top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Self-care 5 วิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่รักตัวเอง



รักตัวเอง” เป็นคำที่พูดง่ายแต่ก็อาจจะไม่ง่ายตอนที่ทำ เพราะบางคนอาจจะนึกภาพไม่ออกด้วยซ้ำว่ารักตัวเองคืออะไร หรือบางคนก็เข้าใจไปว่ารักตัวเองเป็นความเห็นแก่ตัว ดังนั้นก่อนที่จะไปพูดถึง Self-care เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าค่ะว่าการรักตัวเองและ Self-care นั้นมีความหมายว่ายังไง


รักตัวเอง (Self-love) หมายถึง การที่บุคคลมีความรู้สึกชื่นชมยินดีและเคารพในตัวเอง มีทัศนคติมุมมองต่อตัวเองไปในทางบวก รู้ว่าตัวเองมีข้อดีอะไรบ้าง และรับรู้ว่าตัวเองนั้นเป็นคนที่มีคุณค่า ซึ่งการรักตัวเองจะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสุขภาวะในภาพรวมของบุคคล รวมไปถึงการรักตัวเองคือพื้นฐานของความมั่นใจในตัวเองและการมี ‘resilience’ อีกด้วย


ส่วนการดูแลตัวเอง (Self-care) หมายถึง การที่บุคคลมีพฤติกรรมการดูแลตนเองทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งคนที่มีพฤติกรรมการดูแลตนเองทั้งภายนอกและภายในนั้นก็มักจะเป็นคนที่รักตัวเอง ในขณะเดียวกัน คนที่รักตัวเองก็มักจะมีวิธีการดูแลตัวเองไว้สำหรับในชีวิตประจำวันของตัวเองและทำมันจนเคยชิน ซึ่ง Self-care นั้นมีวิธีที่หลากหลายมากมายแล้วแต่ว่าใครจะชอบแบบไหน แต่ในบทความนี้จะแนะนำ 5 วิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้


1. ดูแลร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอ

ร่างกายเปรียบเสมือนบ้านของจิตใจ ลองจินตนาการถึงบ้านที่ทรุดโทรมผุพังก็คงเดาได้ไม่ยากว่าคนที่อาศัยอยู่ภายในบ้านจะต้องพบกับความยากลำบากมากแค่ไหน ร่ายกายของคนเรานั้นมีความสัมพันธ์กับจิตใจเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อหากคุณมีร่างกายที่แข็งแรงสุขภาพดี คุณก็จะมีมุมมองและความรู้สึกที่ดีตามไปด้วย คนที่มีสุขภาพจิตดีมักจะไม่ละเลยเรื่องของการดูแลร่างกายตนเอง ตรงกันข้าม คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือมีอาการด้านจิตเวชมักจะละเลยสุขอนามัยของตนเองหรือก็คือไม่ดูแลร่างกายของตนเอง วิธีง่าย ๆ ในการดูแลร่างกายตนเองมีดังนี้

  • หมั่นสังเกตว่าหลังจากตื่นนอนขึ้นมาแล้วคุณรู้สึกสดชื่นหรือไม่ เพื่อดูว่าเวลาในการนอนหลับของคุณเพียงพอหรือเปล่า หากคุณรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าดี ก็แสดงว่าคุณมีการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

  • กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น อาหารไขมันและน้ำตาลสูง อาหารรสเค็ม

  • เลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเอง หรืออย่างน้อยก็ขยับเขยื้อนร่างกาย หากิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายทำบ้าง


2. บริหารจัดการความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้ดี

หากคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างโดยเฉพาะคนที่คุณต้องใกล้ชิดและใช้เวลาด้วยกันเป็นเวลานาน ๆ เช่น แฟน เพื่อนร่วมงาน ลูก คุณก็จะรู้สึกดีและมีความสุข แต่หากคุณมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแบบห่างเหิน ทะเลาะเบาะแว้ง หรือเข้ากันไม่ได้ ก็จะเป็นไปในทางตรงข้าม ดังนั้น การบริหารจัดการความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้ดีจึงเป็นการดูแลตัวเองแบบหนึ่ง ซึ่งหากคุณรู้สึกว่าตัวเองยังมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างยังไม่ดีสักเท่าไหร่ ก็อาจจะลองพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้กับตัวเองก็ได้ เช่น ทักษะการฟัง ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทักษะการปฏิเสธต่อรอง ทักษะการเขใจตนเองและผู้อื่น ฯลฯ


