ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจนกลายเป็นอาชญากรเด็ก
จากคดีสะเทือนขวัญหลาย ๆ คดีที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ หากผู้ก่อเหตุเป็นเด็กอายุน้อยมักจะสร้างความหดหู่สะเทือนใจให้กับคนในสังคมมากขึ้นไปหลายเท่า เพราะขนาดเด็กที่มีการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและทางการคิดที่ไม่เต็มวัยยังทำได้ขนาดนี้ ถ้าโตไปมีร่างกายกำยำมากขึ้น คิดซับซ้อนได้มากขึ้น จะมีโอกาสมากขึ้นไหมที่เขาจะกระทำสิ่งที่โหดเหี้ยมทารุณในระดับที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
หลายคนจะพุ่งเป้าสาเหตุของการเกิดอาชญากรเด็กไปที่การเลี้ยงดูทั้งหมด แต่สาเหตุที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจนกลายเป็นอาชญากรเด็กนั้น แท้ที่จริงมีมากไปกว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครอง และโดยมากอาชญากรเด็กมักเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ได้แก่
1. ปัจจัยทางชีวภาพของเด็กแต่ละคน (biological factor)
ฮอร์โมน จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเด็กกล่าวว่า “เป็นที่แน่ชัดว่าเพศชายมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเพศหญิง” อย่างไรก็ตาม แม้เพศหญิงจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยกว่าเพศชาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพศหญิงจะไม่มีโอกาสเป็นอาชญากรเลย
พัฒนาการและโครงสร้างทางสมองของวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นตอนต้นซึ่งสมองยังมีความสามารถที่จำกัดในด้านการใช้เหตุผล การคำนึงผลที่ตามมา รวมทั้งการตัดสินใจยังไม่ดีเท่าวัยผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงได้มาก
ระดับสติปัญญา โดยมากพบว่าวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงมักมีสติปัญญาต่ำกว่าปกติ ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการคิด การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล นำไปสู่การมีปัญหาการเรียน การถูกปฏิเสธไม่ยอมรับ ทำให้มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจรวมถึงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงตามมา แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าอาชญากรเด็กจะต้องมีระดับสติปัญญาต่ำเสมอไป
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในตอนที่แม่ตั้งครรภ์ เช่น มีความเครียดสูง ใช้สารเสพติด ติดเชื้อ ได้รับสารพิษ ทำให้เด็กมีพื้นอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก (difficult temperament) ซึ่งมักจะมีโอกาสเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงสูง
2. ปัจจัยทางจิตวิทยา (Psychological Factors)
Conduct Disorder แปลเป็นไทยว่า “โรคเกเร” หมายถึง บุคคลที่มีพฤติกรรมขัดต่อบรรทัดฐานทางศีลธรรมของสังคมไปมาก โดยมักมีพฤติกรรมที่เริ่มตั้งแต่ทำทารุณกรรมสัตว์ จากนั้นจะเริ่มทำร้ายหรือข่มขืนคนอื่น ชอบทำลายข้าวของ ลักขโมย หนีโรงเรียน หนีออกจากบ้านไปเตร็ดเตร่ตอนกลางคืน ซึ่ง Conduct Disorder จะใช้ในการอธิบายอาการก้าวร้าวรุนแรงของเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียนไปจนถึงอายุ 18 ปี (คนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปจะใช้คำว่า Antisocial Personality Disorder แทน) ซึ่งจิตแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยโดยใช้เกณฑ์ของคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) โดยสาเหตุของโรคเกเรส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น ใช้ความรุนแรง ทารุณกรรมลูก ครอบครัวมีฐานะยากจน มีการใช้สารเสพติดในครอบครัว คนในครอบครัวมีประวัติก่อคดี ฯลฯ
มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low Self-esteem) ส่งผลให้มักจะคิดว่าตนเองถูกปฏิเสธหรือโดนคนอื่นดูถูก หลายคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำมักแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเพื่อให้รู้สึกว่าตนอยู่เหนือคนอื่น ทำให้เข้ากับเพื่อนทั่วไปได้ยากหรือรู้สึกว่าตัวเองถูกปฏิเสธ จึงไปเข้ากับกลุ่มเพื่อนที่เกเรเพราะรู้สึกได้รับการยอมรับมากกว่า
