เหตุผลทางจิตวิทยาที่อธิบายว่า เพราะอะไร “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ”
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยสงสัยว่า “เพราะอะไรนะลูกของเราถึงยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ?” ขออนุญาตตอบในฐานะของแม่คนหนึ่งก่อนเลยค่ะว่า เป็นปัญหาสากลของทุกบ้าน ถ้าเราห้ามลูกทำอะไร ก็เหมือนเราบอกว่า “ทำได้เลยลูก!” จนคุณพ่อ คุณแม่ เหนื่อยใจไปตาม ๆ กัน
แต่ช้าก่อนค่ะ หากคุณกังวลกับพฤติกรรม “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” ของลูกคุณอยู่ข้อมูลจิตวิทยาต่อไปนี้จะทำให้คุณเลิกกังวลใจ แล้วหันมาปลงและทำใจแทน เพราะจากทฤษฎีทางจิตวิทยาพบว่า พฤติกรรม “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” นั้น เกิดได้ในทุกเพศ ทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะในเด็กเล็ก หรือในวัยรุ่น
แต่ผู้ใหญ่ไปจนผู้สูงวัย ก็สามารถมีพฤติกรรมกวนอารมณ์เช่นนี้ได้ค่ะ เพราะพฤติกรรม “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” เป็นผลมาจากทฤษฎีจิตวิทยาที่เรียกว่า Reverse Psychology หรือ Reactance Theory ซึ่งมีชื่อไทยอย่างเป็นทางการว่า “จิตวิทยาย้อนกลับ” ค่ะ
Reverse Psychology เป็นทฤษฎีจิตวิทยาที่ถูกนำมาใช้อย่างมากในวงการธุรกิจและการตลาด เนื่องจากเป็นการจูงใจ (Manipulate) ให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม หรือคล้อยตามโดยใช้เทคนิคการพูดสิ่งหนึ่งเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายทำอีกสิ่งหนึ่ง เช่น เมื่อเราไปซื้อสินค้าที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง แล้วเราได้รับการเสนอให้ซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติดีมาก แต่ราคาสูง เมื่อเรามีท่าทีลังเล พนักงานมักจะเสนอสินค้าอีกชิ้นที่ราคาถูกกว่า แต่คุณสมบัติน้อยกว่าให้เรา
และจะพูดกับเราประมาณว่า “หากสินค้าชิ้นที่ 1 แพงเกินไป คุณลูกค้าสามารถสินค้าชิ้นที่ 2 ได้ เพราะราคาถูกกว่า” แล้วเราก็จะเกิดความรู้สึกว่า “ไม่ได้สิ! ฉันต้องแสดงศักยภาพทางการเงินให้พนักงานเห็นว่าฉันซื้อสินค้าชิ้นที่ 1 ได้” นั่นละค่ะ จึงเป็นสาเหตุให้เราซื้อของแพงเกินความจำเป็น ซึ่งทฤษฎี Reverse Psychology ก็ได้อธิบายเหตุผลของพฤติกรรมเช่นนี้ว่า เป็นเพราะเมื่อเราถูกห้าม เราจะรู้สึกว่าเราถูกท้าทายโดยอัตโนมัติ (Autonomy)
ด้วยเหตุนี้ด้วยความรู้สึกต้องการเอาชนะความท้าทายดังกล่าว เราจึงทำในสิ่งตรงกันข้ามโดยไม่รู้ตัว ดังเช่นการทดลองของ Walter Mischel ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจาก Stanford University โดยเขาได้ทดลองทฤษฎี Reverse Psychology กับเด็ก ๆ โดยแบ่งเด็ก ๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม Mischel จะทำการวางขนมมาชเมลโลว์ไว้บนโต๊ะ
