top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

10 ความแตกต่างระหว่างที่ปรึกษาที่ดีและไม่ดี


ในบางช่วงของชีวิต คุณเองก็อาจจะต้องการใครซักคนที่ไว้ใจได้ มารับฟังและแบ่งเบาเรื่องราวที่คุณกำลังแบกอยู่อย่างทุกข์ใจ คนที่คอยอยู่เคียงข้าง รับฟัง และทำให้คุณกลับมามีกำลังใจ ความสบายใจ หรือได้ทางออกของปัญหาที่เผชิญอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเป็นที่ปรึกษาคนคนนั้นให้คุณได้


ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า การที่คุณจะนำเรื่องราวทุกข์ใจไปเล่าให้ใครฟังนั้น นั่นถือเป็นการใช้เวลาในชีวิตของเขา แถมยังต้องให้เขามานั่งรับฟังเรื่องราวที่มักเป็นลบและเป็นความทุกข์ของคนอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ซึ่งบางครั้งเขาก็อาจกำลังแบกความเครียดของตัวเองอยู่แล้ว แล้วยังต้องมารับเรื่องราวจากคุณด้วย


ดังนั้นการที่จะไปขอเวลาใครให้เป็นที่ระบายหรือที่ปรึกษา คุณต้องเคารพในเวลาของเขาให้มาก และขอบคุณที่เขาสละเวลามารับฟังเรื่องราวของคุณ ที่สำคัญ อย่าลืมใช้เวลาแต่พอดี ไม่นานเกินไป และไม่วกวนซ้ำเดิมอยู่กับเรื่องเก่าที่เหมือนคุณอยากจะบ่นให้ฟังมากกว่าอยากจะหาทางแก้ไข


อย่างไรก็ตาม การได้ระบายกับคนที่คุณไว้ใจก็ไม่ใช่เรื่องผิด และการได้นั่งเป็นคนที่ช่วยแบ่งเบาความทุกข์ให้คนอื่นบางครั้งก็ทำให้เขาคนนั้นรู้สึกตัวเองมีคุณค่าด้วยเช่นกัน แต่ต้องอยู่บนกฎที่ว่า ต้องพอดี ไม่มากจนเกินไป


เราลองมาดูกันนะคะว่า คนให้คำปรึกษาที่ดีและที่ไม่ดี มีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง


1.

ที่ปรึกษาที่ดี: ตั้งใจฟังเพราะอยากเข้าใจเรื่องราวของคุณอย่างแท้จริง

ที่ปรึกษาที่ไม่ดี: พูดแทรกหรือตัดบท ไม่ได้ตั้งใจฟัง แต่จะรอพูดหรือสั่งสอน


2.

ที่ปรึกษาที่ดี: ถามคำถามเพื่อช่วยคุณได้ฉุกคิดและหาคำตอบที่ใช่สำหรับคุณเอง สลับกับแนะนำในสิ่งที่เห็นสมควรบ้าง

ที่ปรึกษาที่ไม่ดี: เน้นแนะนำ สั่งสอน ยุยงให้ทำบางอย่าง หรือให้วิธีการที่มาจากกรอบความคิดของเขาพราะเชื่อว่าวิธีเหล่านั้นดีที่สุด โดยไม่พิจารณาบริบทของคุณ


3.

ที่ปรึกษาที่ดี: เชื่อว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เข้มแข็ง-อ่อนแอ เด็ดเดี่ยว-ลังเล กล้าหาญ-ไม่มั่นใจ ไม่เท่ากัน

ที่ปรึกษาที่ไม่ดี: เชื่อว่า ถ้าเขาทำได้ คุณก็ต้องทำได้ เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ ทำได้อยู่แล้ว


4.

ที่ปรึกษาที่ดี: มองคุณในระดับเดียวกัน เชื่อในศักยภาพของคุณ ให้กำลังใจ และเชื่อว่าคุณจะสามารถเอาชนะสิ่งนั้นได้

ที่ปรึกษาที่ไม่ดี: มองคุณว่าด้อยกว่า เชื่อว่าคุณอาจคิดเองไม่ได้ จึงต้องแนะนำหรือออกคำสั่งให้ทำตาม


5.

ที่ปรึกษาที่ดี: ไม่ตัดสินใครจากมุมมองของเขา เพราะรู้ว่าแต่ละคนมีที่มาไม่เหมือนกัน

ที่ปรึกษาที่ไม่ดี: มีกรอบ กฎเกณฑ์ ความเชื่อของตัวเองที่พยายามจะแนะนำให้คุณเชื่อตามแบบนั้นด้วยเช่นกัน


6.

ที่ปรึกษาที่ดี: เคารพว่าเรื่องราวของคุณเป็นเรื่องส่วนตัว

ที่ปรึกษาที่ไม่ดี: นำเรื่องของคุณไปเล่าต่อ โดยที่คุณไม่อนุญาต


7.

ที่ปรึกษาที่ดี: ถามเท่าที่จำเป็นที่ต้องรู้ เพื่อให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสมที่สุด

ที่ปรึกษาที่ไม่ดี: ถามบางคำถามเพราะอยากรู้เป็นการส่วนตัว ซึ่งอาจไม่ได้เป็นประโยชน์ในการให้คำปรึกษา


8.

ที่ปรึกษาที่ดี: ปรารถนาจะเห็นคุณสบายใจขึ้น สงบใจ มีกำลังใจ หรือค้นพบทางออกของปัญหา

ที่ปรึกษาที่ไม่ดี: บางครั้งแค่อยากรู้เรื่องของคนอื่น บางครั้งทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีที่ว่าเขาไม่ใช่คนที่มีปัญหาอยู่คนเดียว


9.

ที่ปรึกษาที่ดี: ใส่ใจกับปัญหาของคุณ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่โตแค่ไหน

ที่ปรึกษาที่ไม่ดี: มองว่าปัญหาคุณเป็นเรื่องเล็ก เรื่องแค่นี้เอง ไม่เห็นต้องทุกข์ขนาดนั้น


10.

ที่ปรึกษาที่ดี: รับฟัง ช่วยได้เท่าที่ช่วย แค่ได้รับฟังอีกฝ่ายก็รู้สึกดีขึ้นแล้ว หากไม่รู้ก็ไม่พยายามแนะนำสิ่งที่ยังไม่ใช่

ที่ปรึกษาที่ไม่ดี: เน้นสอนหลักศาสนา สอนธรรมะ สอนสัจธรรมของชีวิตในจังหวะที่คุณยังไม่พร้อมจะรับ


หากใครมีคนข้างตัวที่ไว้วางใจได้และมีคุณสมบัติของที่ปรึกษาที่ดีทั้ง 10 ข้อหรือเกือบครบ ของแสดงความยินดีด้วย และแนะนำให้หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์กับคนคนนั้นให้ดี ๆ ที่สำคัญคือ Give & Take คือเป็นทั้งฝ่ายให้และรับ บางครั้งคุณก็ทุกข์ใจไประบายให้เขาฟัง บางครั้งเวลาที่เขาทุกข์ใจ คุณก็คอยอยู่เคียงข้างและรับฟังเขาเช่นกัน แบบนี้ถึงจะเรียกได้ว่า เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันอย่างแท้จริง


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

.

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ผู้เขียน

พิชาวีร์ เมฆขยาย

M.Sc. จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

B.Sc. จิตวิทยา

ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตในองค์กร / นักออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ / Youtuber / Blogger

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page