top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้จัก Passion รู้ทันความสำเร็จ


Passion คืออะไร?


นั่นสิคืออะไร เห็นมีคนพูดกันเยอะในช่วงนี้ มันเป็นเทรนด์เหรอ?



ทำไมหลายคนที่เป็นคนประสบความสำเร็จในชีวิต ได้พูดถึง passion ว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง หรือถ้าจะทำอะไรให้เริ่มต้นที่จากสิ่งเราชอบและเป็น passion แล้วมันจะเป็นจุดที่นำพาเรา ไปสู่ความประสบความสำเร็จ



บางคนก็อาจจะใช้เป็นคำบอกเลิกความสัมพันธ์ “ฉันหมด passion กับเธอแล้ว” ประโยคนี้คุ้นๆ เนอะๆ



สังเกตได้ว่า Passion ถูกใช้อธิบายในพฤติกรรมด้านบวก ด้านสำเร็จ และเรื่องของความรักได้ด้วย



สรุปแล้ว Passion คืออะไร?

ผู้เขียนได้พยายาม หาคำอธิบายเท่าที่จะหาได้ และนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่ายให้แล้วนะจ๊ะ อาจจะยาวนิด อิงทฤษฎีหน่อย อาจจะไม่ได้นำทุกทฤษฎีมาอธิบาย แต่อย่างน้อยก็พอได้ concept งั้นเข้าเรื่องกันเลย



ที่มาของ passion

รากศัพท์ละติน passion มาจาก passionem หรือ passio ซึ่งมีความหมายว่า ความเจ็บปวดซึ่งต้องอดทน หรือประสบการณ์ผ่านความเจ็บปวด ตามรากศัพท์แล้ว passion จึงมิใช่ความลุ่มหลงที่เกิดขึ้นลอยๆ หากคือพลังแห่งความต้องการผ่านพ้นความเจ็บปวดนั่นเอง


คำว่า passion ถูกใช้สำหรับการพูดถึงใน romantic passion เป็นส่วนใหญ่ หรือพูดง่ายคือ ความหลงใหล ในแนวรักๆ ใคร่ๆ โยงไปในสมัยยุคกลาง ได้อธิบายตามหลักศาสนาว่าหมายถึง ความทุกข์ ในมุมของศาสนาคล้ายๆ ตัวกิเลส ที่สามารถทำให้เราทุกข์ใจได้ ในมุมของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 18 ชื่อ Denis Diderot กล่าวถึง Passion ว่า เป็นส่วนผสมอันคลุมเครือระหว่างความปิติสุข (Pleasure) กับความทุกข์ทรมาน (Pain) ซึ่งเป็นความเข้มข้นอย่างรุนแรงทางความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใต้เลือดเนื้อและจิตวิญญาณ คอยขับเคลื่อนและผลักดันให้คนสามารถทำสิ่งเหนือธรรมดา หรือรู้จักในนาม “ความหลงใหล (Passion)” อาจโน้มน้าวให้คนมองเห็นสิ่งที่ดีงามหรือชั่วร้าย กระตุ้นให้ใครเข้มแข็งหรืออ่อนแอได้ในเวลาเดียวกัน (ผู้เขียนเข้าใจแล้วว่าทำไมคนนี้ถึงเป็นนักปรัชญา ก็ดูคำที่เค้าอธิบายpassion สิ...ธรรมดาที่ไหน)


passion ถูกมองในเชิงจิตวิทยาว่าเป็นแรงกระตุ้น (motivator) ตัวหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นที่ค่อนข้างมีพลังเพราะมาจากความชอบจากข้างในแต่ละคนจริงๆ (internal motivator) ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นแรงกระตุ้นที่ดีกว่า แรงกระตุ้นที่มาจากภายนอกอยู่แล้ว (external motivator)



Robert J. Vallerand (2003) เป็นผู้วิจัยเรื่อง passion คนหนึ่งและได้เสนอโมเดล ที่ชื่อว่า A Dualistic Model of Passion ขึ้น และแบ่ง passion ได้ 2 แบบ คือ




1. Obsessive passion (แบบหมกมุ่น)


เป็น passion ความสนใจในกิจกรรมนั้นหรือสิ่งนั้น มีความสนใจมาก มันเร้าใจมาก อดใจไม่ไหว หรือบางครั้งมันเกิดจากแรงกดดันทางสังคมซึ่งเรามักจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ (controlled internalization) และต้องกระโดดเข้าไปทำกิจกรรมนั้น

