top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ชวนรู้จักภาวะกระทบกระเทือนใจ (PTSD) และเทคนิคจิตวิทยาเยียวยาแผลใจ



จากเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์ ที่ปะทุรุนแรงขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 นอกจากจะส่งผลกระทบต่ออิสราเอล – ปาเลสไตน์ เองแล้ว ยังส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงคนไทยที่ไปทำงานและใช้ชีวิตในอิสราเอลเองก็ได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกัน


โดยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งสถานะคนไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอล ไว้ว่า มีคนไทยเสียชีวิต (อย่างเป็นทางการ) 29 ราย บาดเจ็บ 16 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 17 ราย และประสงค์กลับประเทศไทย จำนวน 7,596 ราย นั่นส่งผลให้ทั้งคนไทยที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์ เอง และภรรยา สามี ลูก ญาติสนิทเอง ก็ได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจจนเกิดเป็นภาวะ PTSD หรือศัพท์ทางการทางจิตวิทยาเรียกว่า Post - Traumatic Stress Disorder


โดย PTSD หรือ Post - Traumatic Stress Disorder ตามตำราจิตวิทยาว่าด้วยโรคทางจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน คือ The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th edition (DSM-5) ได้ระบุไว้ว่า PTSD คือ สภาวะร่างกายของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น สงคราม อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย เป็นต้น ยังคงมีอาการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เสมือนว่าตนเองยังอยู่ในเหตุการณ์รุนแรง ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ระบุเกณฑ์วินิจฉัยสำคัญ ดังนี้

  1. เป็นผู้สัมผัสกับเหตุการณ์รุนแรง เหตุเฉียดตาย การถูกคุกคาม การบาดเจ็บสาหัส หรือความรุนแรงทางเพศ ในลักษณะดังต่อไปนี้

  2. เป็นผู้ประสบเหตุโดยตรง

  3. พบเห็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ

  4. คนใกล้ชิด หรือคนสำคัญในชีวิตประสบเหตุรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต

  5. พบกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจซ้ำแล้วซ้ำอีก

  6. เกิดอาการดังต่อไปนี้หลังการพบกับเหตุสะเทือนใจ

  7. ยังคงคิดถึงเหตุการณ์ทำร้ายจิตใจ เห็นภาพเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจซ้ำ ๆ ในหัว

  8. ฝันถึงเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจทุกคืน ฝันร้ายอย่างน่ากลัว

  9. รู้สึกราวกับว่าตนเองยังคงอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงนั้น เช่น ใจสั่น ควบคุมตัวเองไม่อยู่ หายใจติดขัด เป็นต้น

  10. มีความรู้สึกเป็นทุกข์อย่างแสนสาหัส

  11. มีปฏิกิริยาทางร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ อย่างรุนแรง เช่น ตกใจง่าย ผวากับเสียงดัง หวาดวะแวงคนแปลกหน้า เป็นต้น

  12. หลีกเลี่ยงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สะเทือนใจ ดังนี้

  13. หลีกเลี่ยงที่จะคิดถึงเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจนั้น เช่น พยายามไม่พูดถึงเหตุการณ์รุนแรงนั้น เมื่อคิดถึงเหตุการณ์รุนแรงก็เบี่ยงเบนความสนใจของตนเองไปคิดอย่างอื่นเสีย เป็นต้น

  14. หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ย้ายออกจากที่เดิมที่เคยอยู่อาศัย ไม่ติดต่อผู้คนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนการแต่งตัว เปลี่ยนบุคลิกภาพเป็นคนใหม่

  15. มีการเปลี่ยนแปลงในทางลบต่อสภาวะอารมณ์ ดังนี้

  16. ไม่สามารถจดจำส่วนสำคัญของเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจได้ เช่น สถานที่ คนที่ทำร้าย หรือไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงนั้นเลย

  17. เกิดความคิดทางลบต่อตนเอง และต่อสิ่งรอบข้าง เช่น เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวฉันไม่ดี โลกนี้มันโหดร้าย หรือโกรธผู้คนรอบตัวที่ไม่สามารถช่วยให้หลุดออกมาจากเหตุการณ์ร้ายได้

  18. โทษตัวเองและโทษผู้อื่นอย่างชัดเจน

  19. มีความรู้สึกทางลบอย่างต่อเนื่องและควบคุมไม่ได้ เช่น โกรธ เกลียด กลัว อาย

  20. สนใจสิ่งรอบข้างลดลง ไม่ทำกิจกรรมอย่างที่เคยทำ

  21. แยกตัวออกจากสังคม เก็บตัวอยู่แต่ในพื้นที่ปลอดภัย

  22. ไม่มีความสุขในชีวิต

  23. มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่รุนแรง ดังนี้

  24. หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียตลอดเวลา

  25. มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง

  26. หวาดระแวงต่อทุกอย่าง

  27. ตกใจง่าย หวาดผวา

  28. ไม่สามารถให้ความสนใจจดจ่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้

  29. มีปัญหาด้านการนอน เช่น นอนเยอะ นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท

  30. ต้องมีอาการข้างต้นต่อเนื่องมาแล้วอย่างน้อย 1 เดือน

  31. อาการข้างต้นส่งผลให้ผู้ที่มีอาการ PTSD ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

