top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ความกลัวการขัดแย้งแก้ไขได้ด้วยการสื่อสารอย่างสันติ



เชื่อว่าทุกคนต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งในความสัมพันธ์กับใครสักคน โดยเฉพาะกับคนในครอบครัว พ่อแม่ แฟน คู่สมรส เพื่อนสนิท ซึ่งบุคคลเหล่านี้ถือว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางใจเพราะพวกเขาเป็นคนที่เราแคร์ เวลาที่เกิดความขัดแย้งกันจึงมักส่งผลต่อจิตใจเป็นอย่างมาก ทำให้หลายคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพราะกลัวว่าจะสูญเสียความสัมพันธ์ไป


และวิธีการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ก็คือ “เลือกที่จะเก็บปัญหาเอาไว้ในใจ” นำไปสู่การมีความสัมพันธ์แบบไม่สื่อสาร ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกันมากขึ้น บทความนี้จึงอยากแนะนำวิธีในการลดความขัดแย้งลงได้แบบที่ยังคงสื่อสารกันอยู่ก็คือ “การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication: NVC)”


การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication: NVC) คิดค้นขึ้นโดย Marshall B. Rosenberg ผู้ก่อตั้งศูนย์ที่มีชื่อว่า “The Center for Nonviolence Communication” Rosenberg เกิดที่เมือง Detroit ในรัฐ Michigan ซึ่งที่นั่นทำให้เขาพบเห็นความรุนแรงหลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นรอบตัวของเขา ทำให้เขาเกิดแรงจูงใจในการค้นหาสาเหตุของความรุนแรงและต้องการหาแนวทางในการลดความรุนแรงเหล่านั้นลง เขาจึงเลือกเรียนในสาขาจิตวิทยาคลินิกและได้รับปริญญาเอกจากสาขาดังกล่าวในปี ค.ศ. 1961 โดยศูนย์ที่ Rosenberg ก่อตั้งนั้นมีวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการลดความรุนแรงในสังคมลง เช่น

  • ทุกคนมีคุณค่าคู่ควรที่จะได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ผ่านการใช้ชีวิตที่มีสติรู้ตัว เชื่อมโยงกับสรรพสิ่งที่เป็นแหล่งพลังงานของชีวิต และกลมกลืนกับธรรมชาติ

  • ทุกคนสามารถโอบรับความเป็นตัวเองได้อย่างมีเมตตากับตัวเอง (Self-compassion)

  • ผู้คนมีจิตใจที่เบิกบานและมีเมตตาต่อกัน แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีที่สันติ


การสื่อสารอย่างสันติเป็นเครื่องมือสำหรับการเข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งสามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั้งในส่วนที่เป็นความสัมพันธ์ระดับบุคคลหรือความสัมพันธ์ระดับองค์กร โดยกระบวนการของการสื่อสารอย่างสันติจะเน้นให้ถอยออกมาเป็นผู้สังเกตแทนที่จะปล่อยตัวเองให้จมดิ่งหรือไหลไปกับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างขาดสติ ฝึกมองเรื่องราวต่าง ๆ ให้แจ่มชัดมากขึ้นผ่านการสังเกตอย่างไม่ตัดสินหรือประเมิน (ด้วยอคติ)


ยกตัวอย่างเช่น ฝึกเปลี่ยนจากการตัดสินประเมินสิ่งที่คนอื่นทำว่ามันถูกใจหรือไม่ถูกใจเรา เป็นการกลับมาสังเกตตัวเองว่า “ฉันรู้สึกอะไรกับเหตุการณ์นี้” แล้วจับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ เช่น กลัว เจ็บปวด เบิกบาน ขบขัน ขัดเคืองใจ ฯลฯ เมื่อสังเกตตนเองจนสามารถเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นในส่วนของการสื่อสารความต้องการออกไป สรุปโดยรวมกระบวนการของการสื่อสารอย่างสันติจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่


1. การสังเกต (ถอยออกมาเป็นผู้สังเกตความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง)

2. การระบุความรู้สึกของตัวเองที่ค้นพบจากการสังเกตโดยไม่ตัดสินประเมินใด ๆ

3. การเชื่อมโยงความรู้สึกและความต้องการของตัวเองเข้าด้วยกัน


ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลในทุกความสัมพันธ์ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการคุยกันแล้วขัดแย้ง แต่มันเกิดจากการที่ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจตัวเองทำให้สื่อสารความต้องการของตัวเองออกไปได้อย่างยากลำบาก รวมถึงขาดทักษะในการสื่อสารแบบที่ไม่สร้างความขัดแย้ง


การขาดความสามารถในการสื่อสารความต้องการของตัวเองจะทำให้ความรู้สึกไม่พอใจสะสมขึ้นทีละเล็กละน้อย แต่แม้ว่ามันจะเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ หากสะสมเอาไว้ในใจเป็นเวลานาน มันก็จะเปรียบเสมือนน้ำในเขื่อนที่หากมันมีปริมาณที่เขื่อนรองรับได้ก็จะไม่เป็นไร แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเกิดขีดความสามารถของเขื่อนที่จะรับไหว เขื่อนมันก็จะแตก


โดยมากแล้วความขัดแย้งระหว่างบุคคลมักเกิดขึ้นเพราะไม่มีใครฟังใคร ต่างฝ่ายต่างคาดหวังให้ตนเองเป็นฝ่ายถูกรับฟังโดยไม่คิดที่จะรับฟังคนอื่น รวมถึงอยากให้อีกฝ่ายทำตามความคาดหวังต้องการของตัวเอง จึงทำให้ไม่มีใครยอมใครและเกิดความขัดแย้งกันในที่สุด


ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่วัยรุ่นและผู้ใหญ่มีความขัดแย้งกัน วัยรุ่นก็มักจะเชื่อว่าผู้ใหญ่ไม่รับฟังตน ไม่เข้าใจตน ส่วนฝ่ายผู้ใหญ่ก็เชื่อว่าวัยรุ่นดื้อรั้นไม่ฟังใคร อวดดี เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจความต้องการของตัวเอง มองอีกฝ่ายอย่างตัดสินประเมินด้วยอคติ รวมถึงไม่สามารถเชื่อมโยงความต้องการและความรู้สึกของตนเองเข้าด้วยกัน ก็จะสื่อสารออกไปแบบไม่นิ่มนวลหรืออาจใช้วิธีการสื่อสารที่ทำให้สถานการณ์มันแย่ลง


ผู้เขียนจึงอยากเสนอวิธีการสื่อสารอย่างสันติเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้ง ได้แก่

  • หมั่นสำรวจความรู้สึกและความต้องการของตนเอง

  • การเข้าใจคนอื่นไม่จำเป็นต้องละทิ้งความต้องการของตัวเอง จัดสมดุลความเข้าใจให้สามารถเข้าใจได้ทั้งตัวเองและคนอื่น

  • รับรู้ความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีร่วมกัน ด้วยการเปิดใจรับฟังอย่างลึกซึ้งทั้งเสียงภายในใจตัวเองและเสียงของคนอื่น

  • พยายามมีสติรู้ตัวและเตือนตัวเองเสมอว่า “สิ่งใดที่คนอื่นทำกับเราแล้วเราไม่ชอบ ก็อย่าทำสิ่งเดียวกันนี้กับคนอื่น”

  • อย่าลืมใจดีกับตัวเองด้วย ต่อให้มีคนมากมายตัดสินหรือตำหนิเรา แต่อย่าให้เราเป็นหนึ่งในนั้นที่ตัดสินตำหนิตัวเอง การให้อภัยตัวเองจะช่วยให้จิตใจของเราอ่อนโยนลง และเมื่อเราอ่อนโยนกับตัวเอง เราก็จะอ่อนโยนกับคนอื่นตามไปด้วยอย่างไม่น่าเชื่อ


หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่


หรือหากคุณต้องการพัฒนาภาวะผู้นำ สู่การเป็นผู้นำที่ใช้ "หัวใจ" ทาง iSTRONG ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอนาคตของผู้นำ จึงได้ออกแบบ "คอร์ส Heart-to-Heart Leadership" ที่จะพัฒนาให้คุณเป็น "ผู้นำ" ที่ใช้ "หัวใจ" อย่างแท้จริง


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[1] About the Center for Nonviolent Communication. https://www.cnvc.org/about

[2] การสื่อสารอย่างสันติ. https://semsikkha.org/2019/nvc-curriculum/


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นนักเขียนของ ISTRONG และเป็นทาสแมว


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page