ยกตัวอย่าง เช่น คนที่ชอบเล่นเกมส์ (สาวกเกมส์) คนที่ชอบดูหนังดูซีรีย์ (สาวกซีรีย์) คือดูหรือเล่นจนลืมวันลืมคืน ไม่กินข้าวก็ยังได้ ไม่สนใจที่จะทำสิ่งอื่น จะหงุดหงิดเมื่อไม่ได้ดูอย่างต่อเนื่อง หรือขาดช่วงขาดตอน หรือนักสะสมสิ่งต่างๆ หรือคนที่หมกหมุ่นกับสิ่งนั้นนานๆ ใช้เวลากับสิ่งนั้นนานๆ เหมือนมีแรงดึงดูดทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล บางกรณีเพื่อนเราได้ซีรีย์เกาหลีมาใหม่ แล้วก็พูดแต่เรื่องนี้ เราไม่ดูก็ไม่ได้ เดี๋ยวพูดกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง เมื่อดูแล้วก็ลืมวันลืมคืน ลืมทุกสิ่ง ตกอยู่ในภวังค์ เป็นต้น คนลักษณะแบบนี้ผู้เขียนขอเรียกว่า ลักษณะแบบ (พี่อ๊อบ/พี่Ob) สายฮาร์ดคอ ก็แล้วกันจะได้จำง่าย




2. Harmonious passion (แบบสอดคล้อง)


จะเป็น passion ที่เรายอมรับว่าเราชอบกิจกรรมนี้ มันสำคัญกับตัวเรา มันแสดงความเป็นตัวตนของเรา เวลาเราทำกิจกรรมดังกล่าวเราจะมีอิสระในการเลือก คือ เราเลือกเองว่าจะทำมันหรือไม่ทำมัน กิจกรรมมีความสำคัญแต่เราเลือกว่าเราจะทำมันหรือไม่ทำมันตอนไหน ตัวกิจกรรมไม่มีผลเหนือตัวเรา (autonomous internalization) เช่น วาดรูป เล่นดนตรี ออกกำลัง ลักษณะการใช้ชีวิตหรือกิจกรรมที่เราเลือกทำได้และควบคุมได้ เป็นต้น คนลักษณะแบบนี้ผู้เขียนขอเรียกว่า ลักษณะแบบ (พี่ฮาร์/พี่Har)



Vallerand ได้เสนอสมมติฐาน และทำการตรวจสอบสมมติฐานทั้งสองแบบ พบว่าผู้ที่มี Obsessive passion (พี่อ๊อบ) มีโอกาสจะเกิดผลเสียต่อตัวเองได้ เนื่องจากในบางสถานการณ์ที่ใช้เวลานาน ไม่ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่น อาจทำให้เราสูญเสียกิจกรรมบางอย่างของชีวิต ผลลัพธ์โดยรวมอาจมีความสุขน้อยลง และอาจส่งผลต่อความสำเร็จในระยะยาวได้



ยกตัวอย่าง เช่น ศิลปินคนหนึ่งมี passion เรื่องการวาดรูปมาก วันวันไม่ทำอะไรเอาแต่วาดรูปอย่างเดียวกลายเป็น Obsessive passion (พี่อ๊อบ) เกิดขึ้น เพราะอยากวาดรูปให้ได้ดี อยากสำเร็จ มีความกดดันจากแรงขับภายนอกว่า ต้องทำให้ดี ต้องทำให้สำเร็จ ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่เหนือ passion ได้ ซึ่งทำให้เกิดผลลบในเรื่องครอบครัวหรือความสัมพันธ์ สุดท้ายแล้วกิจกรรมอื่นของชีวิตแย่หมด และส่งผลกลับมายังตัวเองที่มีความสุขน้อยลงด้วย ที่เป็นแบบนี้เพราะลักษณะสำคัญของ Obsessive passion (พี่อ๊อบ) คือ มีคงทนอยู่อย่างหนักแน่น (rigid persistence) ซึ่งจริงๆ ก็ดี แต่บางครั้งกลายเป็นว่า เรายึดติดกับตัวเองมากเกินไป (ego invested) ทำให้ขาดการควบคุมตน (integrative self-process)ในขณะที่ Harmonious passion (พี่ฮาร์) จะให้ผลที่ยืดหยุ่นมากกว่ามาก โดยจะมีการบังคับจิตใจตัวเองมากกว่า




