Parental Burnout เมื่อพ่อแม่หมดไฟ จะทำยังไงเพื่อฟื้นพลัง
เมื่อพูดถึงคำว่าหมดไฟ (Burnout) ส่วนใหญ่เราก็มักจะนึกถึงในบริบทของการทำงาน เพราะว่าจุดกำเนิดของคำว่า Burnout นั้นมีที่มาจากคำนิยามขององค์การอนามัยโลกที่ได้ประกาศให้ Burnout syndrome เป็นโรคที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางก่อนจะรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งมันก็เกิดขึ้นจากความเครียดเรื้อรังในบริบทอื่นได้อย่างเช่นการเรียน หรือแม้แต่การเป็นพ่อแม่ก็สามารถเกิดอาการหมดไฟได้เช่นกัน
อาการหมดไฟในพ่อแม่ (Parental Burnout) คืออะไร?
อาการหมดไฟในพ่อแม่ก็คือภาวะความเหนื่อยล้าทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก ซึ่งอาจจมาจากหลายสาเหตุ เช่น มีความเครียดและความเหนื่อยล้าจากงานอยู่แล้ว เมื่อกลับบ้านมาก็ต้องทำงานบ้าน หากับข้าวกับปลา ดูแลลูก กว่าจะได้พักก็แทบหมดแรงแล้ว
นอกจากนั้น Robyn Koslowitz นักจิตวิทยาคลินิกซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ Center for Psychological Growth of New Jersey ได้กล่าวว่า พ่อแม่บางคนที่มีประสบการณ์ในวัยเด็กที่ทำให้เกิดบาดแผลทางใจมีแนวโน้มที่จะมีมุมมองต่อตนเองอย่างบิดเบือนไป เช่น เชื่อว่าตนเองจะไม่สามารถเป็นพ่อแม่ที่ดีให้กับลูกได้ เชื่อว่าพ่อแม่ของตนเองมีความสามารถสูงมากจนรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าพ่อแม่หรือไม่ดีพอ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มักนำไปสู่อาการหมดไฟได้ง่าย
สัญญาณบ่งชี้อาการหมดไฟในพ่อแม่
อาการหมดไฟในพ่อแม่อาจจะปรากฏขึ้นผ่านอาการแสดงออกต่าง ๆ ซึ่งแต่ละบุคคลก็อาจจะมีอาการแตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาการหมดไฟในพ่อแม่มักปรากฏในรูปแบบ ดังนี้
เกิดความเหนื่อยล้า รู้สึกเพลีย หรือเหมือนกับพลังชีวิตมันเหือดแห้งอยู่เกือบตลอดเวลา
รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะจัดการอะไรได้ รู้สึกสิ้นหวัง หรือสงสัยในคุณค่าของตัวเอง
ปวดหัว ปวดตึงคอบ่าไหล่หรือกล้ามเนื้อตามร่างกาย
ขาดแรงจูงใจ
พฤติกรรมการกินการนอนเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
รู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยกไปจากคนอื่น
หงุดหงิดง่าย
เริ่มแยกตัวจากคนอื่น ๆ ไม่อยากพบปะพูดคุยกับใคร
ถ้าพ่อแม่มีอาการหมดไฟควรทำยังไงดี?
อาการหมดไฟในพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่ควรปล่อยผ่าน เนื่องจากพ่อแม่ที่เกิดสภาวะเครียดเรื้อรังและมีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์อาจส่งผลต่อรูปแบบและวิธีในการเลี้ยงดูลูกได้ เช่น พ่อแม่อาจจะเกิดความรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาที่บ้านและตะคอกใส่ลูก หรือเกิดอาการฟิวส์ขาดจึงใช้วิธีลงโทษลูกแบบรุนแรง ซึ่งพฤติกรรมของพ่อแม่ที่มีความเครียดเรื้อรังอาจนำไปสู่การสร้างบาดแผลทางใจให้กับลูกได้ พ่อแม่ทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตตนเองโดยเฉพาะในด้านอารมณ์ หากพบสัญญาณบ่งชี้ว่าตนเองเข้าข่ายการมีภาวะเครียดหรือหมดไฟควรเริ่มต้นดูแลตนเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. หันมาเริ่มต้นดูแลสุขภาพของตนเอง
พ่อแม่หลายคนมักจะลืมใส่ใจสุขภาพของตนเอง อาจเพราะมีภารกิจมากมายทั้งเรื่องงาน หรืออาจโฟกัสแต่สุขภาพของลูกจนลืมไปว่า self-care ก็มีความสำคัญ ดังนั้น พ่อแม่ควรเริ่มกลับมาดูแลสุขภาพของตนเองบ้าง ด้วยการนอนหลับให้เพียงพอ เลือกการออกกำลังกายที่มีความเหมาะสมกับสภาพร่างกายจิตใจของตนเอง กินอาหารที่มีประโยชน์ และหากคุณเป็นพ่อแม่ที่มีความเชื่อว่า “ลูกต้องมาก่อน” จนทำให้ละเลยตัวเองไปจนหมด ขอให้คุณปรับมุมมองเสียใหม่ เพราะอย่าลืมว่าหากคุณไม่ดูแลตัวเองจนร่างกายจิตใจเกิดความเจ็บป่วยขึ้นมา แล้วใครจะมาดูแลลูกของคุณได้ดีเท่ากับคุณ
