top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 ปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดได้ในระหว่าง Work from home และการกักกันตัวเอง


work from home

ด้วยแนวโน้มความรุนแรงของสภาพการณ์โควิด-19 ที่ดูมีทิศทางว่าผู้ป่วยจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็น exponential ทำให้การประกาศหยุดงาน และนโยบาย work from home รวมถึงคนที่เข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยงต้องแยกตัวเองออกจากคนอื่นเพื่อเฝ้าระวังอาการมีมากขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรส่วนใหญ่ก็ให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้านกันเรียบร้อยแล้ว ในมุมมองของนักจิตวิทยา การทำงานที่บ้านนั้นอาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างรุนแรงของพนักงาน รวมทั้งองค์กรเองก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง และหาเครื่องมือมาช่วยมอนิเตอร์การทำงานที่บ้านของพนักงานกันยกใหญ่ นอกจากเรื่องประสิทธิภาพการทำงานแล้ว สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังตามมาสำหรับคนที่ต้องทำงานที่บ้าน หรือที่ต้องตัดขาดจากผู้คนเป็นระยะเวลานาน ๆ คืออาจเกิดภาวะทางจิตใจหรือปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างตามมา เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และการป้องกันปัญหา ลองมาดูแนวโน้มว่าปัญหาสุขภาพจิตเหล่านั้นมีอะไรบ้าง 1. ภาวะการขาดสมาธิและแรงจูงใจ คนแต่ละคนจะตอบสนองกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยในการทำงานไม่เหมือนกัน บางคนต้องอาศัยความเคยชินและกิจวัตรจึงจะสามารถตั้งสมาธิทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในการทำงาน ดูเหมือนทุกสิ่งคือเรื่องใหม่ ที่คอยกระตุ้นให้คนสนใจที่สภาพแวดล้อม แทนที่จะโฟกัสที่การทำงาน สำหรับบางคน สมองอันชาญฉลาดจะคอยสั่งการเสมอว่า ที่นี่คือบ้าน ซึ่งนั่นหมายถึงการพักผ่อน และคอยชี้ชวนให้หันไปหาสิ่งบันเทิงแทนที่จะทำงาน อย่างหนังสตรีมมิ่ง โซเชียลมีเดีย หรือเกมแทน วิธีรับมือคือ

  • กำหนดพื้นที่การทำงานเป็นสัดส่วน สร้างบรรยากาศให้เป็นมุมทำงาน สร้างข้อตกลงกับคนในครอบครัวถึงเรื่องเวลาทำงานที่ชัดเจน หรือแม้กระทั่งหาตัวช่วยอื่น เช่น พี่เลี้ยงเด็ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้การทำงานที่บ้านเป็นไปอย่างราบรื่น

  • มีกำหนดส่งงานที่ชัดเจน รวมทั้งมีการติดตามงาน คุยงาน จากคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหัวหน้างานเองก็ต้องเข้ามามีส่วนช่วยกระตุ้นตรงนี้อย่างมาก อาจใช้ application เพื่อมาช่วยมองเห็นความก้าวหน้าของทีมงานแต่ละคน เช่น Trello และพนักงานเองต้องรู้จักใช้เครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นตัวเอง เช่น To-do list ส่วนตัว

  • คนทำงานต้องหาวิธีให้รางวัลตัวเองเมื่อจบวันแล้วทำสำเร็จตาม To-do list การให้รางวัลเมื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จ (ทันที) เป็นหลักจิตวิทยาสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเรา แถมยังทำให้การทำงานที่บ้านไม่น่าเบื่อเกินไปด้วย ซึ่งรางวัลที่ว่า ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ อาจเป็นไอศกรีมอร่อย ๆ ซักแท่งก็ยังได้

2. ความเครียดจากการปรับตัว และวิตกกังวล ทุกการเปลี่ยนแปลงมักสร้างความเครียดและวิตกกังวลตามมาเสมอ โดยเฉพาะในสภาพที่เกิดวิกฤตการณ์ด้วยแล้ว ความที่ไม่สามารถคาดการณ์อย่างแน่นอนได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองหรือคนในครอบครัวบ้างในอนาคต ย่อมเพิ่มความวิตกกังวลได้มากขึ้นอีกหลายเท่า โดยเฉพาะเงื่อนไขที่คนเรารู้สึกว่าตัวเองควบคุมอะไรได้ไม่มากนัก ความเครียดยิ่งทวีคูณขึ้นเช่นกัน สิ่งที่เริ่มชี้วัดได้ว่าเครียดหรือไม่คืออาการทางกาย และกิจวัตรที่ผิดเพี้ยนไป เช่น นอนไม่หลับ ความอยากอาหารเปลี่ยนไปเป็นกินน้อยลงหรือกินเยอะขึ้นอย่างผิดสังเกต ผดผื่นขึ้น ปวดหัว หรือปวดท้องเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจจะยิ่งเสี่ยงต่อภาวะอย่างอื่นตามมาเช่น ภาวะสิ้นหวัง หรือภาวะซึมเศร้า วิธีรับมือคือ