Vallerand ยกตัวอย่างว่า ถ้าคุณเป็นนักฟุตบอลที่มี passion แบบ Obsessive passion (พี่อ๊อบ) เวลาเล่นแล้วเกิดบาดเจ็บแต่ก็ยังฝืนเล่นต่อ อยากเล่นต่อ มุ่งมั่น มุทะลุ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ คุณก็อาจจะเจ็บหนักกว่าเดิม แต่ถ้าคุณเป็น Harmonious passion (พี่ฮาร์) คุณจะผ่านกระบวนการคิดและบังคับจิตใจได้ รู้ว่าเวลาไหนควรพัก ว่าเวลาไหนควรเล่น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด



แต่ไม่ใช่ว่า Obsessive passion (พี่อ๊อบ) เป็นสิ่งไม่ดี อย่างน้อยมันก็ดีกว่าการที่ไม่มีแรงกระตุ้นอะไรเลยในตัวเอง (non-motivated) มีแรงส่งถึงความมุ่งมั่น ความอดทน แค่วิธีการและผลลัพธ์มันอาจจะสุดโต่งไปหน่อยเท่านั้นเอง



แล้ว Harmonious passion (พี่ฮาร์) มันมีดียังไงบ้าง


การทดลองทางจิตวิทยาของ Vallerand ก็พบว่า Harmonious passion (พี่ฮาร์) มีความสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดี โดยให้คำอธิบายว่า คนที่เป็น obsessive passion (พี่อ๊อบ) จะมีโอกาสเข้าไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงได้สูงกว่า เช่น คนที่ชอบจักรยานมากๆ ขี่ทุกวัน วันฝนตกก็ยังมี passion อยากออกไปขี่จักรยานโดยไม่คำนึงชีวิตตัวเอง จึงมีโอกาสบาดเจ็บหรือตายได้ หรือ คนที่บ้างานมากๆ ก็กลายเป็น office syndrome มีอาการปวดไหล่ ปวดหลัง เจ็บป่วยบ่อย เป็นต้น (เอ๊ะ! คุ้นๆ เหมือนใครบางคน อิอิ)



นอกจากนี้ Harmonious passion (พี่ฮาร์) ยังมีความสัมพันธ์ทางบวก กับ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal relationship) ได้ดีกว่าพี่อ๊อบ เพราะคนที่มี obsessive passion จะลืมทุกสิ่งอย่าง ไม่แคร์อะไร นอกจากสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น คนติดเกมส์ เล่นเพลินมากจนไม่กินข้าวปลา ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ขอเล่นเกมส์อย่างเดียว แต่ถ้าเป็น Harmonious passion จะมีการจัดการเรื่อง balance ได้ดีกว่า





ดูเหมือนว่า passion มีทั้งสายมืดและสายสว่าง ซึ่งมีคนได้กล่าวไว้ว่า Passion สายมืด คือ Obsessive passion ถ้าหมกหมุ่นกับสื่งที่ชอบ สิ่งที่ทำมากไป ก็ทำให้ชีวิตด้านอื่นเสียสมดุล passion สายสว่าง คือ Harmonious passion ทำให้คนนั้นมีความสุข มีความหมายกับชีวิต และมีสมดุล



เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหนังเรื่อง Harry porter ขึ้นมาที่มีเวทมนต์ด้านมืด และเวทมนต์ด้านสว่าง การมี passion ก็ประหนึ่งว่ามีเวทมนต์ในตัวเอง มันขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะใช้เวทมนต์นั้นไปในทิศทางใด และเป็นประโยชน์กับตัวเราและชีวิตเราอย่างไร ขอแค่คุณ ค้นหาให้เจอ เห็นประโยชน์ เข้าใจ และใช้ให้เป็น



คุณหา Passion ในตัวคุณเจอรึยัง? ถ้าเจอแล้วคุณจะใช้เวทมนต์นี้อย่างไร?

แล้วเจอกันในบทความต่อไป “แกะรหัสลับจาก Passion สู่ ความสำเร็จ ได้อย่างไร?”


 

อ้างอิง : https://www.researchgate.net/publication/228347175_On_the_Psychology_of_Passion_In_Search_of_What_Makes_People's_Lives_Most_Worth_Living



____________________________________________________

iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page