top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 วิธีจัดการกับความคาดหวังที่อาจทำร้ายลูก

“หนูต้องเรียนให้เก่งนะ” “หนูต้องเป็นเด็กดี” คำพูดเหล่านี้ของคุณพ่อคุณแม่ แน่นอนค่ะว่าเปี่ยมไปด้วยความหวังดี แต่ก็เต็มไปด้วยความคาดหวังเช่นกัน ซึ่งพ่อแม่ไม่เข้าใจว่า คำพูดสุดแสนจะธรรมดาเหล่านี้ ทำร้ายลูกสุดที่รักของเราได้อย่างไร นักจิตวิทยามีคำตอบให้ในบทความนี้ค่ะ ไปดูกันได้เลย


จากผลการศึกษาทางจิตวิทยาของแพทยสภา ในปี 2561 พบว่า การที่นักศึกษาแพทย์ฆ่าตัวตายนั้น ได้เกิดขึ้นมานานกว่า 40 ปี แล้ว โดยสาเหตุหลัก ๆ มาจากการแข่งขันในการเรียนที่สูง ความคาดหวังของพ่อแม่ และอาจารย์ ทำให้นักศึกษาแพทย์เกิดความเครียด จนนำไปสู่โรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในที่สุด โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ความคาดหวังของพ่อแม่ทำร้ายลูก มีดังต่อไปนี้ค่ะ


1. พ่อแม่คาดหวังเกินความสามารถของลูก

ความสามารถ คือสิ่งที่เราลงมือทำได้สำเร็จ หรือมีความเชี่ยวชาญ เช่น ความสามารถด้านภาษา ความสามารถด้านดนตรี ความสามารถด้านกีฬา เป็นต้น ซึ่งเด็กแต่ละคนต่างก็มีความสามารถในแต่ละด้านแตกต่างกันไป และแน่นอนไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่เข้าใจถึงความแตกต่างตรงนี้ และมักจะมีความคาดหวังที่ไม่ตรงกับความสามารถของลูก หรือเกินกว่าความสามารถที่ลูกมี เช่น ลูกเล่นเซิร์ฟบอร์ดได้ก็คาดหวังให้ลูกไปเล่นกีฬาคล้าย ๆ กันที่สามารถไปแข่งระดับโลกได้ ทั้ง ๆ ที่ลูกเล่นเพื่อนคลายเครียด เป็นต้น

2. พ่อแม่ไม่เข้าใจศักยภาพของลูก


ขออนุญาตเปรียบเทียบให้เห็นภาพนะคะ การที่พ่อแม่ไม่เข้าใจศักยภาพของลูก ก็เหมือนการที่คุณซื้อรถอีโคคาร์มาขับ แต่คาดหวังว่ารถเราจะสามารถซิ่งได้ 180 – 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่รถเราวิ่งได้เร็วที่สุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็เก่งแล้ว ลูกของเราก็เช่นเดียวกันค่ะ หากเราเห็นว่าลูกมีศักยภาพด้านกีฬามากกว่าวิชาการ แต่เราไม่เห็นคุณค่าของศักยภาพลูก เคี่ยวเข็ญให้ลูกไปเรียนพิเศษ ไปติว ไปเรียนสายพิเศษ ซึ่งแน่นอนค่ะว่าผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังแน่นอน ดังนั้น หากเราสามารถปรับความคาดหวังให้สอดคล้องกับศักยภาพของลูก เราก็จะมีใจที่จะส่งเสริมลูกให้ถูกทางได้ค่ะ

3. ลูกไม่ได้มีส่วนร่วมในความคาดหวังของพ่อแม่


สำหรับเด็กเล็กการมีส่วนร่วมในความคาดหวังของพ่อแม่คงเป็นเรื่องยากค่ะ เพราะเด็กยังไม่รู้จักตัวเองดีพอ แต่ในเด็กโต หรือวัยรุ่นที่รู้ตัวแล้วว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร มีความคาดหวังกับชีวิตตัวเองอย่างไร นักจิตวิทยาแนะนำว่า การให้ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งความคาดหวังของพ่อแม่ เช่น เลือกสายการเรียน กำหนดเกรดการเรียนที่สามารถทำได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องดีกับอนาคตของลูกอย่างมากเลยค่ะ เพราะลูกรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของความคาดหวังของพ่อแม่ และเขาจะรู้สึกเชื่อใจพ่อแม่มากยิ่งขึ้น เพราะพ่อแม่เชื่อใจให้เขามีส่วนร่วมในความคาดหวังของพ่อแม่ก่อนค่ะ

โดยผลจากความคาดหวังที่ทำร้ายลูกของพ่อแม่ จะทำให้เด็กเกิดระบบความคิดที่เรียกว่า “Fixed Mindset” คือ เด็กจะเกิดความคิดว่า ตัวเองเก่งไม่พอ หรือเกิดอาการ IMPOSTER SYNDROME หรือ “โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” ได้


นอกจากนั้น เด็กยังเกิดความกลัวที่จะริเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ หรือไม่กล้าลงมือทำในสิ่งที่แตกต่างจากเดิม หวาดกลัวความล้มเหลว และมีแนวโน้มยอมแพ้ต่ออุปสรรคได้ง่าย ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเด็ก ๆ ที่ต้องใช้ชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และตลอดเวลาเช่นนี้เลยค่ะ

ด้วยเหตุนี้ นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า ให้พยายามปรับความคิดของเด็ก ๆ ให้เป็น “Growth Mindset” คือ มีความสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือสิ่งที่แตกต่างจากเดิม กล้าคิด กล้าทำ กล้าลองผิด ลองถูก ไม่กลัวความผิดพลาด และมีทัศนคติว่า “ผิดเป็นครู” คือ เราสามารถเรียนรู้จากสิ่งผิดพลาดได้เสมอ เด็กที่มีความคิดแบบ “Growth Mindset” จะมีความใจสู้ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคง่าย ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะมักคิดหาทางแก้ปัญหาอยู่เสมอ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง และมีแนวโน้มปรับตัวได้ดีค่ะ


โดยวิธีการสร้างระบบความคิดแบบ “Growth Mindset” ให้กับเด็ก ๆ นั้น ทำได้ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่เรากลับไปจัดการกับสาเหตุของความคาดหวังที่ทำร้ายลูก ทั้ง 3 สาเหตุ ดังนี้


1. ปรับความคาดหวังให้เหมาะสมกับความสามารถของลูก


อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นค่ะ ว่าการตั้งความหวังที่สูงเกินไปของพ่อแม่ จะทำให้ลูกเครียด กดดัน และอาจทำให้เกิดโรคทางจิตเวชต่าง ๆ ตามมา ทั้งโรคเครียด โรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้าแต่ในทางจิตวิทยา การไม่คาดหวังอะไรกับตัวลูก หรือทำตามความรักในอุดมคติ คือ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไรเราก็ยินดีนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะจะทำให้ลูกขาดความพยายาม ขาดระเบียบวินัย ขาดความรู้สึก ที่จะรับผิดชอบต่อตนเอง หรืออาจส่งเสริมให้ลูกเป็น Toxic people ต่อคนอื่นได้ เพราะลูกอาจจะโนสน โนแคร์ คนรอบข้างไปเลยค่ะ


ดังนั้น การปรับความคาดหวังของพ่อแม่ให้เหมาะสมกับความสามารถของลูก โดยไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป จะเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่ายมากที่สุดค่ะ


2. ทำความเข้าใจกับศักยภาพของลูก


หากปัญหาเกิดจากพ่อแม่ไม่เข้าใจศักยภาพของลูก วิธีแก้ที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ ไปทำความเข้าใจศักยภาพของลูก โดยการใช้เวลากับลูกให้มากขึ้นค่ะ ลองไปทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกทำในสิ่งที่ลูกชอบ ลูกสนใจ ลูกอยากเรียน อยากเล่นอะไร หากส่งเสริมได้ก็ส่งเสริมดูค่ะ รับรองเลยว่าอย่างน้อยที่สุดที่คุณจะได้กลับมา ก็คือ “ความสุขของลูกค่ะ” ซึ่งเป็นอย่างน้อยแต่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของลูกเลยละค่ะ

3. เปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตั้งความคาดหวังของพ่อแม่


การเปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมในความคาดหวังของพ่อแม่นั้น หาโอกาสได้ไม่ยากเลยค่ะ โดยสามารถพูดคุยแบบเปิดใจกับลูกได้ทุกเมื่อเลย ไม่ว่าจะเป็นเวลารับประทานอาหาร เวลาที่ขับรถไปส่งลูกเรียน เวลาดูโทรทัศน์ร่วมกัน หรือเวลาอื่น ๆ ที่เอื้ออำนวย เราก็สามารถพูดคุยแบบสบาย ๆ ถึงสิ่งที่ลูกต้องการ ความคาดหวัง หรือความฝันของลูกได้ และลองแบ่งปันกันนะคะว่าถ้าแม่คาดหวังกับลูกแบบนี้ลูกจะโอเคไหม ถ้าพ่อตั้งความหวังกับลูกแบบนี้ ลูกสามารถทำได้ไหม ซึ่งการพูดคุยกันเช่นนี้เป็นประจำ จะทำให้ทั้งครอบครัวลดความกดดันกันเอง และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขค่ะ



ความคาดหวัง หลายครั้งก็ทำร้ายคนที่เรารักโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเป็นความคาดหวังที่เกิดจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะเป็นความคาดหวังที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าใจในตัวตน และความหวังดีของอีกฝ่ายค่ะ ซึ่งจะสามารถลดความรู้สึกที่ว่า “พ่อแม่ไม่เข้าใจ” ไปได้มากเลยค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

1. ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์. 9 เมษายน 2561. สื่อสารให้เข้าใจความเครียดในเด็กวัยรุ่น. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2564 จาก https://www.chula.ac.th/cuinside/7625/


2. โสรยา ชัชวาลานนท์. มปป. ความคาดหวังของพ่อแม่ คืออาวุธร้าย ทำลายลูก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2564 จาก https://th.theasianparent.com

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก


บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี




facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page