top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 พฤติกรรมที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด


โรคซึมเศร้า เหมือนจะเป็นโรคยอดฮิตของคนไทยในปัจจุบัน เพราะจากข่าวและสถิติจากหลายสำนักต่างชี้ชัดว่า คนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แล้วพอได้เป็นแล้ว การใช้ชีวิตก็ยากกว่าปกติไปอีก ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขที่สุด ในบทความนี้จึงขอแนะนำ 5 พฤติกรรมต้องห้ามที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด เพื่อให้คุณผู้อ่านผู้เป็นแฟนเพจของ Istrong ได้นำไปใช้ประโยชน์กันค่ะ




ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ห้ามอยู่คนเดียว

ข้อห้ามที่ 1 ห้ามอยู่คนเดียว


พุทธภาษิตที่ว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่ร่วมมิตรให้ระวังคำพูด” ยังคงเป็นจริงเสมอค่ะ และยิ่งกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยแล้ว วลีที่ว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด” ยิ่งสำคัญเลย เพราะเมื่อเราอยู่คนเดียวแล้ว ความคิดของเราก็จะขยันทำงาน ยิ่งกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีความผิดปกติของสารสื่อประสาทโดยเฉพาะสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมอารมณ์ (mood) ความโกรธ (anger) และความก้าวร้าว (aggression) ส่งผลให้เมื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคิดฟุ้งซ่านมักจะมีแนวโน้มคิดไปในทางลบเสียมากกว่า และยิ่งทำให้อารมณ์จมดิ่งไปในความเศร้าหนักขึ้นไปอีก ดังนั้นแล้ว เพื่อป้องกันการคิดลบและการทำร้ายตัวเอง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงควรมีคนสนิท คนรู้ใจอยู่ใกล้ชิดจะดีกว่าค่ะ




ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ห้ามดูหนังเศร้า

ข้อห้ามที่ 2 ห้ามดูภาพยนตร์ ซีรี่ย์ ละคร หรือฟังเพลงเศร้า

สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ลำพังแค่ใช้ชีวิตให้จบวันก็เศร้าหมองและหดหู่มากพออยู่แล้ว ถ้ายิ่งไปกระตุ้นความรู้สึก อารมณ์ ความหดหู่ด้วยการรับสื่อที่ให้ความรู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจ จากทั้งภาพยนตร์ ซีรี่ย์ ละคร ก็จะยิ่งไปฉุดให้ความรู้สึกของผู้ป่วยจมดิ่งไปกับอารมณ์ทางลบ ยิ่งไปทำให้โลกของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามืดลง และยิ่งไปทำให้กำลังใจในการใช้ชีวิตน้อยลงไปด้วย


ดังนั้น เพื่อให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายังคงมีความหวัง ขอให้หลีกเลี่ยงสื่อที่กระตุ้นอารมณ์เศร้าอย่างเด็ดขาดเลยค่ะ ขอให้เน้นเติมโลกสวยด้วยซีรีย์ Feel Good หรืออ่านบทความจิตวิทยาเพื่อหาวิธิส่งเสริมความสุขให้ตัวเองจะดีกว่าค่ะ



ผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้า ห้ามคิดไปเอง สงสัยให้ถาม

ข้อห้ามที่ 3 ห้ามคิดไปเอง


ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นอกจากจะมีปัญหาเกี่ยวกับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกแล้ว ยังมีการหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อโดพามีน (dopamine) บกพร่องอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มฝังใจจดจำแต่เรื่องร้าย ๆ ย้ำคิดแต่เรื่องทางลบ และเก่งมากเรื่องคิดไปเอง เช่น เพื่อนไปกินข้าวก่อนเพราะจะรีบมาเคลียร์งาน ก็น้อยใจว่าเพื่อนลืม เพื่อนไม่ให้ความสำคัญ หรือแฟนไม่รับโทรศัพท์เพราะติดประชุม ก็เสียใจ คิดว่าแฟนไม่รัก เป็นต้น ดังนั้นแล้ว เพื่อความสงบสุขทางจิตใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หากสงสัยอะไรขอให้รีบถามเลยค่ะ อย่าได้คิดไปเอง เพราะเรื่องเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เพราะความคิดไปเองของเรา




ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ห้ามดื่มคาเฟอีน

ข้อห้ามที่ 4 ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์


การดื่มชา กาแฟ หรือแม้แต่โกโก้ อาจจะสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ค่ะ เพราะคาเฟอีนที่อยู่ในเครื่องดื่มต่าง ๆ จะไปกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัวมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแล้วจะไปทำให้นอนหลับยาก กระสับกระส่าย วิตกกังวล และมีความเครียดสูงมากขึ้น หรือแม้กระทั่งน้ำอัดลมของโปรดของใครหลาย ๆ คนก็เป็นเครื่องดื่มตัวร้ายที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องห่างให้ไกลเลยค่ะ เพราะงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้านประสาทวิทยาของอเมริกา ได้สำรวจประชากรกว่า 250,000 คน พบว่า กลุ่มผู้บริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล 4 กระป๋องหรือ 4 แก้วต่อวัน มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากคนปกติเลยทีเดียวค่ะ


สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีฤทธิ์กดระบบประสาทและสมอง ทำให้อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายิ่งแย่ลง และมีแนวโน้มสูงว่าจะจะติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยไปอีก ซึ่งจะทำให้การรักษาโรคซึมเศร้ายากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างเด็กขาดเลยค่ะ




ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าห้ามหยุดยาเอง

ข้อห้ามที่ 5 ห้ามหยุดยาเอง

ยารักษาอาการโรคซึมเศร้า รวมไปถึงยารักษาอาการทางจิตเวชทุกชนิด จะมีผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยเบื่อที่จะทน ไม่ว่าจะเป็นเบื่ออาหาร ชาตามมือ ตามเท้า ชาลิ้น ลิ้นไม่รู้รส ประสาทสัมผัสช้า และผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่ทำให้การใช้ชีวิตยากลำบาก จึงทำให้เมื่อผู้ป่วยบางรายเห็นว่าอาการของตัวเองดีขึ้นแล้ว ก็หยุดยาเอง ไม่กินต่อ แต่นั้นกลับทำให้อาการของโรคซึมเศร้ากลับมากำเริบและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และรักษายากมากขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นแล้ว ขอให้อดทนกับผลข้างเคียงไปก่อนนะคะ ดีกว่าเป็น ๆ หาย ๆ และต้องเผชิญกับอาการของโรคซึมเศร้าที่หนักหนาสาหัสกว่าเดิมค่ะ



หากคุณผู้อ่านสนใจเกี่ยวกับบทความจิตวิทยาเพิ่มเติม สามารถติดตามอ่านได้ที่ “9 วิธีในการดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรง เพื่อชีวิตที่มีความสุข” โดยคุณ Ungkana Kerttongmee หรือบทความจิตวิทยาของผู้เขียนเอง เรื่อง “5 เคล็ดลับจูงใจให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา” และ 5 วิธีเยียวยาจิตใจในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง ก็น่าสนใจเช่นกันค่ะ แล้วมาพบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ


____________________________________________________



iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย




____________________________________________________

อ้างอิง :

1. Serotonin tests info, Accessed May 6, 2008

2. Porraphat Jutrakul. 11 กันยายน 2561. เตือนผู้ป่วยจิตเวชอย่าขาดยาแม้อาการดีขึ้น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2562 จาก https://www.thaihealth.or.th

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page