  • ด้านองค์กรและนายจ้างควรให้แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ถึงวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเครียด ทำให้แต่ละคนคาดเดาได้ว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้น และต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เป็นการสร้างความรู้สึกว่าตัวเองควบคุมและคาดการณ์ได้มากขึ้น ซึ่งลดความวิตกกังวลลงได้

  • ทำให้รู้สึกว่าพนักงานมีตัวช่วย คือการเตรียมความช่วยเหลือจากฝั่งของนายจ้าง ในสิ่งที่ช่วยได้ เช่น เบอร์ติดต่อฉุกเฉิน ประกันสุขภาพพิเศษ หรือแอ๊พพลิเคชั่นการสื่อสาร รวมถึงการสื่อสารแบบสองทางที่เพียงพอ เพื่อป้องกันความสับสน และทำให้พนักงานไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว

  • คนทำงานควรพูดคุยกับคนที่ไว้วางใจบ้าง การพูดคุยแบบที่ได้พูดถึงความอึดอัด ความกังวลใจ และความเครียด เป็นการช่วยปลดปล่อยความอัดอั้นข้างในออกมา ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกว่ามีคนที่เข้าใจคอยรับฟัง หรือคุยกับนักจิตวิทยาก็จะช่วยให้การผ่อนคลายความเครียดเป็นไปอย่างมีระบบขั้นตอน

3. ความรู้สึกโดดเดี่ยวและโรคเหงา ไม่ใช่ทุกคนที่จะยินดีกับการปลีกตัวและอยู่ห่างจากผู้คนเป็นเวลานาน ๆ และหลายคนที่พลังงานสูงมักรู้สึกอึดอัดกับการที่ต้องอยู่ในห้องคอนโดพื้นที่จำกัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคนที่ต้องแยกตัวโดดเดี่ยวเพื่อเฝ้าระวังอาการ อาจรู้สึกถูกตัดขาดจากสังคม กิจกรรมที่เคยทำได้กลับทำไม่ได้ คนที่เคยได้เจอเสมอกลับไม่ได้เจอกัน ยิ่งสร้างความรู้สึกเหงาและเดียวดายมากขึ้นเท่านั้น มีการวิจัยพฤติกรรมของคนที่ถูกกักกันโรคให้อยู่คนเดียวเป็นเวลานานเป็นเดือน ๆ พบว่า ยิ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงของโรค PTSD และโรคซึมเศร้ามากขึ้นถึง 20-30% วิธีรับมือคือ

  • ติดต่อผู้คนให้มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทั้งที่เห็นหน้าหรือไม่เห็นหน้า ใช้การทักทาย พูดเล่น ที่ไม่ต้องเป็นการเป็นงานบ้าง อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่คนเดียวโดยไม่ติดต่อพูดคุยกับใครนานเกินไป

  • คนรอบตัวต้องติดต่อสื่อสารคนที่ถูกกักกันเป็นประจำ แสดงการยอมรับและไม่มองว่าน่ารังเกียจ มิฉะนั้นบุคคลนั้นจะรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า ไม่เป็นที่ต้องการ

4. ภาวะเฉื่อย และ Low self-control ในบางคน การมีแรงกดดันจากคนรอบข้างและ routine จากสถานที่ทำงานนั้นช่วยให้มีแรงจูงใจในการทำงาน แต่เมื่อปราศจากสิ่งเหล่านั้นเมื่อไหร่ ดูเหมือนคนกลุ่มนี้จะบังคับตัวเองให้ทำงานตามปกติไม่ได้ เมื่อปล่อยตัวเองให้ไม่ทำตามตารางสะสมเข้าหลาย ๆ วันก็จะเกิดภาวะเฉื่อย ขี้เกียจ เบื่อหน่าย ควบคุมตัวเองไม่ได้ ใช้เวลาไปกับกิจกรรมบันเทิงที่ไร้สาระทั้งวัน จนมีผลกระทบต่อการทำงานอย่างแน่นอน รวมถึงความรู้สึกที่คนคนนั้นมีต่อตัวเองในแง่ลบมากขึ้นด้วย วิธีรับมือคือ