3. ดูแลใจตัวเอง

วิธีคิดและสิ่งที่คุณใส่ลงไปในความคิดของคุณในแต่ละวันมีผลต่อสุขภาวะทางใจของตัวคุณเอง เพราะความคิดนั้นส่งผลต่ออารมณ์ของได้ หากคุณคิดไปในทางลบอยู่เป็นประจำ อารมณ์ของคุณก็จะลบตามไปด้วย เช่น คุณคิดว่าเพื่อนร่วมงานไม่ชอบหน้าคุณ คุณก็อาจจะรู้สึกเสียใจ ไม่พอใจ น้อยใจ โกรธ ฯลฯ การดูแลใจตัวเองจึงหมายถึงการที่คุณรักษาสุขภาพใจของตัวเองให้ดี ซึ่งทำได้หลายอย่างเช่น

  • ฝึกใจดีกับตัวเอง ไม่คาดคั้นให้ตัวเองต้องสมบูรณ์แบบไม่มีความผิดพลาด รักตัวเองในแบบที่เป็น

  • ฝึกทักษะการผ่อนคลาย การจัดการกับความเครียด เช่น โยคะ ฝึกหายใจ

  • ทำงานอดิเรก ดูหนัง ฟังเพลง เล่น puzzles อ่านหนังสือ


4. ดูแลตัวเองด้าน Spiritual

คำว่า Spiritual แปลเป็นไทยว่า จิตวิญญาณ แต่คำว่าจิตวิญญาณนั้นไม่ได้หมายถึงผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่หมายถึงมิติทางนามธรรมที่อยู่เหนือมิติทางด้านวัตถุขึ้นไป เช่น ความหมายของชีวิต สิ่งที่เป็นคุณค่า สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกว่าชีวิตอิ่มเอมหรือได้รับการเติมเต็ม ความศรัทธาตามศาสนาที่ตัวเองนับถือ โดยคนที่มีการดูแลตัวเองด้าน Spiritual อยู่เสมอจะมีลักษณะดังนี้

  • ชอบตั้งคำถามที่ลึกซึ้งกับตัวเอง เช่น ความทุกข์คืออะไร หากพรุ่งนี้ต้องตายจะทำอะไรบ้าง ฯลฯ

  • มีกัลยาณมิตรที่เอื้อให้เกิดความเติบโตงอกงามทางใจ

  • เป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น ๆ

  • มีบุคลิกสุขุมน่าเกรงขาม และเป็นคนที่น่าสนใจเห็นแล้วอยากเข้าไปคุยด้วย

  • มีความสุขได้แม้ไม่มีวัตถุสิ่งของในครอบครองมากมายนักหรือแม้ไม่ได้รับคำสรรเสริญเยินยอจากคนอื่น

  • รู้ว่าตัวเองมีเป้าหมายอะไรในชีวิต

  • มีความต้องการที่จะทำให้โลกเป็นสถานที่ดีและน่าอยู่มากขึ้น


5. ดูแลอารมณ์ของตนเอง

อารมณ์คือสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน ในแต่ละวันมนุษย์เราสามารถมีอารมณ์ได้มากมายหลายอย่าง โดยอารมณ์อาจจะผันแปรไปตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ ซึ่งการดูแลอารมณ์ไม่ได้หมายถึงว่าคุณจะต้องกำจัดอารมณ์ด้านลบ ออกไปแล้วทำให้ตัวเองมีแต่อารมณ์ด้านบวก แต่การดูแลอารมณ์ที่ดีก็คือการที่คุณสามารถรับรู้ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตนเอง และสามารถดูแลอารมณ์ที่คุณไม่ต้องการได้อย่างเหมาะสมแทนที่จะอยากผลักไสมันออกไปจากตัวเอง ซึ่งวิธีในการดูแลอารมณ์ที่ดีแบบหนึ่งก็คือการฝึก Mindfulness ให้รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น



iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


 

อ้างอิง:

[1] 5 Self-care Practices for Every Area of Your Life. Retrieve from https://www.verywellmind.com/Self-care-strategies-overall-stress-reduction-3144729

[2] What Is Spirituality? How Spirituality Can Benefit Your Health and Well-Being Retrieve from https://www.verywellmind.com/how-spirituality-can-benefit-mental-and-physical-health-3144807



บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ ISTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page