top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

บทเรียนจาก Mask Girl ‘ถ้าคุณหน้าตาดี โลกก็จะใจดีกับคุณ’ ...จริงหรือ?



“Mask Girl” เป็นซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้ที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวละครหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าตาไม่ได้เป็นแบบพิมพ์นิยม ทำให้ถูกคนรอบข้าง bully หน้าตา แม้กระทั่งแม่แท้ ๆ ก็มักจะพูดเสมอว่าเธอหน้าตาขี้เหร่ หรือเพื่อนร่วมงานชายส่วนใหญ่ก็จะมองข้ามเธอไป ในขณะที่พนักงานสาวหน้าตาน่ารักเวลาทำอะไรเพื่อนร่วมงานชายก็ดูจะเห็นดีเห็นงามไปหมด และแม้ว่าเธอจะถูกลวนลามบนรถไฟฟ้า แต่เมื่อเธอโวยวายขึ้นมาก็ไม่มีใครเชื่อเลยว่าเธอถูกลวนลามจริง ๆ

เนื้อหาเรื่องราวของ Mask Girl ชักชวนให้คนดูรับรู้ได้ถึง “อภิสิทธิจากความงาม (Beauty Privilege)” อารมณ์แบบ “ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อย” หรือ “ถ้าคุณหน้าตาดี โลกก็จะใจดีกับคุณ” แต่โลกแห่งเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือไม่ ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากจะหยิบยกเอาแนวคิดทางจิตวิทยาอันหนึ่งขึ้นมาแบ่งปัน และชวนให้ผู้อ่านทุกคนค่อย ๆ คิดวิเคราะห์ตามไปว่าหลังจากอ่านบทความนี้แล้วมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้างค่ะ


Halo Effect: ‘ถ้าคุณหน้าตาดี โลกก็จะใจดีกับคุณ

Halo Effect เป็นรูปแบบของอคติทางความคิด (Cognitive Bias) ประเภทหนึ่ง โดย Halo Effect เป็นอคติในทางบวก เช่น เกิดความรู้สึกประทับใจเมื่อแรกเห็น มองจากรูปร่างหน้าตาแล้วรู้สึกว่าคนนี้น่าเชื่อถือ ซึ่งโดยมากความรู้สึกทางบวกมักเกิดขึ้นจากความประทับใจต่อรูปร่างหน้าตาที่มองแล้วชวนให้เกิดอคติว่าบุคคลนั้นน่าจะเป็นคนดี คนฉลาด หรือหากเป็นการรับสมัครก็มีโอกาสที่ HR อยากจะเลือกคนที่มีรูปร่างหน้าตาถูกใจตัวเองมากกว่าคนที่เห็นแล้วรู้สึกเฉย ๆ ไม่ดึงดูด


อย่างไรก็ตาม Halo Effect มีจุดกำเนิดมาจากแนวคิดของ Edward Thorndike ในปี ค.ศ. 1920 ซึ่งค้นพบพฤติกรรมที่แสดงถึงการมีอคติทางบวกที่บุคคลที่มีภาพลักษณ์ดึงดูด Thorndike ได้เขียนบทความชื่อว่า “The Constant Error in Psychological Ratings.” โดยในบทความได้กล่าวถึงการทดลองที่ให้ทหารยศผู้บังคับบัญชาทำการประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาว่าใครมีคุณลักษณะเป็นผู้นำ ลักษณะทางกายภาพ ความฉลาด ความซื่อสัตย์ภักดี และความน่าเชื่อถือ Thorndike พบว่าผลประเมินที่สูงมีความสัมพันธ์กับคาแรคเตอร์บางอย่าง ส่วนผลประเมินที่ต่ำก็สัมพันธ์กับคาแรคเตอร์บางอย่างที่แตกต่างไป


Halo Effect ในโลกของการทำงาน

Parrett (2015) ได้ทำการทดสอบกับพนักงานของร้านอาหารในรัฐเวอร์จิเนีย Parrett พบว่าพนักงานที่มีรูปลักษณ์ที่ดึงดูดใจหรือดูเป็นคนเจ้าเสน่ห์มากกว่าจะได้ทิปจากลูกค้าประมาณ 1,261 ดอลลาร์ต่อปีซึ่งสูงกว่าเพื่อนพนักงานคนอื่น ๆ ที่รูปลักษณ์ธรรมดา

ในแง่ของการสมัครงาน เวลาที่นายจ้างดูโปรไฟล์ของผู้สมัครแล้วรู้สึกว่าคนไหนดูมีความน่าดึงดูดใจ ดูมีเสน่ห์ ก็มักจะเกิดความรู้สึกตามมาว่าคนนี้น่าจะเป็นคนที่ฉลาด มีความสามารถ และมีคุณสมบัติน่าน่าเลือกเข้ามาทำงาน


The Reverse Halo Effect (Horn Effect): ‘ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อย’

ในฝั่งกลับด้านของ Halo Effect ก็คือ The Reverse Halo Effect หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า Horn Effect หมายถึง การมีอคติทางลบกับคนที่ไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่น่าดึงดูดใจ ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ (ของสังคมนั้น ๆ) มักจะถูกตัดสินว่าโง่ ไม่ได้เรื่อง และมักจะถูกปฏิบัติไม่ดีจากคนอื่น ซึ่งมันก็คือขั้วตรงข้ามของ Halo Effect นั่นเอง


อย่าปล่อยให้ความคิดมาหลอกเราได้

แม้ว่า Halo Effect และ The Reverse Halo Effect (Horn Effect) จะเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นกับคนเราอย่างเป็นอัตโนมัติ แต่ต้องอย่าลืมว่าในความจริงแล้วมันก็คือ ‘อคติทางความคิด (Cognitive Bias)’ ที่อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้ หากเราเชื่อความรู้สึกของตัวเองโดยไม่ได้กลั่นกรองหรือตรวจสอบความเป็นจริงให้ดี เราก็อาจจะถูกความคิดของตัวเองหลอกเอาได้ เพราะคนที่ดูดีมีเสน่ห์นั้นมีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้งคนดีมีความสามารถหรืออาจจะไม่ได้เป็นคนดีคนเก่งอะไรเลยก็ได้ เช่นเดียวกับคนที่รูปร่างหน้าตาไม่ได้เป็นแบบพิมพ์นิยมก็มีโอกาสที่เป็นคนดีคนไม่ดีได้เหมือนกัน สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากก็คือการมองคนแบบเหมารวม (Stereotype) ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ เช่น “เขาหล่อขนาดนี้ ไม่มีทางจะไปข่มขืนใครแน่นอน” หรือ “คนสวยทุกคนเอาแต่ใจตัวเอง” เหล่านี้ล้วนเป็นการตัดสินใจที่ไม่สามารถนำไปสู่ความจริงได้ เพราะมนุษย์แต่ละคนล้วนแตกต่างหลากหลายและไม่เหมือนกันตั้งแต่พันธุกรรม การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน จึงไม่สามารถสรุปแบบเหมา ๆ ได้ว่าคนไหนเป็นคนดีมีความสามารถคนไหนไม่ได้เรื่อง


ผู้เขียนจึงอยากชวนให้ทุกคนหันมาใส่ใจกับข้อเท็จจริงให้มาก เอาความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินคนอื่นให้น้อย ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ไปด้วยในตัว เพราะหากลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดู ก็จะรู้ว่าการถูกตัดสินไปก่อนทั้งที่ยังไม่รู้จักกันอย่างลึกซึ้งทุกแง่มุมมันสร้างความเจ็บปวดมากแค่ไหน เหมือนกับที่คิมโมมิก่อนที่จะศัลยกรรม เธอถูกผู้คนมากมายตัดสินไปในทางลบ ถูกล้อเลียน ถูกมองผ่าน แม้กระทั่งจากแม่แท้ ๆ ของเธอ ซึ่งเราก็ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า คนที่ถูกปฏิบัติแย่ ๆ บ่อย ๆ จะคิดอะไรอยู่ในใจ และจะทำอะไรในเวลาต่อมา


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[2] Halo Effect In Psychology: Definition And Examples https://www.simplypsychology.org/halo-effect.html


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ ISTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page