  • หาแรงกดดันจากคนรอบข้าง อาจเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า ที่คอยติดตามความคืบหน้าของงาน เป็นการสร้างแรงกระตุ้นจากภายนอก ให้แต่ละคนไม่หลงลืมภาระหน้าที่ของตัวเอง บางคนใช้การแข่งขันกับคนอื่นมากระตุ้นตัวเองก็ได้ผล

  • ตั้งเป้าหมายส่วนตัว และหาเหตุผลที่ต้องทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จ รวมทั้งกำหนดให้รางวัลตัวเองเมื่อทำสำเร็จด้วย เป็นการสร้างแรงกระตุ้นจากภายใน อาจทำแผนลงบอร์ดเพื่อติดไว้ที่ฝาผนัง เขียนสิ่งที่ต้องทำลง post-it เพื่อย้ำเตือนให้เห็นถึงภารกิจชัด ๆ

  • กำจัดสิ่งเร้าที่จะดึงให้ออกนอกแผนการออกไปให้มากที่สุด เช่น นั่งทำงานให้ห่างจากเตียงนอน หรือจอทีวี กดปิดการแจ้งเตือนจากแอ๊พโซเชียลมีเดียที่ไม่เกี่ยวกับงาน ในระหว่างเวลางาน หรือใช้วิธีบังคับตัวเองให้นั่งลงที่โต๊ะทำงาน แม้ในตอนแรกจะไม่สามารถโฟกัสการทำงานได้มาก หรือทำได้ไม่ดี แต่พอเวลาผ่านไป คนเรามักจะเริ่มเกิด สภาวะลื่นไหล (Flow) ในการทำงานขึ้นมาเอง

5. Unorganized life ตารางชีวิตยุ่งเหยิง บางครอบครัวนั้น การทำงานที่บ้านหมายถึงการที่ต้องเอาชนะการถูกรบกวนทั้งจากลูกน้อย สมาชิกครอบครัวคนอื่น สัตว์เลี้ยง หรือแม้กระทั่งพนักงานส่งของที่พร้อมจะมากดกริ่งหน้าบ้านได้ตลอดทั้งวัน หากบริหารจัดการได้ไม่ดี รับรองว่าพนักงานเองจะต้องเครียดที่ไม่สามารถนั่งลงแล้วโฟกัสงานตรงหน้าให้เสร็จสิ้นเหมือนตอนที่ทำงานที่ออฟฟิศ ทำให้ต้องหาเวลาทำงานซ่อมในช่วงกลางคืนดึก ๆ จนทำให้เวลานอนถูกเลื่อนออกไป นาน ๆ เข้ากิจวัตรประจำวันจะถูกขยับออก กลายเป็นนอนดึก ตื่นเช้าไม่ไหว หรือทำงานตอนกลางวันไม่มีประสิทธิภาพ ความยุ่งเหยิงเหล่านี้จะทำให้เกิดความเครียดตามมา วิธีรับมือคือ

  • 1) ค้นหาว่าอะไรที่ทำให้ไม่สามารถนั่งทำงานได้ตามกำหนดเวลางาน แล้วคิดหาวิธีหรือตัวช่วยในการกำจัดสิ่งรบกวนเหล่านั้นออกไป เช่น ตกลงกับสมาชิกในบ้านอย่างชัดเจนว่าเวลาทำงานคือห้ามรบกวน หาพี่เลี้ยงช่วยดูแลเด็กเล็กในตอนทำงาน หรือรับประทานอาหารง่าย ๆ ที่ไม่ใช้เวลาเตรียมอาหารมาก ในมื้อเช้าและกลางวัน

  • 2) เข้มงวดกับตัวเองในเรื่องเวลาของกิจวัตร ไม่ยืดหยุ่นตัวเองมากไปจนปล่อยให้นอนดึก ตื่นสาย กินข้าวไม่ตรงเวลา ซึ่งเมื่อถึงเวลาแล้วต้องฝืนใจตัวเองลุกไปทำสิ่งที่ต้องทำตามตารางเวลา

วิกฤตการณ์ครั้งนี้สร้างผลกระทบให้ผู้คนหลากหลายด้าน แต่ถึงแม้วิกฤตการณ์เหล่านี้จะหายไป แต่เชื่อว่าวิถีชีวิตของผู้คนจะถูกเปลี่ยนแปลงไป เช่น แนวโน้มการทำงานที่บ้าน ดังนั้น ทั้งองค์กร นายจ้าง และคนทำงานเองก็ควรปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งนี้อย่างมีคุณภาพและความสุข


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page