top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ไม่สบายใจแบบนี้ควรปรึกษาใครดี จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักบำบัด?


เชื่อว่าทุกคนบนโลกนี้ต้องมีอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิตที่มีความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้นกับตัวเอง โดยความไม่สบายนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบและหลายระดับด้วยกัน แต่แม้จะรู้ว่าตัวเองมีความไม่สบายใจเกิดขึ้นก็ยังคงมีหลายคนที่สับสนไม่แน่ใจว่า ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นกับตัวเองในครั้งนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรและถ้าอยากปรึกษาใครสักคนควรจะไปหาใครดี โดยเฉพาะในกรณีที่อยากจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักบำบัด คือใคร?

ในภาพรวมแล้ว จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักจิตบำบัด ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพจิต แต่ทั้งสามบทบาทนี้ทำงานแตกต่างกัน ดังนี้


1. จิตแพทย์ (Psychiatrist)

หากสังเกตให้ดีในคำว่า “จิตแพทย์” จะมีคำว่า “แพทย์” อยู่ในนั้น นั่นหมายความว่าจิตแพทย์จะต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาจากสาขาแพทยศาสตร์ตามที่มาตรฐานกำหนด (สำหรับประเทศไทยมีระยะเวลา 6 ปี) และต้องเรียนต่อเฉพาะทางที่มีความเกี่ยวข้องกับสาขาจิตเวชศาสตร์ต่ออีก 3 – 4 ปี จนกว่าจะมีคุณสมบัติเป็นจิตแพทย์ได้ตามที่แพทยสภากำหนด โดยจิตแพทย์มีบทบาทหน้าที่ ดังนี้

  • ให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ประเมินวินิจฉัยโรคจิตเวช

  • รักษาโรคทางจิตเวช (Psychiatric disorders) โรคทางระบบประสาท (Neurology) และโรคประสาทจิตเวช Neuropsychiatry)

  • ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยแบบองค์รวม (ร่างกาย จิตใจ และสังคม)

2. นักจิตวิทยา (Psychologist)

นักจิตวิทยา ในประเทศไทยหมายถึงคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาจากสาขาจิตวิทยา นักจิตวิทยาจะมีหลายสาขาด้วยกัน แต่นักจิตวิทยาที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจิตโดยตรงได้แก่ นักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งหากคุณสับสนระหว่างจิตแพทย์กับนักจิตวิทยา ขอให้คุณนึกภาพตามง่าย ๆ ว่านักจิตวิทยาไม่ใช่แพทย์และไม่สามารถสั่งจ่ายยาให้คุณได้ในทุกกรณี โดยนักจิตวิทยาคลินิกมักจะทำงานร่วมกับจิตแพทย์ เช่น ประเมินวินิจฉัยอาการทางจิตเวช รักษาอาการทางจิตเวช ส่วนนักจิตวิทยาการปรึกษาจะทำงานกับผู้รับบริการที่ไม่ได้มีความเจ็บป่วยทางจิตเวชในระดับที่รุนแรงและไม่วินิจฉัยรักษาอาการทางจิตเวช


3. นักบำบัด (Therapist)

นักบำบัดหมายถึงบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีความสามารถในการช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้รับบริการ โดยต้องเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิและได้รับการรับรองว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านที่ให้บริการอย่างถูกต้อง มีทั้งแบบที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น

  • นักศิลปะบำบัด (Arts Therapist)

  • นักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist)

  • นักดนตรีบำบัด (Music Therapist)

  • นักละครบำบัด (Drama Therapist)

  • นักจิตบำบัด (Psychotherapist) เช่น นักจิตบำบัดแบบ CBT (นักจิตบำบัดสามารถมีบทบาทเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาควบคู่กับการเป็นนักจิตบำบัดได้เช่นกัน)


ควรเลือกปรึกษาใครดี? ระหว่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักบำบัด


มันไม่แปลกที่คุณจะสับสนระหว่างสามบทบาทนี้ เนื่องจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักบำบัด ต่างก็มีจุดร่วมกันคือเป็นผู้ที่ทำงานให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ประสบปัญหาด้านจิตใจ แต่ทั้งสามบทบาทนี้ก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งคุณสามารถเลือกพิจารณาว่าควรเลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแบบไหนเป็นอันดับแรกได้ดังนี้


1. คุณวุฒิของผู้ให้บริการที่ตรงตามความต้องการของคุณ

  • หากคุณต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อรักษาอาการทางจิตเวช จิตแพทย์คือวิชาชีพเดียวที่สามารถสั่งจ่ายยาเพื่อรักษาอาการทางจิตเวชได้ (แพทย์ทั่วไปสามารถสั่งจ่ายยาจิตเวชได้เช่นกันแต่ในปริมาณที่จำกัด เช่น มีเหตุขัดข้องที่ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อประคองอาการในระหว่างที่ยังเข้าพบจิตแพทย์ไม่ได้)

  • หากคุณต้องการรักษาอาการทางจิตเวช คุณสามารถเลือกปรึกษาได้ทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิก

  • หากคุณต้องการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบพูดคุย คุณสามารถเลือกปรึกษาได้ทั้งจิตแพทย์ที่เน้นการรักษาด้วยจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา และนักจิตบำบัด

  • หากคุณต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดและยังไม่ต้องการใช้ยาจิตเวช คุณสามารถเลือกปรึกษาได้ทั้งนักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา และนักบำบัด (จิตแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐที่มีเวลาเข้าพบจำกัดอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดและยังไม่ต้องการใช้ยาจิตเวช)

2. ระดับของอาการหรือความไม่สบายใจ

  • หากอาการหรือความไม่สบายใจของคุณอยู่ในระดับที่ยังสามารถควบคุมตนเองได้ เพียงแต่มีความไม่สบายใจที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ เช่น เครียด วิตกกังวล เริ่มมีความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด นอนหลับยากหรือหลับ ๆ ตื่น ๆ ตั้งสมาธิในการทำงานได้ยาก ฯลฯ โดยมีความต้องการผ่อนคลายสภาพจิตใจเป็นหลักและยังไม่พร้อมที่จะไปรับบริการจากโรงพยาบาลหรือคลินิกรักษาอาการจิตเวช คุณสามารถเลือกปรึกษานักจิตวิทยาหรือนักบำบัดก่อนก็ได้

  • หากอาการหรือความไม่สบายใจของคุณอยู่ในระดับที่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเห็นได้ชัด เช่น นอนไม่หลับติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ผลการเรียนหรือผลการทำงานลดลงอย่างมาก พฤติกรรมการรับประทานอาหารส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวอย่างมากและรวดเร็ว ฯลฯ คุณควรปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักบำบัด เพื่อลดความตึงเครียดไม่สบายใจลง และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง

  • หากอาการหรือความไม่สบายใจของคุณอยู่ในระดับที่รุนแรง เช่น รู้สึกไร้ค่าจนมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ควบคุมตนเองได้ยากและมีพฤติกรรมเสี่ยง (เปลี่ยนคู่นอนรายวันและมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ใช้สารเสพติดชนิดร้ายแรง ลงมือทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นให้มีความบาดเจ็บ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนมีคดีความเกิดขึ้น ฯลฯ) คุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตแบบใดก็ได้อย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะจิตแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น


การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องน่าอายและผู้รับบริการก็ไม่ใช่คนอ่อนแอ แต่มันเป็นการสะท้อนว่าผู้รับบริการมีความตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต นอกจากนี้ จรรยาบรรณของนักวิชาชีพได้ระบุไว้ว่าจะต้องรักษาความลับของผู้รับบริการ หากผู้รับบริการไม่ได้มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคมหรือละเมิดข้อบังคับทางกฎหมาย ทางผู้ให้บริการจะไม่มีสิทธิเปิดเผยหรือกระทำการใดให้ผู้รับบริการเสียประวัติ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง



บทความที่เกี่ยวข้อง

[1] นักจิตวิทยาคือใคร ! เมื่อไหร่ที่ต้องไปหา. https://www.istrong.co/single-post/who-is-a-psychologist-when-to-find

[2] 10 วิธีพิจารณาใครคือนักจิตบำบัดที่ดี. https://www.istrong.co/single-post/10-ways-to-spot-a-good-therapist

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page