอีกคน เพราะถึงอย่างไรอีกคนก็ยังเป็นพ่อ หรือแม่ของลูกเรา ถึงพ่อแม่จะทะเลาะกัน แต่ลูกก็ยังรักพ่อและแม่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าทำร้ายจิตใจลูกและอีกฝ่ายด้วยการทำให้ลูกต้องเลือกข้าง และเกลียดอีกคนเลยค่ะ


การหย่า เป็นตัวเลือกหนึ่งในชีวิตที่นอกจากจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราเอง ยังเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนในครอบครัว คือ อดีตคนรักของเรา และลูกของเราอีกด้วย ซึ่งคนที่เราควรถนอมจิตใจและใส่ใจดูแลมากที่สุด ก็คือ ลูกนั่นเอง เพราะลูกอาจไม่เข้าใจเหตุผลของพ่อกับแม่ที่เลิกกัน และเกิดความไม่มั่นใจในความรักที่พ่อ แม่มีต่อเขา ดังนั้นพ่อ แม่ต้องทำให้ลูกมั่นใจว่า ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไป ความรักที่พ่อ แม่มีให้ลูกจะไม่เปลี่ยนแปลง 


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

อ้างอิง : 1. Blahblahboong. (2562, 8 มีนาคม).7 วิธีดูแลจิตใจลูก เมื่อถึงวันที่พ่อแม่ต้องแยกทางกัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.parentsone.com/when-family-broken/#google_vignette

2. มติชนสุดสัปดาห์. (2567, กุมภาพันธ์). จดหมาย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_744259

3. กรมสุขภาพจิต. (2563, 24 กันยายน). หย่าร้างอย่างไรไม่ทำร้ายลูก?/. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2567 จาก https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30441

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Commenti


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page