แล้วบอกเด็ก ๆ กลุ่มที่ 1 ว่า ห้ามกินขนมจนกว่าจะครบกำหนดเวลา หากเด็ก ๆ รอคอยจนครบกำหนดจะได้ขนมเพิ่ม ปรากฏว่าเด็ก ๆ ส่วนใหญ่แอบกินขนมไปก่อนแล้ว สำหรับเด็ก ๆ ในกลุ่มที่ 2 เขา ให้เด็กจินตนาการว่าขนมเป็นก้อนเมฆที่ทานไม่ได้ และบอกให้เด็กได้ทานเมื่ออยากทาน ปรากฏว่าเด็กสามารถรอคอยจนครบเวลาที่กำหนด
ด้วยข้อดีของการนำทฤษฎี Reverse Psychology มาใช้ Asa Don Brown นักจิตวิทยาคลินิกด้านเด็กและครอบครัวผู้มีประสบการณ์สูงกว่า 25 ปี ได้ให้ข้อเสนอแนะในการสร้างพฤติกรรมยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ให้เกิดประโยชน์ ดังนี้
1. สร้างประสบการณ์ที่ดีของสิ่งที่เราต้องการให้เขาเลือก
การที่เราจะนำ Reverse Psychology มาใช้นั้น เราต้องมีตัวเลือกให้บุคคลเป้าหมาย หรือกลุ่มเป้าหมายของเราก่อน อย่างน้อย 2 ตัวเลือก แต่เรามักจะพูดถึงหรือสื่อถึงอีกตัวเลือกหนึ่งบ่อย ๆ เช่น หากเราต้องการดูภาพยนตร์รักโรแมนติก แต่แฟนต้องการดูภาพยนตร์แอคชั่นผจญภัย เราก็สามารถสร้างความทรงจำทางบวกให้แก่เขาโดยการเปิดตัวอย่างภาพยนตร์วน ๆ ไป หรือเปิดเพลงประกอบภาพยนตร์ หรือตั้งโปรไฟล์ Facebook หรือ Line เป็นภาพเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนั้น เขาจะค่อย ๆ สนใจและต้องการไปดูกับเราเอง
2. แกล้งปฏิเสธในสิ่งที่เราต้องการให้เขาเลือก
การปฏิเสธในที่นี้ต้องเป็นการปฏิเสธที่พอดี พองาม ไม่เล่นใหญ่จนเกินไป เพราะถ้าปฏิเสธรุนแรง จริงจังเป้าเขาจะเข้าใจว่าเราไม่อยากได้ ไม่อยากไป ไม่อยากให้เขาทำจริง ๆ โดยเราต้องปฏิเสธในเชิงที่หวังดีต่อเขา เช่น หากเราต้องการให้ลูกเก็บกวาดห้องนอนของเขาเอง เราก็อาจจะพูดว่า “ลูกไม่ต้องทำหรอกลูก มันหนักเกินไปสำหรับลูก” และไม่นานหลังจากนั้น ลูกก็อาจจะไปหยิบไม้กวาด หยิบผ้าถูพื้นมาทำความสะอาดห้องจนสะอาดหมดจดเลยละค่ะ เพื่อพิสูจน์ให้เราเห็นว่าเขาทำเองได้
3. ลดเวลาการตัดสินใจ
เทคนิคการใช้ Reverse Psychology ให้ได้ผล ก็คือ อย่าให้เวลาในการตัดสินใจแก่เขานาน เพราะถ้าให้เวลาคิดนาน วิธีจูงใจของเราจะไม่ได้ผล เราต้องสร้างสถานการณ์ให้เหลือตัวเลือกน้อย ๆ และให้เวลาในการตัดสินใจไม่นาน เพื่อประสิทธิภาพในการจูงใจที่ได้ผลเยี่ยมค่ะ เช่น หากเราชวนเพื่อนไปทานอาหารเที่ยง แล้วเราเล็งไว้หนึ่งร้าน เราอาจจะเปรียบเทียบระหว่างตัวเลือกที่ด้อยกว่ามาก คือ ร้านที่เราต้องการจะไปกับร้านที่เพื่อนไม่ชอบ หรือร้านที่อยู่ไกล หรือร้านที่อร่อยน้อยกว่า โดยอ้างเรื่องเวลาพักที่ไม่นาน และความสะดวก เพื่อนก็จะเลือกร้านที่เราต้องการเองค่ะ
4. ทำให้เหมือนว่าเขาเป็นคนตัดสินใจเอง
เคล็ดลับสำคัญที่สุดที่จะให้คนคล้อยตามเราด้วยการใช้ Reverse Psychology นั่นก็คือ การให้เขาตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะดังที่กล่าวไปข้างต้น เทคนิคการสร้างพฤติกรรม “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกถูกต่อต้าน ถูกท้าทาย คนเราจึงต้องการเอาชนะ ดังนั้นการที่เราจูงใจให้เขาเลือกเองก็เท่ากับเป็นการตอบสนองความรู้สึกของ “ผู้ชนะ” ของเขาค่ะ
5. อย่าใช้ Reverse Psychology บ่อยครั้งจนเกินไป
การใช้ทฤษฎี Reverse Psychology ซ้ำ ๆ บ่อยครั้งจนเกินไป นอกจากจะทำให้ประสิทธิผลในการจูงใจลดลงแล้ว ยังจะทำให้บุคคลเป้าหมายของเราเกิดความรำคาญ และรู้ทันว่าเราเหลี่ยมใส่เขา จนทำให้เขาไม่ไว้ใจเรา และเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาตามมา ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ และแก้ไขยากค่ะ เพราะความไว้ใจได้หายไปเสียแล้ว
6. ห้ามใช้ Reverse Psychology ในพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตราย
ข้อห้ามสำคัญในการใช้ Reverse Psychology คือ ห้ามใช้ในกรณีที่อันตรายหรือทำให้ทั้งเขาและเราอยู่ในอันตรายค่ะ เช่น หากเพื่อนเราขับรถเร็วมาก เป็นสายซิ่ง สายแว๊น แทนที่เราจะห้ามเขาดี ๆ ด้วยเหตุและผล เรากลับยุเขาด้วยการบอกว่า “เร็วอีก แรงอีก ซิ่งอีก”
ในกรณีนี้นอกจากเขาจะไม่หยุดแล้ว เขาก็จะเหยียบมิดคันเร่ง เพราะเข้าใจว่าเราชอบ เราเชียร์เขา ก็จะพากันนอน ICU เอาง่าย ๆ นะคะ หรือในกรณีที่ลูกไม่ชอบโรงเรียน กลัวการไปโรงเรียน แล้วเราบอกลูกว่า “ไม่ต้องไปหรอกลูก” ลูกจะไม่ได้รู้สึกว่าถูกท้าทาย เพราะความกลัวของลูกเอาชนะทุกความรู้สึกไปแล้ว ในกรณีนี้ลูกจะเข้าใจว่าเราอนุญาตและไม่ไปโรงเรียนตามคำที่เราบอกจริง ๆ ค่ะ
ถึงแม้ว่าการใช้ Reverse Psychology หรือการสร้างพฤติกรรม “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” จะมีข้อดีในบางสถานการณ์ แต่ก็ไม่ควรนำมาใช้บ่อยครั้ง เพราะมันเป็นการใช้เล่ห์เหลี่ยมจูงใจให้คนอื่นทำตามในสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมและไม่บริสุทธิ์ใจในความสัมพันธ์ อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ ทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหาในอนาคตได้ค่ะ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
1. Asa Don Brown. (มปป.). วิธีการ ใช้จิตวิทยาย้อนกลับ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566 จาก https://th.wikihow.com
2. Digital Marketing. (2564). Reverse Psychology หลักจิตวิทยาการตลาดยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566 จาก https://creativetalklive.com/reverse-psychology/
3. th.yestherapyhelps. (2023, 10 มิถุนายน). จิตวิทยาย้อนกลับ: มีประโยชน์จริงๆหรือไม่?. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566 จาก https://th.yestherapyhelps.com/reverse-psychology-is-it-really-useful-12968
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments