top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 วิธีเพิ่มพลังบวกใช้ชีวิตแบบ New Normal ด้วยหลักสุนทรียสนทนา


New Normal หรือการใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เต็มไปด้วยเจตนาดีที่จะทำให้เราห่างไกลจาก Covid-19 แต่ก็สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้เราไม่น้อยเลยค่ะ ดิฉันนำหลักจิตวิทยา ที่เรียกว่า “สุนทรียสนทนา” หรือ dialogue มาฝากคุณผู้อ่าน เพื่อนำมาเพิ่มพลังบวกในการใช้ชีวิตแบบ New Normal ซึ่ง “สุนทรียสนทนา” ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของจิตวิทยาการให้คำปรึกษา เพราะเป็นเทคนิคการฟัง และสนทนากับผู้อื่นโดยใช้ “ใจ” เป็นหลัก นั่นก็คือ การฟังผู้อื่นพูดอย่างตั้งใจ ไม่ขัดจังหวะ ไม่เถียง ไม่พูดแทรก ฟังด้วยจิตใจที่เป็น กลาง ไม่ตัดสินผู้พูดจากเรื่องที่เขาเล่า หรือสิ่งที่เขาทำ แต่ใส่ใจในความรู้สึกที่เขาถ่ายทอดออกมา และสะท้อนกลับด้วยความรู้สึกแท้จริงของเราโดยไม่มีอารมณ์เจือปน ทำให้บรรยากาศในการสนทนาให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เปิดเผย จริงใจ และมีอิสระที่จะแสดงความรู้สึกที่แท้จริงแล้วยิ่งในสถานการณ์ที่เราทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ต้อง social distinction หรือมีระยะห่างทางสังคม เทคนิค “สุนทรียสนทนา” ยิ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่จะทำให้เรากลับมาใกล้ชิดกันทางความรู้สึก ลดความเครียด เพิ่มพลังใจ ให้พลังบวก ลดซึมเศร้าได้ค่ะ โดยในบทความจิตวิทยานี้ ขอนำเสนอวิธีเพิ่มพลังบวกด้วยหลักจิตวิทยา “สุนทรียสนทนา” ด้วยกัน 3 วิธีค่ะ ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นมาอ่านกันเลยค่ะ

1. ลดความคาดหวังในการสนทนา

เมื่อไม่คาดหวังก็ไม่มีความผิดหวัง เมื่อไม่ผิดหวังเราก็ไม่เกิดความรู้สึกทางลบ ซึ่งสุนทรียสนทนา เป็นการสนทนาที่ต้องการให้คู่สนทนาไม่คาดหวัง แต่เมื่อจบการสนทนาจะทำให้เกิดความหวัง คือ หวังดีต่อคู่สนทนา หวังดีต่อตัวเอง นั่นก็เพราะสุนทรียสนทนา เป็นการพูดคุยด้วยความรู้สึกที่อิสระ เมื่อคนหนึ่งพูดอีกคนจะรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ขัด ไม่แทรก รอจนคู่สนทนาพูดจบแล้วจึงสะท้อนความคิดเห็น หรือความรู้สึกในเชิงบวก มันเปรียบเหมือนกับว่าสุนทรียสนทนาเป็นการดำน้ำที่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้พบอะไร ดังนั้น ไม่ว่าเราจะได้พบอะไรจากการดำน้ำ ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีทั้งนั้นค่ะ

2. เปิดใจเพื่อรับฟังสิ่งที่คู่สนทนาไม่ได้พูดแต่รู้สึก

สิ่งที่ทำให้สุนทรียสนทนาพิเศษกว่าการพูดคุยทั่วไป ก็คือ การรับรู้ความรู้สึกของคู่สนทนาผ่านการรับฟังสิ่งที่เขาพูดอย่างตั้งใจ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้บอกความรู้สึกออกมาก็ตาม แต่เราก็สามารถรับรู้ได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร และความพิเศษนี้เองค่ะที่ทำให้สุนทรียสนทนาเป็นเทคนิคที่นักจิตวิทยามักนำมาใช้ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม เพราะทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้เปิดเผยความคิด และความรู้สึกอย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลว่าผู้ฟังจะโต้แย้ง หรือมี Feedback ในทางลบกลับมา และยิ่งเมื่อเราต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ต้องอยู่ห่างกันด้วยแล้ว การใส่ใจความรู้สึกของอีกฝ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ

3. สังเกตความรู้สึกของตัวเองขณะสนทนา

ในการสนทนาแบบ “สุนทรียสนทนา” นอกจากจะทำให้เรารับรู้อารมณ์ของคู่สนทนาของเราแล้ว เรายังได้เรียนรู้ความรู้สึกของตนเองจากการสังเกตความรู้สึกขณะที่เรารับฟังเรื่องราวของคู่สนทนาอีกด้วย โดยวิธีการก็คือ ในขณะที่คู่สนทนาเล่าเรื่องของเขา เราก็สังเกตว่าเรามีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ เราเศร้าไปกับเรื่องเศร้าของเขาไหม เราภูมิใจ ดีใจไปกับเรื่องราวความสำเร็จของเขาไหม ซึ่งการสังเกตความรู้สึกเช่นนี้ จะสามารถบอกเราได้ว่าเรื่องหรือประเด็นอะไรที่ “โดนใจ” เรา เช่น เรามักจะรู้สึกเศร้าไปกับเรื่องพ่อ แม่ นั่นอาจจะเป็นตัวบอกเราว่า เรามีปมในใจที่ต้องไปเปิดใจกับพ่อ แม่ ของเราแล้ว หรือเรารู้สึกดีใจไปกับเรื่องของการทำตามความฝัน นั่นก็เป็นตัวบอกเราว่าถึงเวลาแล้วที่เราเองก็ควรทำตามความฝันเหมือนกัน และการเรียนรู้ความรู้สึกของตัวเราเองจะช่วยให้เราเติบโต มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นค่ะ

ถึงแม้ว่าเราจะต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ตัวต้องห่างไกล แต่ขอให้คุณผู้อ่านลองนำ 3 วิธีเพิ่มพลังบวกให้ชีวิตแบบ New Normal ด้วยหลักจิตวิทยา “สุนทรียสนทนา” ไปปรับใช้ดูนะคะ รับรองว่า จะทำให้ใจเราใกล้กันมากขึ้นแน่นอนค่ะ

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : ศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร. Dialoque : สุนทรียสนทนา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2563 จาก http://www.ns.mahidol.ac.th/english/KM/article003.htm

 

ผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.

และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี

เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ

ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 5 ปี

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page