นักจิตวิทยาแนะนำ 3 แนวทางการจัดการกับความเครียดในช่วงเรียนออนไลน์
- นิลุบล สุขวณิช
- Feb 2, 2021
- 1 min read
Updated: Apr 30

จากกระแสของชาวเน็ตเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ของนักเรียนนักศึกษา ที่ส่วนหนึ่งก็อยากจะให้เลื่อนการเปิดเทอมแล้วเรียนแบบออนไลน์แทนไปก่อน เพราะยังรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังวางใจไม่ได้ และก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องการให้กลับไปเรียนแบบปกติ เพราะมองเห็นว่าการเรียนออนไลน์นั้นทำให้ผู้เรียนรู้สึกเครียดกว่าการไปเรียนที่สถานศึกษาตามปกติ
อีกทั้ง เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังมีข่าวที่สะเทือนใจสังคมเกี่ยวกับนักศึกษาคนหนึ่งที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยในข่าวได้เชื่อมโยงสาเหตุการเสียชีวิตของนักศึกษาคนดังกล่าว เรียนออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียดขึ้นจนกลายเป็นข่าวที่สร้างความเสียใจและกระตุ้นให้สังคมหันมาตระหนักถึงความเครียดจากการเรียนออนไลน์กันมากขึ้น
ทั้งนี้ ทาง iSTRONG เองก็รู้สึกเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กล่าวมาในข้างต้นเช่นกัน เราจึงขอเป็นอีกหนึ่งในเพื่อนร่วมทางที่พร้อมจะเดินเคียงข้างไปกับทุกคน ไม่ว่าจะในส่วนของผู้เรียน ผู้สอน หรือผู้ปกครอง ก็ตาม
เนื่องจากการเรียนออนไลน์นั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว ปรับใจกันพอสมควร ด้วยการเรียนที่ต้องอาศัยการนั่งอยู่หน้าจอแทบตลอดทั้งวัน การที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์เชื่อมต่อ และค่าใช้จ่ายอย่าง ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าไฟ
ในเบื้องต้น iSTRONG ขอแนะนำแนวทางในการจัดการกับความเครียดในช่วงเรียนออนไลน์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับตัวเอง ดังนี้ค่ะ
1. ทำความเข้าใจและยอมรับสถานการณ์
เชื่อว่าทั้งผู้สอนหรือสถานศึกษาก็ไม่อยากให้มีการเรียนแบบออนไลน์เช่นกัน เนื่องจากครู อาจารย์เองก็ต้องรับภาระหนักขึ้นในการเตรียมสื่อการสอน และต้องเฟ้นหาเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในการสอนเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้รับความรู้อย่างไม่แตกต่างกับการมานั่งเรียนในห้องเรียน
ส่วนผู้เรียนเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าไม่ปลื้มกับการเรียนออนไลน์อย่างแน่นอน โดยพบว่า 46% ของผู้เรียนระบุว่าไม่ชอบเรียนออนไลน์เพราะรู้สึกว่าเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจก็ไม่สามารถถามได้ทันที ไม่มีกิจกรรม ไม่ได้เจอเพื่อน จึงทำให้รู้สึกเบื่อ และบางคนยังประสบปัญหาจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรอีกด้วย
แต่ถึงแม้เราจะไม่ชอบการเรียนแบบออนไลน์อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราก็คงจะมีทางเลือกไม่มากนัก เราต้องเลือกว่าจะยอมออกไปเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วได้ใช้ชีวิตตามปกติแบบที่เคยเป็นมา หรือ จะยอมเรียนออนไลน์ ที่ทั้งน่าเบื่อและชวนเครียดอยู่ที่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วย
นอกจากนั้นแล้ว เรายังมีคนเลือกให้เราด้วยว่าจะต้องเรียนแบบไหนเมื่อไหร่ ดังนั้น บนทางเลือกที่มีไม่มากนัก หากเราพยายามคิดถึงทางที่ดีต่อเราแต่เราไม่สามารถเลือกทางนั้นได้ มันก็จะมีแต่ทำให้เราเครียดหนักขึ้นไปอีก ทางเดียวที่จะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายกับสถานการณ์ที่เราควบคุมมันแทบไม่ได้ ก็คือ ทำความเข้าใจและยอมรับสถานการณ์ค่ะ
เทคนิคการจัดการกับความเครียดเพิ่มเติมได้ที่ 9 วิธีเด็ดจัดการความเครียดให้อยู่หมัด ตามแบบฉบับนักจิตวิทยา
2. เรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจ
บ่อยครั้งที่เราต้องพบเจอกับความผิดหวัง เผชิญกับความรู้สึกไม่มั่นคงจากสถานการณ์ที่เราคาดเดาไม่ได้เลย ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นต่อไป อย่างเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ ซึ่งแม้ว่าช่วงหนึ่งที่การแพร่ระบาดเริ่มลดลงจนเหมือนตัวเลขผู้ป่วยจะนิ่งขึ้น และทำให้มีประกาศผ่อนปรนมาตรการให้นักเรียนสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้
แต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ก็มีเรื่องที่คาดฝันเกิดขึ้นคือมีโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ให้ทำการปิดโรงเรียนในเขตเทศบาลนครแม่สอดอย่างไม่มีกำหนด สืบเนื่องมาจากมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สูงอายุอยู่ในชุมชนในพื้นที่
โดยประกอบอาชีพค้าขายของในตลาด จากนั้น บุตรหลานของผู้ป่วย ซึ่งจากไทม์ไลน์ได้มีการเดินทางไปทั่วอำเภอแม่สอดรวมทั้งโรงพยาบาลแม่สอดด้วย จนต้องมีการกักตัวพยาบาลโรงพยาบาลแม่สอด 25 คน และสั่งปิดชุมชน เพื่อสอบสวนโรค ทำความสะอาดและปิดโรงเรียนดังกล่าว
ดังนั้น แม้ว่าเราจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงและเกลียดสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจมากแค่ไหน เราก็ทำอะไรกับมันได้ไม่มากนัก นอกจากที่จะหาวิธีการที่จะอยู่ร่วมกับมันให้ได้เพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไม่เครียดจนเกินไป
เทคนิคการปรับตัวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ที่ 5 เทคนิคปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจาก Covid - 19 รอบ 2
3. เมตตาและให้อภัยตัวเองบ้างก็ได้
ในช่วงเวลาที่ต้องหายใจยาว ๆ เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ที่ตึงเครียดนี้ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่อาจจะต้องประสบกับความผิดหวังหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ดั่งใจ ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะเคยได้คะแนนดีระดับต้น ๆ ของห้อง หรือไม่เคยสอบตกเลย แต่พอเปลี่ยนมาเรียนแบบออนไลน์ ทำให้คะแนนลดลง ต้องอดหลับอดนอนทำงานส่งครูแต่ก็ทำไม่ทันอยู่ดี
หากเริ่มเกิดความรู้สึกผิดหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอก็แสดงว่านั่นเริ่มเป็นสัญญาณที่เราเริ่มไม่เมตตาตัวเองแล้วค่ะ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มมีเสียงดุด่า ว่าตัวเอง แทรกเข้ามาในความคิด และชักจะเคี่ยวเข็ญเอาเป็นเอาตายกับตัวเองเสียแล้ว หรือที่ซับซ้อนไปกว่านั้นก็คือ บางครั้งเราก็อยากจะเท (ศัพท์แสลง หมายถึง ล้มเลิก ทิ้ง) การเรียนออนไลน์ ไปเล่นเกม ไปเที่ยว ไปนอน
แต่ระหว่างที่เราไปเล่นเกม ไปเที่ยว ไปนอน เรากลับไม่รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เห็นจะหายเครียดขึ้นมาได้เลย แต่กลับรู้สึกหนักอึ้งมากไปกว่าเก่า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่าข้างในเรามันขัดแย้งกันเสียแล้วค่ะ เพราะลึกลงไปเราก็แอบคาดหวังให้ตัวเองมีความรับผิดชอบ ขยัน ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แต่ร่างกายและสมองของเรามันก็อ่อนล้าเกินกว่าจะมานั่งโฟกัสกับการเรียน ผลก็คือ “ตอนพักไม่ได้พัก ตอนเรียนไม่ได้เรียน”
ทางแก้หนึ่งก็คืออนุญาตให้ตัวเองพักได้ เมตตาตัวเองบ้างเถิด พูดกับตัวเองด้วยความอ่อนโยนบ้างเถิด เช่น “ฉันมีความเหนื่อยล้า ตอนนี้ฉันขอเวลาผ่อนคลายสักพัก” โดยระหว่างที่พักเราก็อนุญาตตัวเองให้พักด้วยการไม่บ่นอยู่ในใจว่า “ทำไมเราขี้เกียจจัง” “ทำไมเรานิสัยแบบนี้” แล้วทำให้เสียงด่าตัวเองมันเงียบลง พักก็คือพักไปเลยค่ะ เพื่อให้สมองและร่างกายชาร์จแบตบ้าง
แต่ถ้าหากพักแล้วก็ยังคงอ่อนเพลีย หรือพยายามเมตตาตัวเองแล้วแต่ก็ยังรู้สึกผิดมาก ไม่สามารถมูฟออนไปจากความรู้สึกผิดพลาดล้มเหลวได้เลย หรือเริ่มมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ก็สามารถนัดหมายรับคำปรึกษากับนักจิตวิทยาของ iSTRONG ได้นะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ
ระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำ
อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG