top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 แนวทางลดความร้อนเรื่องความเห็นต่างทางเมืองด้วยจิตวิทยาการสื่อสาร

ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นทุกวัน ทำให้สภาวะอารมณ์ของคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองในบ้านเราพร้อมปะทุได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งเราจะเห็นได้จาก Twitter, Facebook หรือ ข่าวสารบ้านเมือง ที่คนในบ้านเราพร้อมจะชนกันด้วยเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง และอาวุธหลักที่ใช้ ก็คือ “การสื่อสาร” ค่ะ ไม่ว่าจะเป็น Hate Speech การสร้างข่าวลือ การใส่สี สาดโคลน ตีไข่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ความร้อนทวีกลายเป็นความรุนแรง และก็คงวนลูปกลับไปเป็นเช่นประวัติศาสตร์การเมืองเดิม ๆ ที่มีความแตกแยก เกิดความสูญเสีย และคนที่ได้รับผลกระทบที่สุด ก็คือ ประชาชนคนธรรมดาอย่างพวกเราทุกคนนี้ละค่ะ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจแย่ ไม่มีความปลอดภัยในชีวิต ไม่มีความมั่นคงทางการเมือง

ฉะนั้นจะดีกว่าหรือไม่หากเราสามารถลดความร้อนเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองด้วยเครื่องมือเดียวกัน นั่นก็คือ “การใช้จิตวิทยาการสื่อสาร”

โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำในการใช้จิตวิทยาการสื่อสารเพื่อลดความร้อนเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง ไว้ 3 แนวทาง ดังนี้ค่ะ

1. ไม่สื่อสารเรื่องการเมืองด้วยการใช้ Hate Speech

Hate Speech หรือคำภาษาไทยสวย ๆ ว่า ประทุษวาจา หมายถึง การใช้คำพูด ตัวอักษร หรือการใช้คำสื่อสารในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในการทำร้ายฝ่ายตรงข้าม เช่น คลิปวีดิโอ รูปภาพ การตัดข้อความ เสียง บทกวี และอี่น ๆ อีกมากมาย

โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความเกลียดชังต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลอย่างชัดเจน โดยพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ สิ่งที่รัก เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ ชนชั้น ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อกำจัดคนที่ไม่ใช่พวกตัวเอง หรือไม่เหมือนตัวเองออกไปจากสังคม

เพราะฉะนั้นแล้ว จิตวิทยาการสื่อสารเบื้องต้นเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง ก็คือไม่ใช่ Hate Speech ในการสื่อสารเรื่องการเมือง แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าถ้อยคำที่เราใช้เป็น Hate Speech หรือไม่ ดิฉันขออนุญาตแนะนำเพิ่มเติมว่า ส่องเงียบ ๆ ดีกว่าค่ะ เดี๋ยวงานจะเข้า ทัวร์จะลงโดยไม่ได้เตรียมใจ

2. ไม่แชร์ข้อมูลทางการเมืองที่อาจสร้างความเกลียดชัง

นอกจากการใช้ Hate Speech เป็นเครื่องมือในการสร้างความรุนแรงระหว่างคนที่เห็นต่าง ทางการเมืองแล้ว การส่งต่อ Hate Speech เหล่านั้นไปยังกลุ่มของตัวเอง หรือฝ่ายตรงข้ามก็ตาม ยิ่งจะไปทำให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยกทางการเมืองมากขึ้นค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งต่อข่าวปลอมภาพตัดต่อ คลิปวีดิโอหรือคลิปเสียงที่ตัดมาเฉพาะบางช่วงบางตอนที่ไปสร้างความเกลียดชัง ยิ่งเหมือนเราสาดน้ำมันในกองไฟ

เพราะฉะนั้น เพื่อลดความรุนแรงของคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองลงหลักการทางจิตวิทยาการสื่อสารขั้นต่อไป ก็คือ ควรตรวจสอบความชัวร์ของข้อมูลก่อนแชร์ หรือทางที่ดี ไม่แชร์เลยจะดีที่สุดค่ะ

3. ใช้ถ้อยคำสุภาพในการแสดงความคิดเห็น

คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ผจญคนมักโกรธด้วยไมตรี” ความหมายก็คือ จงยิ้มแย้มแจ่มใสแม้แต่กับคนที่หัวร้อนง่าย หรือคนที่ไม่น่าคบ ซึ่งเป็นจิตวิทยาการสื่อสารที่ดีอีกแนวทางหนึ่งนะคะ เพราะเมื่อเราแสดงความคิดเห็น หรืออธิบายในสิ่งที่อีกฝ่ายเห็นต่าง โดยเฉพาะเรื่องการเมืองด้วยความสุภาพ นุ่นนวล ไม่ให้ร้าย ต่อให้คนที่เห็นต่างทางการเมืองจะหัวร้อนมา ก็ต้องดึงสติและโต้ตอบกลับมาด้วยความสุภาพเช่นกัน เมื่อเราสื่อสารกันด้วย “ความเป็นมนุษย์” คือ ให้เกียรติ เคารพในความคิดเห็นที่ถึงแม้จะแตกต่าง รับฟังอย่างสงบ เท่านี้ความแตกแยกก็จะไม่เกิดค่ะ

หลักจิตวิทยาสามารถนำมาใช้ได้ในทุกเรื่องเลยนะคะ และยิ่งในสถานการณ์ที่มีความรุนแรง และเปราะบางต่อการทำลายความสัมพันธ์เช่นนี้ การนำหลักการจิตวิทยามาใช้จึงเป็นเรื่องจำเป็นเลยละค่ะ โดยเรื่มจากเรื่องที่เราใช้เป็นประจำอยู่แล้ว เช่น การสื่อสาร เพื่อใช้ในการลดความรุนแรงเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง และยังทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนอื่น ๆ ได้อย่างปกติสุขด้วยค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต. 2561. พ่อสอนให้...ให้ การให้คือการปฐมพยาบาลทางใจ คุณก็ช่วยคนอื่นได้. นนทบุรี ; กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 36.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA

มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี

ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page