top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ทำไมนักจิตวิทยาไม่แนะนำให้ลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรง



เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินสำนวน “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” แต่ในยุคนี้เราจะได้ยินบ่อยว่านักจิตวิทยาไม่แนะนำให้ลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรง เช่น ตี เขย่าตัวแรง ๆ สั่งให้ลุกนั่งจำนวนหลายครั้งจนกล้ามเนื้อบาดเจ็บ กระชากผม ด่าทอ ชี้หน้า หรือแม้แต่การลงโทษให้เจ็บปวดเพราะความอับอายอย่างการสั่งให้นักเรียนไปสวมชุดนักเรียนหญิง โดยทั้งหมดถูกกระทำในนามของ “ความรัก”


ในขณะที่การปรับพฤติกรรมด้วยวิธีเชิงบวก อย่างเช่น การกล่าวชื่นชมให้กำลังใจเมื่อเด็กกระทำสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีหรือสำเร็จ กลับถูกมองว่าเป็นการทำให้เด็ก “เหลิง” ผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นแบบที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ก็คือ เพื่อที่จะปรับพฤติกรรมของเด็ก ผู้ใหญ่มักลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงมากกว่าที่จะใช้วิธีการเชิงบวก และก็อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าไม่มีใครบนโลกนี้จะรู้สึกดีกับการถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรง เพราะมันเป็นสิ่งทำให้เจ็บทั้งกายเจ็บทั้งใจ ในขณะเดียวกันเด็กก็ยิ่งรู้สึกไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดเขายังต้องถูกกระทำเช่นนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ใหญ่มักลงโทษด้วยวิธีรุนแรงโดยไม่ได้แนะนำว่าการกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นอย่างไร แต่มักจะบอกเป็นภาพรวมว่า “ตีเพราะอยากให้เป็นเด็กดีไม่เกเร”


แต่กระแสในช่วงหลัง จะสังเกตได้ว่าเริ่มมีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักวิชาการด้านพัฒนาการเด็ก ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงว่านอกจากมันจะไม่เป็นผลดีต่อการปรับพฤติกรรมของเด็กอย่างยั่งยืนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กให้ย่ำแย่ลงไปอีกด้วย จริงอยู่ที่การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงอาจจะทำให้เด็กหยุดทำพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องการ แต่เด็กก็จะหยุดทำเพราะความกลัว และเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องถูกลงโทษอีก นั่นหมายถึงหยุดทำพฤติกรรมต่อหน้าผู้ใหญ่ที่ลงโทษตน เด็กหลายคนกลายเป็นคน “หน้าไหว้หลังหลอก” หรือ “ตีสองหน้า” จึงเป็นที่มาของวลีเด็ดที่ว่า “ลูกฉันเป็นคนดี” เพราะเด็กมักจะทำตัวเป็นเด็กดีต่อหน้าผู้ใหญ่ที่ลงโทษเขาด้วยวิธีรุนแรง แต่ลับหลังเขาก็จะทำตามใจตัวเองอยู่ดี

ดังนั้น ผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติ หรืออาจจะเป็นคุณครู ก่อนที่คุณคิดจะปรับพฤติกรรมเด็กในความดูแลด้วยการลงโทษด้วยวิธีรุนแรง อยากชวนให้พิจารณาสิ่งต่อไปนี้ก่อนนะคะ


1. ตัวเราเองเคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงจากผู้ใหญ่มาก่อนหรือไม่ และเราคิดว่าการถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงมันทำให้เรารู้สึกอย่างไร และคิดว่าวิธีนั้นมันได้ผลกับเราจริงหรือ


2. เรากำลังจะลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงด้วยวัตถุประสงค์ใด เรากำลังหวังดีต่อเด็กจริงหรือ


3. ขณะนี้เรากำลังอยู่ในอารมณ์แบบไหน สงบ หรือ หงุดหงิดไม่พอใจ และที่เรากำลังจะลงโทษเด็กในตอนนี้ เรากำลังจะลงโทษพร้อมด้วยอารมณ์อะไรของเรา และมันเป็นอารมณ์ชั่ววูบหรือไม่


4. ระดับการกระทำความผิดของเด็กมันสมเหตุสมผลมากแค่ไหนกับการลงโทษด้วยวิธีรุนแรง


5. เรามีทางเลือกอื่นในการลงโทษหรือปรับพฤติกรรมที่ดีกว่าการลงโทษด้วยวิธีรุนแรงไหม

เหตุผลที่อยากจะชวนให้พิจารณาข้างต้น ก็เพราะว่าบ่อยครั้งเรามักไม่เท่าทันตัวเอง ทำให้เรามักทำอะไรลงไปโดยปราศจากสติและการพิจารณาด้วยเหตุและผล ซึ่งหากว่าการกระทำของเรามันไม่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นก็คงไม่น่าจะต้องมาวิตกอะไร แต่โดยมากแล้วการลงโทษด้วยวิธีรุนแรงมักไม่เคยให้ผลดีเลยค่ะ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ...

1. ว่าด้วยทฤษฎีเซลล์กระจกเงา Giacomo Rizzolatti จากมหาวิทยาลัยปาร์มา ประเทศอิตาลี Rizzolatti


ได้ค้นพบเซลล์สมองกระจกเงา (Mirror Neurons) จากการทดลองให้ลิงแสดงพฤติกรรมและทำการวัดกระบวนการทำงานทางสมองของลิงด้วยเครื่อง MRI และขยายผลการวิจัยไปสู่มนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ทำให้พบข้อมูลว่าสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (รวมถึงมนุษย์) จะถูกกระตุ้นเมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหว และสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังสามารถถูกกระตุ้นให้เกิดกระบวนการทำงานแบบเดียวกันได้จากการมองเห็นการกระทำของสัตว์ชนิดเดียวกันตัวอื่น ๆ หรือจะสรุปให้ง่ายก็คือ มนุษย์เราสามารถลอกเลียนการกระทำของคนอื่นได้ในระดับเซลล์สมองกันเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าเราลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรง เมื่อเด็กโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ก็มีแนวโน้มสูงที่เขาจะทำกับเด็กด้วยวิธีเดียวกับที่เขาเคยโดนมาก่อน

2. ว่าด้วยทฤษฎีการเลียนแบบทางสังคม Albert Bandura นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งได้ทำการทดลองกับเด็ก โดยกลุ่มหนึ่งให้เห็นตัวอย่างจากตัวแบบที่มีชีวิต แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กกลุ่มที่สองมีตัวแบบที่ไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กกลุ่มที่สามไม่มีตัวแบบแสดงพฤติกรรมให้ดูเป็นตัวอย่าง ผลการทดลองพบว่า เด็กที่อยู่ในกลุ่มที่มีตัวแบบแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว จะแสดงพฤติกรรมเหมือนกับที่สังเกตจากตัวแบบการทดลอง ดังนั้น ก็คล้ายกับข้อแรกคือผู้ใหญ่เป็นแบบไหนให้เด็กเห็น เด็กก็มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นแบบนั้น


3. ว่าความเป็นมนุษย์ โดยไม่อ้างอิงทฤษฎีใด ๆ แค่เพียงลองจินตนาการว่าหากเราเป็นคนที่โดนลงโทษด้วยวิธีรุนแรง เราจะชอบไหม จะรู้สึกอย่างไร ดังนั้น เพียงแค่เราคิดว่า “สิ่งใดไม่ชอบ ก็ไม่ควรทำกับคนอื่น” เราก็คงรู้ดีอยู่ภายในใจแล้วว่าเราควรจะลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงหรือไม่


สรุปใจความสำคัญแบบง่าย ๆ สั้น ๆ ก็คือว่า ทำไมนักจิตวิทยาจึงไม่แนะนำให้ลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรง ก็เพราะมนุษย์ทุกคนต่างมีหัวใจ มนุษย์ทุกคนต่างต้องการความรัก และไม่มีมนุษย์คนไหนที่ต้องการได้รับการปฏิบัติแบบรุนแรง คุณเองก็เช่นกันใช่ไหมคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

 

ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช

ปริญญาตรี ในสาขาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาโท ในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มีประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาการปรึกษา 7 ปี ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งนักจิตวิทยา

ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา



facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page