top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นี่เราพลาดอะไรไปหรือเปล่า ? 4 วิธีรับมืออาการกลัวตกกระแส FOMO



คุณเป็นคนหนึ่งไหมคะ ที่ไม่ว่าโลก Social Media เขานิยมอะไรกัน คุณก็จะไม่พลาดที่จะไปเล่นหรือทำตาม อย่างที่เพิ่งเป็นกระแสเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือมินิเกม POPCAT ที่ป๊อบกันจนประเทศไทยขึ้นอันดับหนึ่งของโลกอย่างรวดเร็วกันเลยทีเดียว ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เขาฮิตกัน คุณจะไม่ยอมให้ตัวเองตกกระแสโดยเด็ดขาด และจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองตกข่าวพูดกับใครไม่รู้เรื่อง จนต้องคอยเช็ค Social Media อยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็เกาะกระแสจนไม่หลับไม่นอน หากเป็นอย่างนั้นคุณอาจกำลังมีอาการกลัวตกกระแส (Fear Of Missing Out : FOMO)


อาการกลัวตกกระแส (FOMO) จาก Urban Dictionary กล่าวว่า “เป็นการถูกกระตุ้นจากโพสต์ที่เห็นใน Social Media ทำให้รู้สึกว่าต้องกลับเข้าไปดูบ่อย ๆ” ซึ่งไม่ใช่แค่ความกังวลในเรื่องทั่วไปอย่างกระแสฮอตฮิตใน mobile app ต่าง ๆ ข่าวดารา หรือมินิเกมที่กำลังเป็นที่นิยม แต่ FOMO ยังรวมไปถึงนักศึกษาในวัยอุดมศึกษาที่มีความกังวลว่าตนเองจะถูกหลงลืมหรือพลาดอะไรที่คนอื่นรู้กันหมด ทั้งนี้ FOMO ไม่ใช่อาการหรือโรคทางจิตเวชแต่เป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจ (Psychological Phenomena) ที่ทำให้บุคคลคิดว่า “มันอาจจะกำลังมีเรื่องดีและไม่ดีเกิดขึ้นอยู่บนโลกนี้ ซึ่งเราคงไม่รู้เลยถ้าเราไม่เข้าไปเช็ค Social ดูสักหน่อย”

โดยจากเว็บไซต์ของ RAMA Channel ได้เล่าถึงลักษณะของคนที่มีอาการ FOMO ไว้ดังนี้


  • กลัวการตกข่าว กลัวการตกกระแส

  • กลัวการไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง

  • กลัวไม่ได้เป็นคนสำคัญ จึงต้องคอยเช็คข่าวสารอยู่ตลอดเวลา จะได้รู้ก่อนและแชร์ก่อนใคร

  • ต้องการให้โพสต์ของตัวเองได้ยอดไลค์เยอะ ๆ

  • พอพลาดอะไรไป หรือไม่ได้ดังที่ใจหวังก็จะรู้สึกเครียดขึ้นมา

  • ชีวิตวนเวียนอยู่กับโลกออนไลน์ โดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเสพติด จนส่งผลต่อบุคลิกภาพและการพัฒนาอื่น ๆ


ซึ่งผลกระทบของอาการ FOMO ก็มีหลากหลายรูปแบบและหลายระดับด้วยกัน เช่น


  • ทนต่อความรู้สึกผิดหวังได้น้อยลง เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยหรือตำหนิก็จะรู้สึกทนไม่ได้หรือโกรธแค้น

  • เสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคหลงตัวเอง เพราะรู้สึกว่าตัวเองเจ๋งมีคนชอบเยอะ หรือโรคซึมเศร้า เพราะรู้สึกเปรียบเทียบกับคนอื่นเสมอและมักรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ

  • รับฟังคนอื่นได้น้อยลง


ในส่วนของวิธีการรับมือ ข้อมูลจาก King University Online ได้บอกไว้ดังนี้


1. ใช้ JOMO รับมือ FOMO โดย JOMO ย่อมาจากคำว่า “Joy Of Missing Out” ซึ่งหลักการนี้ใช้แนวทางของความฉลาดทางอารมณ์ในการรับมือกับอาการกลัวตกกระแสด้วยการ


  • ถอยห่างจากโลกออนไลน์บ้าง

  • ตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์กับบุคคลจริง ๆ ที่มีคุณค่ามากกว่าความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์

  • ทวงคืนเวลาที่เคยเสียไปกับโลกออนไลน์ให้ตัวเอง และดื่มด่ำกับช่วงเวลาที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์ (เช่น อาจจะหากิจกรรมรูปแบบอื่นทำเป็นการทดแทนอย่าง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ทำงานศิลปะ ฯลฯ)

  • หาทางเลือกในการปลอบประโลมใจตัวเอง เนื่องจากคนที่ติดโลกออนไลน์นั้น อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากความรู้สึกไม่มีความสุขในโลกของความเป็นจริง จึงใช้โลกออนไลน์ในการทำให้ตัวเองรู้สึกดีมากขึ้น จึงมีแนวโน้มทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายน้อย หรือไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่หากบุคคลมีวิธีการอื่น ๆ ในการทำให้ตัวเองรู้สึกดีที่ไม่ใช่การฝังตัวเองอยู่ในโลกออนไลน์ ก็จะเป็นการช่วยให้ความรู้สึกกลัวตกกระแสลดลง


2. เผชิญหน้ากับความกังวลหรือความรู้สึกกลัวตกกระแสไปตรง ๆ เลย โดยอาจจะใช้วิธีตั้งคำถามกับตัวเองก็ได้ว่า “การตกกระแสจะทำให้เราเป็นยังไง” “ถ้าเราไม่ได้รับยอดไลค์เยอะ ๆ แล้วมันจะทำให้เราแย่ยังไง แล้วเราจะต้องเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า”


3. ทำตารางเวลาให้กับตัวเองขึ้นมาว่าจะใช้เวลากับโลกออนไลน์เท่าใด และคอยสังเกตว่าตนเองทำได้ตามที่ระบุไว้ในตารางหรือไม่ โดยอาจกำกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างที่ตัวเองต้องทำตามตารางไว้ด้วย เพื่อให้สามารถสังเกตความรู้สึกของตัวเองได้มากขึ้น เช่น ยาก/ไม่สนุก ยาก/สนุก ง่าย/ไม่สนุก ง่าย/สนุก ฯลฯ


4. ฝึกตัวเองให้อยู่กับช่วงเวลาปัจจุบัน (here and now) ให้ได้มากขึ้น เนื่องจากความรู้สึกกังวลมักเกิดขึ้นเวลาที่บุคคลคิดคาดการณ์ล่วงหน้าไปถึงอนาคตว่าตัวเองจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ การอยู่กับปัจจุบันจะช่วยให้บุคคลโฟกัสกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้มากขึ้น เช่น กำลังปลูกต้นไม้ก็จดจ่ออยู่กับต้นไม้ โดยไม่ไปคิดหมกมุ่นไปว่าตัวเองจะพลาดข่าวอะไรไปหรือเปล่า


อย่างไรก็ตาม หากคุณพบว่าอาการกลัวการตกกระแสกระทบกับคุณมากจริง ๆ เช่น หยุดดู Social Media ไม่ได้เลยจนสุขภาพกายได้รับผลกระทบ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอยู่ในระดับพัง หรือเริ่มมีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวที่ไม่ได้เข้าไปเช็ค Social Media ก็อย่าปล่อยผ่านเลยค่ะ เพราะมันอาจพัฒนาไปเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้ แนะนำให้ลองปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ ก่อนที่จะสายเกินแก้ค่ะ

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันทำงานเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

และเป็นนักเขียนของ istrong

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page