2. พูดคุยกับคนในครอบครัว
เมื่อเกิดอาการเหนื่อยล้าหรือมีสัญญาณของอาการหมดไฟ คุณควรพูดคุยกับคนในครอบครัวให้รับรู้ว่าตอนนี้มันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับคุณอยู่ เพราะหากคุณพยายามแบกรับและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง คุณอาจจะไปสู่จุดที่ไม่ไหว ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่สามารถที่จะคาดเดาได้เลยว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นตามมา แต่หากคุณลองเปิดใจพูดคุยกับคนในครอบครัวของคุณว่าคุณกำลังเหนื่อยล้าหมดไฟ คนในครอบครัวของคุณก็จะสามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือคุณได้ ซึ่งดีกว่าคุณพยายามแบกรับทุกอย่างเอาไว้คนเดียว
3. หาโอกาสพักผ่อนให้กับตัวเอง
พ่อแม่หลายคนอาจจะเกิดความรู้สึกผิดที่ให้โอกาสตัวเองได้ไปพักผ่อน แต่นั่นเป็นความคิดที่ไม่มีผลดีกับใครเลยรวมถึงลูกด้วย เพราะพ่อแม่ที่เหนื่อยล้ามากเกินไปอาจแสดงอารมณ์ทางลบออกมาโดยไม่รู้ตัว ต่างจากพ่อแม่ที่รู้เท่าทันอารมณ์และความเครียดของตนเองจึงพยายามหาโอกาสไปพักผ่อนหย่อนใจบ้าง นอกจากนั้น หากคุณเป็นคู่สมรสที่เริ่มตึง ๆ ใส่กัน การฝากลูกไว้กับคนอื่นเป็นบางเวลาเพื่อหาโอกาสไปเดทกันตามลำพังเหมือนสมัยที่ยังไม่มีลูกบ้าง ก็อาจจะได้ทั้งการฟื้นฟูพลังกายพลังใจ และอาจจะได้โอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ปรับความเข้าใจกับคู่สมรสไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งหากคุณได้ลองติดตามข่าวคู่รักดาราบางคู่ก็จะพบว่าพวกเขาใช้เคล็ดลับแบบนี้ในการรักษาความสัมพันธ์ของเขาเช่นกัน
4. ฝึกใจดีกับตัวเอง
บ่อยครั้งคนเป็นพ่อแม่ก็เคี่ยวเข็ญกดดันตัวเองให้สมบูรณ์แบบหรือไม่มีข้อผิดพลาด บางคนถึงขั้นไม่อนุญาตให้ตัวเองมีอารมณ์ทางลบเกิดขึ้นเลย แต่ก็มักจะพบว่ายิ่งอยากจะเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบมากเท่าไหร่ มันกลับยิ่งทำให้ทุกอย่างพังหรือแย่ลงไปเท่านั้น ดังนั้น คุณจึงควรฝึกที่จะใจดีกับตัวเอง เช่น อนุญาตให้ตัวเองโกรธได้ ร้องไห้ได้ บอกตัวเองว่าไม่เห็นจำเป็นต้องเป็น super dad/ super mom เลย และเมื่อมีปัญหาก็สามารถขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้นะ
5. พบผู้เชี่ยวชาญ
การพบผู้เชี่ยวชาญเป็นวิธีที่ดีมากวิธีหนึ่ง ซึ่งหากคุณไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเผชิญอยู่กับปัญหาทางอารมณ์จิตใจก็อาจจะเริ่มต้นด้วยการปรึกษาจิตแพทย์เด็กเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูกที่เหมาะสมก่อนก็ได้ หรือหากคุณเป็นคนที่รู้ตัวแล้วว่าตัวเองเริ่มไม่ไหว ก็อยากเชิญชวนให้ลองเปิดใจพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด หรือลองไประบายกับนักให้คำปรึกษาก็ได้ค่ะ เพราะหากปล่อยเอาไว้นานมันอาจจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตขึ้นมาได้ เช่น โรคซึมเศร้า ฯลฯ
แบบประเมินภาวะ BURNOUT และความเครียด <----- คลิก
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] Dear Exhausted and Burnt Out Parents, We’re Here to Help. Retrieved from. https://www.healthline.com/health/parenting/parental-burnout
[2] The impact of parental burnout. Retrieved from. https://www.apa.org/monitor/2021/10/cover-parental-burnout
[3] BURNOUT SYNDROME อย่ารอให้หมดไฟในการทำงาน. Retrieved from. https://www.bangkokhospital.com/content/burnout-syndrome
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments