top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Prosocial behavior เหตุผลที่คนช่วยเหลือคนอื่น

“ไปเลห์ ลาดักกันไหม ?” คำชวนจากเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนที่ทำให้ผู้เขียนไม่ลังเลตอบรับคำชวนนั้นทันที ถึงแม้ความรู้เกี่ยวกับ ‘เลห์ ลาดัก’ จะมีน้อยมาก เพียงรู้แค่ว่ามีภูเขา ท้องฟ้าสีแจ่ม อากาศดี เท่านั้นเอง

แต่เมื่อไปจริงๆ แล้วสิ่งที่ประทับใจพอ ๆ กับธรรมชาติที่สวยงาม คือ ความเป็นมิตรของคนที่นั่นซึ่งพร้อมจะช่วยเหลือและส่งรอยยิ้มที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยให้กับบรรดานักท่องเที่ยวโดยไม่เลือกว่าเป็นคนจากภูมิภาคใดของโลก แต่จากการสังเกตเพิ่มเติมแล้ว ต่อให้ไม่ใช่นักท่องเที่ยวพวกเขาเองก็พยายามช่วยเหลือกันอย่างสุดความสามารถ ไม่ค่อยเห็นการเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นเหมือนในเมืองใหญ่ๆ ที่ชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบและการแข่งขันมากกว่า

จริงๆ แล้ว การช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็ถือเป็นการกระทำพื้นฐานที่เพื่อนมนุษย์ควรแสดงออกเพื่อทำให้สังคมเต็มไปด้วยสันติสุข เกิดแต่สิ่งดีงาม .......

ทางจิตวิทยาก็มีความพยายามในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นคำเรียกเฉพาะขึ้นว่า ‘Prosocial behavior’ หรือในไทยอาจใช้คำว่า ‘พฤติกรรมเอื้อสังคม’ หรือ ‘พฤติกรรมเสริมสร้างสังคม’ โดยเชื่อว่า บุคคลให้การช่วยเหลือกันเพราะ

1) เป็นบรรทัดฐานทางสังคม ที่เกิดจากความคาดหวังและความเชื่อว่า บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการการพึ่งพิงซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม

2) การช่วยเหลือเพื่อเป็นการตอบแทน บางครั้งเมื่อเราช่วยเหลือบุคคลอื่นแล้ว เมื่อเราต้องการการช่วยเหลือจากผู้อื่นก็มักที่จะได้การช่วยเหลือเป็นการแลกเปลี่ยนตอบแทน หรือบางครั้งเมื่อมีผู้อื่นช่วยเหลือเราแล้ว แต่พอเขาต้องการความช่วยเหลือจากเราบ้าง เราก็จะช่วยเหลือเขาเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ เข้าทำนอง “บุญคุณต้องทดแทน” (reciprocity)

3) การสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม เมื่อมีผู้ที่เดือดร้อนหรือด้อยกว่าเราต้องการความช่วยเหลือ บุคคลอื่นก็มักที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อหวังให้ผู้ที่เดือดร้อนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเกิดความเท่าเทียมกันในแง่ของสิทธิ์ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

การช่วยเหลือคนอื่น

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เราควรพิจารณาประกอบว่าตนเองจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้หรือไม่ อย่างไร ดังนี้

1) การให้ความใส่ใจ (Attention) คือ การที่เราสามารถรับรู้ และให้ความใส่ใจได้ว่ามีผู้ที่ประสบกับความเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลืออยู่ เนื่องจากบุคคลไม่มีพลังจิตหรือพลังพิเศษเหมือนซูเปอร์แมนและฮีโร่อื่นๆ ที่จะได้สัมผัสได้ว่ามีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและจะรุดไปช่วยเหลือได้ทันทีโดยที่เขาไม่ได้แสดงท่าทีออกมาเลย

2) การรับรู้ว่าเป็นสถานการณ์เร่งด่วนหรือฉุกเฉิน หากเรานิ่งเฉยไม่ให้การช่วยเหลือจะต้องเกิดเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นได้ เช่น ถ้าเราพบเห็นนักท่องเที่ยวที่กำลังหลงทางและมาถามทางเรา นั่นหมายถึงเขามีความเดือดร้อนที่ต้องการการพึ่งพิงเรามากกว่าเทคโนโลยีอย่าง Google Map แล้ว หรือแม้แต่เราเห็นคนเป็นลมหมดสติล้มลงต่อหน้า เราจะทำใจแข็งเดินผ่านได้โดยไม่แยแสต่อเขาได้เชียวหรือ?

3) ตัดสินใจว่าเป็นความรับผิดชอบของเรา ซึ่งจะเป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการรับรู้ว่าเป็นสถานการณ์เร่งด่วนหรือฉุกเฉิน คือ เมื่อมีผู้ที่มาขอความช่วยเหลือเราแล้ว เราเห็นว่าเราเป็นผู้ที่จะสามารถช่วยเหลือเขาได้เราจะเริ่มรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบ (หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นภาระเล็กๆ) ที่เราจะต้องให้ความสนใจ ใส่ใจที่จะช่วยเหลือเขาอย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น

4) จะช่วยเหลืออย่างไร? บุคคลจะพิจารณาจากความสามารถของตนเองว่ามีเพียงพอสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้หรือไม่ เช่น เมื่อพบเห็นอุบัติเหตุ มีผู้บาดเจ็บ หยุดหายใจ แต่เราไม่มีความรู้ทางด้านการปฐมพยาบาล และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีความเสี่ยง เราก็อาจไม่จำเป็นต้องลงไปช่วยทั้งๆ ที่ไม่พร้อม อาจทำการช่วยเหลือโดยการแจ้งกับหน่วยงานที่มีความสามารถพอช่วยเหลือได้จะเหมาะสมกว่า หรือในกรณีที่เรามักพบกันบ่อย คือ มีผู้ที่มาขอหยิบยืมเงิน ซึ่งถ้าเราไม่มีเงินเพียงพอและการให้ผู้อื่นยืมเงินจะต้องทำให้ตนเองเดือดร้อน และอาจทำให้เราต้องไปหยิบยืมเงินผู้อื่นอีกต่อทำให้เกิดความเดือดร้อนเพิ่มขึ้น เราก็อาจปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบของการหยิบยืมและให้คำแนะนำเพื่อทำการช่วยเหลือในรูปแบบอื่นแทน

การช่วยเหลือคนอื่น

จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะเห็นว่าการช่วยเหลือนั้นก็มีข้อที่ควรจะต้องพิจารณาอยู่ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามหากว่าบุคคลให้การช่วยเหลือกันอย่างเหมาะสม ลดความเห็นแก่ตัวลง ก็จะส่งผลทางบวกทางจิตใจมากมาย เช่น ทำให้บุคคลมีความสุข เกิดความอิ่มเอมใจ ช่วยยกระดับการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) คือ รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ มีค่าต่อผู้อื่น ช่วยให้บุคคลเกิดการรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถ และมีศักยภาพ (Self-efficacy) เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก เมื่อเราช่วยเหลือผู้อื่นได้สำเร็จเราจะเห็นว่าตนเองก็มีความ ‘เก่ง’ ที่สามารถทำให้เขาพ้นจากความทุกข์ได้นั้นเอง

- ลุงพุงป่อง

 

References

Ariely, D. Anat, B., & Stephan, M. (2009). "Doing good or doing well? Image motivation and monetary incentives in behaving prosocially". The American Economic Review. 99(1): 544–555.

Eisenberg, N., & Mussen, P. H. (1989). The Roots of prosocial behavior in children. United Kingdom: Cambridge University Press.

Penner, L. A., Dovidio, J. F., Piliavin, J. A., & Schroeder, D. A. (2005). Prosocial behavior: Multilevel perspectives. Annual Review of Psychology, 56, 365-392.

Weinstein, N., & Ryan, R. M. (2010). When helping helps: autonomous motivation for prosocial behavior and its influence on well-being for the helper and recipient. Journal of personality and social psychology, 98(2), 222.

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page