top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Parental burnout เมื่อพ่อแม่หมดไฟ ต้องเติมพลังใจก่อนไปเลี้ยงลูก



Parental burnout หรือภาวะพ่อแม่หมดไฟ คือภาวะที่พ่อ หรือแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็กเกิดความเหนื่อยกับการเลี้ยงลูก ท้อแท้ หมดพลัง ไร้เรี่ยวแรง หรือดูแลลูกจนไม่ได้พักผ่อน อีกทั้งในทัศนคติของคนทั่วโลก หากใครสักคนได้อยู่ในสถานะแม่ หรือพ่อก็ตาม ยอมถูกคาดหวังว่าจะต้องเลี้ยงลูก ดูแลลูกให้ดี ยิ่งถ้าเป็นพ่อเป็นแม่แบบทุ่มเทจะยิ่งได้รับการยกย่องชมเชย จนหลงลืมกันไปว่า พ่อ แม่ ก็เป็นคน ต้องการการพักผ่อน มีความรู้สึกทางลบ มีจิตใจ และไม่ได้เข็มแข็งตลอดเวลา นั่นจึงทำให้พ่อ แม่ มีความกดดันอย่างมากในการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของพ่อ แม่มือใหม่ และพ่อ แม่เลี้ยงเดี่ยว จนนำไปสู่ภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental burnout) ซึ่งเมื่อพ่อ แม่ กลายเป็นพ่อแม่หมดไฟแล้วไม่ได้รับการเติมพลังใจ หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือ ก็จะกลายเป็นพ่อ แม่หมดใจ ไม่อยากเลี้ยงลูก ดุ ด่า ลูก ทำร้ายลูก หรือทำร้ายตัวเองในที่สุด


จากงานวิจัยทางจิตวิทยาของคุณวิวรรณา คล้ายคลึง และคณะ เมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้พบว่า พ่อแม่หมดไฟ (Parental burnout) นั้นมีสาเหตุใหญ่ ๆ ดังนี้


1. ความเครียดในการเลี้ยงดูลูก

การที่เราจะต้องรับผิดชอบชีวิตของใครนั่นย่อมมีความกดดันมากอยู่แล้ว ยิ่งการที่เราต้องรับผิดชอบชีวิตเด็กคนหนึ่งที่เพิ่งเกิดมา แล้วทะนุถนอม เลี้ยงดู อบรม รับผิดชอบทุกอย่างในชีวิตของคน ๆ หนึ่งจนเขาเติบใหญ่นั้น เป็นงานที่หนักหนามาก และเลิกกลางครันไม่ได้ ทั้งนี้ จากการวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า ผู้เลี้ยงดูเด็กในช่วงปีแรกนั้นมีความเครียดถึง 87.91% และมีความเครียดในระดับสูง ถึง 36.00%


2. สถานการณ์ทางการเงินในครอบครัว

จากงานวิจัยทางจิตวิทยา พบว่า ภาวะพ่อแม่หมดไฟ หรือ Parental burnout มีความสัมพันธ์โดยตรงกับสถานะทางการเงินของครอบครัว เพราะการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพนั้นต้องใช้เงินมหาศาล นั่นจึงทำให้พ่อ แม่ นอกจากจะมีหน้าที่เลี้ยงลูกแล้ว ยังต้องมีหน้าที่ทำงานหาเงินมาเลี้ยงลูก ยิ่งในกรณีของพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว ยิ่งเหนื่อยหนักเพราะไม่มีคนสับเปลี่ยนเลี้ยงดุลูก ต้องทำทั้งสองอย่างไปพร้อม ๆ กัน


3. ความเหน็ดเหนื่อยในการเลี้ยงลูก

ในการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีความสุขและมีคุณภาพ พ่อ แม่ หรือผู้เลี้ยงดูต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ เวลา และเงินในการดูแลลูก จึงทำให้ไปรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างดิฉันเองตอนที่คลอดลูกได้เดือนแรกแทบไม่ได้นอนเลยค่ะ เพราะวงจรการหลับการตื่นของเด็กสั้นมาก แค่ 3 ชั่วโมงเอง กว่าเราจะให้นม กล่อมเขาหลับ แล้วมาปั๊มนมเก็บไว้ เขาก็ตื่น ไหนจะงานบ้านที่ต้องทำอีก ทำให้ในช่วงนั้นไม่ได้มีเวลาจะดูแลตัวเองเลยค่ะ ซึ่งงานวิจัยทางจิตวิทยาก็ได้พบว่า ความเหน็ดเหนื่อยในการเลี้ยงลูก มีความสัมพันธ์อย่างมากกับอาการซึมเศร้าของพ่อ แม่ และผู้เลี่ยงดูเด็กค่ะ


4. ปัญหาสุขภาพ

เนื่องจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจ และเวลาในการดูแลลูก จึงทำให้พ่อ แม่ ผู้เลี้ยงดูส่วนใหญ่ลืมที่จะดูแลตนเอง เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารน้อย ออกกำลังกายน้อยมาก นอนหลับไม่เต็มที่ พักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ ทรุดโทรม และมีแนวโน้มว่าจะยอมให้ตนเองเจ็บป่วยเรื้อรัง เพื่อใช้เวลาในการดูแลลูก และไม่ยอมไปหาหมอ หรือไปรักษาเพราะต้องการที่จะเก็บเงินไว้เลี้ยงลูก


5. ความสงสัยในคุณค่าของตนเอง

ด้วยค่านิยม และทัศนคติสากลที่คาดหวังว่าพ่อ แม่ ต้องเลี้ยงลูกให้ดี มีคุณภาพ จึงทำให้พ่อ แม่ เกิดความสงสัยในคุณค่าของตนเองอยู่เสมอ เพราะมักจะมีสิ่งท้าทายความเชื่อมมั่นในตนเองของเราอยู่ตลอด เช่น เวลาที่ลูกป่วย เวลาที่ลูกบาดเจ็บ เวลาที่ลูกถูกเปรียบเทียบในเชิงพฤติกรรม หรือผลการเรียนกับลูกคนอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าจะเทียบกันเพื่ออะไร และคนเทียบมีเจตนาอะไร แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนเป็นแม่ เป็นพ่อ มักจะมีแนวโน้มที่จะโทษตนเองอยู่เสมอ และความรู้สึกผิดนี้เองที่ลดทอนคุณค่าของพ่อ แม่ลงโดยไม่รู้ตัว


6. การไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว

ปัญหาสำคัญที่ทำให้พ่อแม่หมดไฟ (Parental burnout) ก็คือ การไม่ได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัวในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลาย ๆ ด้าน หรือบ้างบ้านหนักกว่านั้น คือ ไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากครอบครัวเลย เอาตรง ๆ นะคะ คนเป็นพ่อ เป็นแม่อย่างเรา ก็ต้องการที่จะเลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง แต่ก็มีบางช่วงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือบ้าง เช่น เวลาที่เข้าห้องน้ำ เวลารับประทานอาหาร บางช่วงเวลาที่เจ็บป่วยหนัก หรือมีธุระด่วน เราก็หวังพึ่งพิงคนในครอบครัวที่เราไว้ใจที่สุดให้ดูแลลูกให้เรา แต่หากถูกปฏิเสธการช่วยเหลือพ่อ แม่ ก็จะมีความเครียดพุ่งสูง และแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธตามมา


ทั้งนี้ หากเราตกอยู่ในภาวะพ่อแม่หมดไฟ (Parental burnout) อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ สามารถแก้ไขได้ด้วยการเติมพลังใจด้วยวิธีการต่อไปนี้


1. ยอมรับข้อจำกัดของตัวเราเอง

หากเหนื่อยก็พัก หากหัวร้อนก็ Time out ตัวเอง หรือแยกตัวออกมาจากลูก ก่อนที่เราจะระเบิดอารมณ์ใส่ลูก หรือใส่คนรัก หรือใส่ใครก็ตาม เพราะการทำร้ายจิตใจกันไม่ได้ทำให้เราหายเหนื่อย และไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นแต่อย่างใด


2. ขอความช่วยเหลือจากคนที่เราไว้ใจ

ถ้าต้องการพักผ่อน หรือมีธุระด่วน อย่าทนเครียดกับความกังวลและห่วงใยเรื่องลูกค่ะ ลองขอความช่วยเหลือจากคนในบ้าน หรือในครอบครัวก่อน หากคนในครอบครัวไม่สะดวกจริง ๆ ลองถามเพื่อนสนิท คุณครูของลูก หรือคนที่คุณไว้ใจดูก่อนนะคะ เชื่อแน่ว่าหากเราขอความช่วยเหลือ มีคนพร้อมช่วยอยู่แล้วค่ะ


3. หาเวลาไปเติมความสุขให้ตัวเองบ้าง

หากเครียดนักก็หยุดพักก่อนค่ะ ขนาดทำงานยังมีลาพักร้อน การเป็นพ่อ เป็นแม่ก็ต้องมีพักบ้าง หากแม่เครียดก็สลับกับพ่อ แล้วออกไปเที่ยวกับเพื่อน ไปพักผ่อนตามอัธยาศัย หากพ่อเครียดก็เปลี่ยนกับแม่แล้วออกไปเล่นเกม หรือสังสรรค์กับเพื่อน ให้มีแรงใจแล้วกลับมาเลี้ยงลูกใหม่ด้วยจิตใจที่เบิกบาน


4. ดูแลตัวเองให้ดี

เป้าหมายในการเลี้ยงลูกของพ่อ แม่ ทุกคน ก็คือ การอยู่ดูลูกใช้ชีวิตให้นานเท่าที่จะเป็นไปได้ และการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ เราก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีเสียก่อน โดยการออกกำลังกายให้เลือกสูบฉีด ให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ดูแลจิตใจให้เข้มแข็ง และใช้ชีวิตให้มีความสุขค่ะ


5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา

หากการเลี้ยงลูกทำให้ความสุขในชีวิตลดลง หรือดูแล้วเห็นว่าลูกไม่มีความสุข หรือมีปัญหาทางพฤติกรรม หรือทางอารมณ์ก็ตาม แนะนำให้พาลูกและครอบครัวเข้าขอคำปรึกษาจากผุ้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาค่ะ เพราะผู้เชี่ยวชาญมีมุมมองดี ๆ และคำแนะนำดี ๆ หรือ มีวิธีที่จะช่วยเหลือเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อความสุขที่ยั่งยืนของครอบครัวเรา


หากถามว่าสิ่งใดคือความมหัศจรรย์ของชีวิต ดิฉันขอยกให้กับการมีลูกค่ะ เพราะการที่คน ๆ หนึ่งจะเกิดและเติบโตขึ้นมาในตัวเรานั้นช่างมหัศจรรย์มาก แต่ถ้าถามสิ่งใดที่ทำให้มีความสุขที่สุด ก็ขอตอบว่าการดูแลลูก และเห็นลูกเติบโตค่ะ เพราะฉะนั้นแล้วหากความสุขของคุณ คือ ลูก ขอให้ดูแลตัวเองให้มีความสุข เพราะเมื่อเรามีความสุข ดูแลตัวเองดี เราจะสามารถมีชีวิตยืนยาวพอที่จะดูลูกเติบโตอย่างมีความสุขค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

1. วิวรรณา คล้ายคลึง, วรรณี เดียวอิศเรศ และ จินตนา วัชรสินธุ์. (2561, มกราคม – มีนาคม). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดในการทeบทบาทแม่ของย่า/ยายที่เลี้ยงดูหลานวัยขวบปีแรก. วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. 26 (1) : 17 – 18.

2. Mommy Gift. (2566, 24 มีนาคม). เลี้ยงลูกจนหมดไฟ (Parental Burnout) ทำอย่างไรดี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566 จาก https://simplymommynote.net/health/parenting-burnout/

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page