top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

จิตวิทยาของการเหยียด ทำไมคนเราถึงเหยียดกัน?


คำว่า “เหยียด” ในยุคปัจจุบันมักถูกใช้ไปในความหมายว่า เหยียดหยาม ดูถูก ดูหมิ่น ทำให้คนที่โดนเหยียดถูกด้อยค่าลง หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี การเหยียดนั้นตรงกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่หลายคำด้วยกัน แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงการเหยียดคนอื่นแบบเป็นกลุ่มซึ่งจะตรงกับการเหยียด 2 ประเภท ดังนี้


1. Stereotype หมายถึง การตัดสินคนอื่นแบบเหมารวมเป็นกลุ่ม ยกตัวอย่างจากงานวิจัยของนักจิตวิทยา Susan Fiske ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Princeton และนักศึกษาปริญญาโท Cydney Dupree ที่พบว่า แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในศูนย์ child care เป็นอาชีพที่คนมักตัดสินว่าเป็นอาชีพที่มีความสามารถสูง มีลักษณะอบอุ่น เป็นห่วงเป็นใย เป็นอาชีพที่คนให้ความสำคัญ มีหน้ามีตาในสังคม ผู้คนรับรู้ถึงความภาคภูมิใจและความชื่นชม เต็มไปด้วยทัศนคติด้านบวก ในขณะที่ พนักงานล้างจาน คนเก็บขยะ คนขับรถแท็กซี่ ผู้คนได้เลือกจัดอันดับว่ามีลักษณะนิสัยที่ไม่เป็นมิตร มีทัศนคติด้านลบ ให้ความรู้สึกดูถูกหรือโดนรังเกียจโดยคนส่วนใหญ่ นั่นอาจแปลว่า ผู้คนส่วนมากมักสรุปว่าอาชีพที่ไม่ได้มีรายได้สูง คืออาชีพที่ไม่ได้ใช้ความสามารถมากนัก เป็นต้น


2. Prejudice and discrimination หมายถึง อคติและการเลือกปฏิบัติ โดยคนบางกลุ่มอาจจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปเพราะถูกตัดสินด้วยอคติ ซึ่งความคิดและอารมณ์ของบุคคลจะส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น หากเรามีความเชื่อว่าคนกลุ่มหนึ่งไม่ดี เราก็มักจะปฏิบัติกับคนกลุ่มนั้นไม่ดีไปด้วย ทำให้การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในสังคม ตัวอย่างเช่น การปฏิเสธไม่รับคนเข้าทำงานเนื่องจากฝ่ายบุคคลมีมุมมองว่าคนที่เป็น LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่มีอารมณ์รุนแรงหรือยังมีความเชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางจิตใจ หรือบางสถานประกอบการอาจมีอคติต่อคนที่จบการศึกษามาจากบางแห่งว่าความสามารถไม่ถึง หรือ มีนิสัยหยิ่งยโสเข้ากับใครไม่ได้ เป็นต้น


ทำไมคนเราถึงเหยียดกัน?

จากทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Theory) ได้กล่าวถึงการสร้างความเป็นคนใน (In-group) และความเป็นคนนอก (Out-group) ขึ้นมา โดยมาจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาเองอย่างรวดเร็วของคนเราที่มักจะเกิดความรู้สึกเห็นใจ ชอบ และรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันกับคนที่เป็นคนใน ยกตัวอย่างเช่น ในการแข่งขันวอลเล่ย์บอลไทย vs ตุรกี ก็จะมีโอกาสน้อยมากหรือไม่มีโอกาสเลยที่คนไทยจะเลือกเชียร์ทีมตุรกี เป็นต้น ความรู้สึกอคติแบบคนใน-คนนอก มักนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และเป็นจุดเริ่มต้นของการกลั่นแกล้ง (Bullying), การเหยียดเชื้อชาติ (Racist) เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะแสดงออกในทางบวกกับสิ่งที่เรามองเป็น In-group มากกว่าสิ่งที่เรามองว่าเป็น Out-group นั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้ปัจจัยทางด้านสังคมวัฒนธรรมถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมากทีเดียว โดยจากการศึกษาของ Fiske พบว่า หากสังคมวัฒนธรรมนั้น ๆ ไม่มีบรรทัดฐานทางสังคมว่า “ชาติเรายิ่งใหญ่ที่สุด” คนในสังคมก็จะไม่มีมุมมองต่อคนชาติอื่นว่าด้อยกว่า ยิ่งใหญ่น้อยกว่า


การเหยียดนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง?