ขาดทักษะชีวิต เช่น ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการแสดงความต้องการของตนเอง ฯลฯ ซึ่งทักษะเหล่านี้ เด็กจะต้องมีผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างหรือคอยช่วยให้ความเหลือสนับสนุนเด็ก รวมถึงช่วยบ่มเพาะทักษะชีวิตให้กับเด็ก
3. ปัจจัยทางสังคมสิ่งแวดล้อม (sociological factors)
ครอบครัว ลักษณะครอบครัวมีผลต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างมาก แม้จะไม่ได้สอนเด็กออกมาเป็นคำพูด แต่เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมที่ตนเองเห็นได้จากผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูใกล้ชิดมากที่สุด หากเคยอ่านประวัติของอาชญากรหลายคนจะพบว่ามีประวัติการถูกเลี้ยงดูด้วยความทารุณ ถูกทอดทิ้งปฏิเสธจากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูใช้สารเสพติด มีอาการทางจิตเวช หรือมีลักษณะแบบเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ทำให้เด็กขาดความมั่นคงทางอารมณ์ นำไปสู่การมีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจเมื่อเด็กโตขึ้น
เพื่อน เด็กเกเรมักจะรู้สึกดีเมื่อได้อยู่กับเด็กเกเรด้วยกัน เพราะได้รับการยอมรับหรือยกย่องจากเพื่อนเมื่อทำพฤติกรรมเกเร จึงเกิดการรวมตัวกันเป็นแก๊งซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลใส่ใจอย่างเหมาะสมก็อาจจะกลายเป็นอาชญากรเด็กได้
โรงเรียน เช่น โรงเรียนไม่ได้ส่งเสริมความถนัดของเด็กแต่ละคนอย่างเหมาะสม เน้นชื่นชมแต่เด็กที่เรียนเก่งหรือได้รางวัลจากการประกวดแข่งขัน เมื่อเด็กมีปัญหาการเรียนหรือมีปัญหาอารมณ์พฤติกรรมก็ไม่ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองถูกปฏิเสธจากครูและรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนร่วมชั้น
ชุมชน เช่น อาศัยอยู่ในแหล่งยาเสพติด คนในชุมชนมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ทำให้เด็กชินชากับสภาพแวดล้อมดังกล่าวโดยขาดการตระหนักว่าภาพที่ชินตามันเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
สื่อต่าง ๆ การที่เด็กเสพสื่อที่มีความก้าวร้าวรุนแรงอยู่เป็นประจำก็จะทำให้เด็กชินชากับความรุนแรง
แม้ว่าการเลี้ยงดูจะไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงรวมถึงอาชญากรเด็ก แต่การที่พ่อแม่สร้างบรรยากาศครอบครัวที่อบอุ่นปลอดภัย สนับสนุนให้กำลังใจเมื่อลูกประสบปัญหา บ่มเพาะทักษะชีวิตให้กับลูก เดินทางสายกลางคือไม่ลงโทษลูกรุนแรงไร้เหตุผลและไม่ตามใจลูกจนปล่อยให้ทำตามใจตัวเองได้ทุกอย่างก็จะเป็นการลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจนกลายเป็นอาชญากรเด็กได้มาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลูกจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงไปแล้วก็ไม่ควรถอดใจหรือตัดหางปล่อยวัด แต่ควรรีบพาลูกไปพบจิตแพทย์ รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกตามที่จิตแพทย์แนะนำ เพื่อช่วยกันลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของลูกและป้องกันไม่ให้ลูกกลายเป็นอาชญากรเด็ก
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] Conduct Disorder. Retrieved from https://www.aacap.org/AACAP/Families_and_Youth/Facts_for_Families/FFF-Guide/Conduct-Disorder-033.aspx
[2] What are Disruptive, Impulse Control and Conduct Disorders? Retrieved from https://www.psychiatry.org/patients-families/disruptive-impulse-control-and-conduct-disorders/what-are-disruptive-impulse-control-and-conduct
[3] แนวทางการดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมรุนแรง. สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
[4] เด็ก กลุ่มเป้าหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546. มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
コメント