top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 พฤติกรรมที่บ่งบอกว่าคุณเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับผู้คน


คนเราล้วนมีซักช่วงเวลาหนึ่งที่ต้องกลายเป็นที่ปรึกษาให้กับคนอื่น เช่น เพื่อนมีปัญหาชีวิตโทรมาปรึกษาคุณ คุณครูอาจารย์ที่ต้องมีการให้คำปรึกษาลูกศิษย์ หัวหน้าที่ต้องให้คำปรึกษาลูกน้อง ทนายที่ต้องให้คำปรึกษากับลูกความ HR ที่มีพนักงานในองค์กรมาขอคำปรึกษา คุณพ่อคุณแม่ที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำกับลูก หรือพนักงานขายที่ต้องสวมบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้า


หลายคนมักเข้าใจว่าการเป็นที่ปรึกษาที่ดีนั้นคือต้องสามารถให้คำแนะนำคนที่มาปรึกษาได้ยอดเยี่ยม ซึ่งนั่นอาจจะจริงสำหรับบางกรณี แต่ความจริงแล้วการให้คำปรึกษาส่วนใหญ่ที่ได้ผลในระยะยาวนั้น ผู้ที่มารับคำปรึกษาไม่ได้ต้องการคำแนะนำ แต่เขากำลังมองหาทางออก โดยหลายครั้งทางออกอาจมาจากความคิดของพวกเขาเอง ซึ่งที่ปรึกษาจะทำหน้าที่เพียงเพื่อนร่วมเดินทาง พาเขาไปพบทางออกด้วยตัวเอง


ทีนี้คุณลองมาเช็คตัวเองกันว่า ในระหว่างให้คำปรึกษาคุณได้แสดงออกแบบที่ปรึกษาที่ดีมากน้อยแค่ไหน กับ 5 พฤติกรรมดังต่อไปนี้


1. คุณใส่ใจผู้ที่มาขอคำปรึกษาและสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้

การให้คำปรึกษาที่ประสบความสำเร็จนั้น คุณต้องสามารถทำให้ผู้ที่มาขอคำปรึกษารู้สึก “ไว้วางใจ” คุณได้ เพราะเรื่องที่เขานำมาเล่าให้คุณฟัง หลายครั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นเรื่องที่เปิดเผยให้คนทั่วไปไม่ได้ ดังนั้นหากคุณสามารถสร้างบรรยากาศ แสดงออกด้วยสีหน้า ท่าทาง คำพูด ที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไว้วางใจและรู้สึกดีกับการคุยกับคุณได้ นั่นถือว่าคุณประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว


2. คุณฟังมากกว่าพูด

หลายครั้งที่คนมาขอคำปรึกษาต้องการรู้สึกว่ามีคนเข้าใจในปัญหาของเขาอย่างแท้จริง ไม่ใช่คนที่ยังไม่ทันได้ฟังรายละเอียด ก็รีบให้คำแนะนำจากมุมมองของคนให้คำปรึกษา ซึ่งหลายครั้งมักทำให้การพูดคุยครั้งนั้นไม่ได้ผล เพราะคนที่มาขอคำปรึกษาไม่ได้นำไปใช้จริง คนที่ให้คำปรึกษาชั้นเซียนมักจะฟังมากกว่าพูด เพื่อให้เข้าใจมุมมองและสถานการณ์ของเจ้าของปัญหาได้อย่างแท้จริง เพื่อจะได้พาไปค้นหาทางออกที่ใช่และเหมาะสมกับผู้มาขอคำปรึกษาได้จริง ๆ


3. คุณตั้งคำถามได้อย่างยอดเยี่ยม

สิ่งที่ท้าทายสำหรับที่ปรึกษาไม่ใช่การให้คำแนะนำ แต่คือการตั้งคำถามที่สามารถพาให้ผู้ที่มาขอคำปรึกษาได้ฉุกคิด หรือวิเคราะห์ลงในปัญหาของเขา รวมถึงถามแล้วพาให้เขาไปพบทางออกด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเวลาที่เขามาพร้อมกับความรู้สึกทุกข์ใจ อึดอัดใจ ท้อแท้ สิ้นหวัง เศร้าซึม หรือโกรธ ที่ปรึกษาที่เก่งจะถามคำถามได้คมและตรงประเด็น แล้วช่วยให้ผู้มาขอคำปรึกษาได้ “หลุด” ออกจากความคิดและอารมณ์ความรู้สึกนั้นได้


4. คุณมีภาษาท่าทางที่ทำให้อีกฝ่ายอยากเล่าต่อ

ภาษาท่าทางสำคัญพอ ๆ กับคำพูดในบทสนทนา เพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกปลอดภัยที่จะเล่า และในระหว่างเล่าก็รู้สึกว่ามีคนสนใจรับฟัง ผ่านท่านั่งที่บ่งบอกว่าสนใจฟัง การสบตา การพยักหน้า หรือแม้กระทั่งการพูด “อืม” “อือฮึ” “อื้อ” สิ่งเหล่านี้ในทางจิตวิทยาเรียกว่าเป็นการกระตุ้นให้อีกฝ่ายพรั่งพรูสิ่งที่อยู่ในใจออกมา


5. คุณสามารถสะท้อนความรู้สึก ทบทวนและสรุปสิ่งที่ได้ฟังได้อย่างถูกต้อง

การสะท้อนความรู้สึกของอีกฝ่ายออกมาอย่างถูกต้องทำให้อีกฝ่ายยิ่งไว้วางใจและรู้สึกว่าคุณเข้าใจเขาจริง ๆ และหลายครั้งที่คนเรามักไม่บอกเล่าความรู้สึกตัวเองออกมา แต่ที่ปรึกษาต้องรู้จักฟังและสังเกตจากภาษาท่าทางของอีกฝ่ายระหว่างเล่า นอกเหนือจากนั้น เวลาที่อีกฝ่ายเล่าเรื่องออกมายาว ๆ แต่คุณสามารถจับประเด็นแล้วทวนในสิ่งที่คุณเพิ่งได้ฟังไป และสรุปสิ่งที่คุณเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ก็ยิ่งแสดงถึงความตั้งใจและใส่ใจรับฟังอีกฝ่ายอย่างแท้จริง


ความสำเร็จของการให้คำปรึกษาอาจดูที่ผลลัพธ์สุดท้ายว่าผู้ที่มาขอคำปรึกษาได้ในสิ่งที่เขาต้องการและคาดหวังไว้หรือไม่ แต่ส่วนใหญ่การพูดคุยเพียงครั้งเดียวอาจยังไม่สามารถให้ในสิ่งที่เขาต้องการได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของปัญหา บางครั้งอาจต้องพูดคุยกันอีกหลาย ๆ ครั้ง เพื่อที่จะค่อย ๆ คลายเงื่อนปมที่ผูกกันไว้อย่างยุ่งเหยิง สิ่งสำคัญคือพื้นฐานการให้คำปรึกษาที่ดี พฤติกรรมและความเข้าใจที่ถูกต้องของที่ปรึกษา ฝากให้ที่ปรึกษาทุกคนลองสังเกตและตรวจสอบตัวเองดูเป็นระยะนะคะ


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ผู้เขียน


พิชาวีร์ เมฆขยาย

M.Sc. จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

B.Sc. จิตวิทยา

ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตในองค์กร / นักออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ / Youtuber / Blogger

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page