  32. อาการดังกล่าวไม่ได้มีผลมาจากการเจ็บป่วยทางกาย


จากอาการของ PTSD ที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาระบุเอาไว้นั้น จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะมีความทุกข์ทรมานจิตใจเป็นอย่างมาก แม้เหตุการณ์ร้ายจะจบลงไปแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกเหมือนกับว่าต้องตกอยู่ในอันตรายตลอดเวลา ซึ่งผู้ที่เผชิญกับสงครามอิสราเอล – ปาเลสไตน์ก็เช่นกัน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้แนะนำวิธีเยียวยาจิตใจผู้ที่มีภาวะ PTSD เอาไว้ดังนี้ค่ะ


1. หลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้ผู้ที่มีภาวะ PTSD นึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นอีก

ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเหตุการณ์นั้น การให้ผู้ที่มีภาวะ PTSD สัมภาษณ์ออกสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว หรือการสอบถามถึงเหตุการณ์นั้นอย่างละเอียด ล้วนสร้างความอึดอัดใจ และกระตุ้นให้ผู้ที่มีภาวะ PTSD หวนนึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นอีก ซึ่งนั้นเท่ากับว่าเราได้ผลักเขาให้เข้าไปอยู่สถานการณ์กระทบกระเทือนใจซ้ำ ๆ ไม่รู้จบ


2. อย่าให้ผู้ที่มีภาวะ PTSD อยู่ตามลำพัง

โดยอาการของ PTSD จะทำให้ผู้ที่มีภาวะ PTSD หลีกหนีสังคม เก็บตัวอยู่ตามลำพัง และมีแนวโน้มสูงที่เขาจะทำร้ายตนเอง เพราะเกิดความคิดทางลบอย่างรุนแรงต่อเขาเอง และต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้ใกล้ชิดจึงควรคอยดูแลเขา ในระดับที่เขาไม่รู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกว่าถูกคุกคาม


3. รับฟังอย่างเข้าใจ

ผู้ที่มีภาวะ PTSD มักจะไม่พูดถึงเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ แต่จะแสดงออกมาผ่านอารมณ์ทางลบ เช่น ความเศร้า ความเสียใจ ความโกรธ ดังนั้นแล้วหากเขาร้องไห้ ขอให้คุณคอยอยู่ข้าง ๆ หากเขาโมโห หรือบ่น หรือด่า ก็ขอให้เข้าใจและอย่าโต้ตอบด้วยอารมณ์ หากคุณรู้สึกว่าเกินความอดทนแล้ว ขอให้บอกเขาดี ๆ ก่อนจะขอปลีกตัวออกมาเพื่อดูแลรักษาสุขภาพจิตของตัวเอง


4. อย่าตัดสินเขาจากเรื่องที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นมานั้นไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอุบัติเหตุ และเหตุการณ์รุนแรงทางเพศ ได้โปรดอย่าโทษว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้ที่มีภาวะ PTSD หรืออย่าพยายามตัดสินว่าผู้ที่มีภาวะ PTSD เป็นคนไม่ดี หากเขาผิดก็อยู่เคียงข้างเขาในวันที่เขาต้องรับโทษทางกฎหมาย หากเขาเป็นผุ้ถูกกระทำด้วยเหตุผลใดก็ตามขอให้ปกป้อง และเข้าใจ


5. อย่าเร่งให้เขาเข้าหาสังคมเร็วเกินไป

ถึงแม้ว่าการเข้าสังคม จะเป็นตัวชี้วัดความปกติสุขของการใช้ชีวิตของคนเรา แต่การรีบเร่งให้ผู้ที่มีสภาวะจิตใจอ่อนไหวและเปราะบางดังเช่นผู้ที่มีภาวะ PTSD เข้าสังคมตามปกตินั้นอาจสร้างความกดดัน นำไปสู่ความเครียด และเกิดความคิดทางลบ จนเขาทำร้ายตนเองได้ เพราะฉะนั้นค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่าค่ะ


6. พบผู้เชี่ยวชาญตามนัดอย่างส่ำเสมอ

และที่สำคัญที่สุดหากต้องการจะหายขาดจาก PTSD ผู้ที่มีภาวะ PTSD และผู้ใกล้ชิดต้องจับมือกันเข้าพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เพราะ PTSD ไม่สามารถหายได้เอง ต้องมีการบำบัด และปรับความคิดและพฤติกรรมร่วมด้วย


การเยียวยาจิตใจจากภาวะ PTSD นั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งทางจิตใจ ความพยายาม และความสม่ำเสมอทั้งจากตัวผู้ที่มีภาวะ PTSD เอง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด และผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่ให้การบำบัด เพราะเราต้องร่วมกันสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับผู้ที่มีภาวะ PTSD อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างปกติสุขค่ะ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : 1. GCC. (2566, 16 ตุลาคม). กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งสถานะคนไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอล. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2566 จาก https://www.gcc.go.th/?p=127482

2. National Center for Biotechnology Information. (2013). Trauma-Informed Care in Behavioral Health Services. [Online]. From : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK207191/box/part1_ch3.box16/

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page