  • กลุ่มคนที่ถูกเหยียดมีปัญหาสุขภาพ ยกตัวอย่างของประเทศแถบที่มีการจัดแบ่งคนเอาไว้เป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มได้รับการยกย่องให้คุณค่าลดหลั่นกันตั้งแต่ยกย่องให้คุณค่าสูงไปจนถึงถูกมองว่าไม่มีคุณค่าเลย กลุ่มคนที่ถูกเหยียดก็จะไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่ดีได้ เมื่อเกิดความเจ็บป่วยก็อาจจะไม่มีสถานพยาบาลไหนที่รับให้การรักษา ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะเครียดจนเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้

  • การเหยียดทำให้มีการเลือกปฏิบัติมากขึ้น กลุ่มคนที่ถูกเหยียดมักถูกเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น ชาติที่มีการวางสถานะของผู้หญิงไว้ต่ำกว่าผู้ชาย ก็จะมีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น เช่น ไม่รับผู้หญิงเข้าทำงาน ผู้หญิงไม่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารได้ ยิ่งมีการเหยียดเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ การเลือกปฏิบัติก็จะยิ่งเกิดขึ้นในหลายมิติมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนอกเหนือไปจากการเลือกปฏิบัติแล้ว ก็อาจนำไปสู่การคุกคามได้มากขึ้นอีกด้วย เช่น ในสถานประกอบการที่มีการเหยียดผู้หญิงก็อาจจะมีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้บ่อย เพราะผู้ชายในองค์กรมีความเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องให้เกียรติผู้หญิง ซึ่งจากผลสำรวจในปี 2018 พบว่า ผู้หญิง 59% เคยถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน


ทำอย่างไรจึงจะลดการเหยียดลงได้?


1. ปลูกฝังให้คนในสังคมมี empathy ฝึกคิดและรู้สึกในมุมของคนที่แตกต่างไปจากตนเอง แม้ตนเองจะไม่เคยอยู่ในจุดนั้นและไม่เคยมีประสบการณ์เช่นเดียวกันนั้นมาก่อนเลยก็ตาม โดยอาจจะลองจินตนาการดูก็ได้ว่าถ้าเราเป็นเขาเราจะรู้สึกอย่างไรหากถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกคุกคามรังแก


2. จัดกิจกรรมทางสังคมให้คนที่มีความแตกต่างกันได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ตัวอย่างเช่น กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดจากไอเดียของกลุ่มคนที่ต้องการให้ ‘อคติ’ และ ‘ความคิดแบบเหมารวม’ ที่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันหายไป โดยกิจกรรมนี้เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศเดนมาร์กและดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 21 ปี


3. รณรงค์เกี่ยวกับการตระหนักรู้ในตนเอง สร้างสื่อหรือกระแสที่ชวนให้คนในสังคมฝึกสังเกตความคิดของตนเอง มีสติก่อนที่จะคิด-พูด-ทำอะไรออกไป และคอยสำรวจตรวจสอบว่าความคิดของตนเองมันสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่


4. ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับพฤติกรรมของคนในสังคมให้มีการเหยียดลดลง ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมมากขึ้น


แม้ว่าความเท่าเทียมกันเป๊ะ ๆ อาจจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยาก แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรปล่อยให้ในสังคมมีการเหยียดเกิดขึ้นจนเกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะในเชิงของความรุนแรงในสังคม การเลือกปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสหรือรัฐสวัสดิการ ที่มักนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตซึ่งผลสุดท้ายทุกคนในสังคมก็จะต้องได้รับผลกระทบกลับคืนมาไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจากบุคคลที่ถูกเหยียดและกลายเป็นคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต หากยังนึกภาพตามไม่ออก ลองนึกถึงตัวละคร Joker เวอร์ชั่นปี 2019 ก็ได้ค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG

 

อ้างอิง

[1] คุณเคย ตัดสินคนอื่นจากอาชีพ หรือเปล่า?. Retrieved from. https://www.skillsolved.com/article/have-you-ever-judge-people-by-their-job/

[2] PRINCIPLES OF SOCIAL PSYCHOLOGY. Retrieved from. https://opentext.wsu.edu/social-psychology/chapter/module-9-prejudice/

[3] In-group Out-group Bias ความรู้สึกอคติที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ. Retrieved from. https://review.thaiware.com/1667.html

[4] What's behind prejudice? Retrieved from. https://www.apa.org/monitor/oct04/prejudice

[5] How People Develop Prejudices. Retrieved from. https://www.verywellmind.com/what-is-prejudice-2795476

[7] อย่าตัดสินหนังสือจากปก Human Library โปรเจกต์ชวนอ่านมนุษย์เพื่อสร้างความเข้าใจกันและกัน. Retrieved from. https://adaymagazine.com/human-library-think-positive/



บทความที่เกี่ยวข้อง

 


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page