top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 เทคนิครักษาสุขภาพจิตในยุค Post New Normal ตามหลักจิตวิทยา REBT


เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 รัฐบาลได้ประกาศเป็นวันดีเดย์ในการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และนั่นก็เป็นสัญญาณว่าคนไทยกำลังเข้าสู่ยุค Post New Normal หลายท่านอาจจะสงสัยว่า “Post New Normal” คืออะไรกัน ตอนได้ยินครั้งแรกก็สงสัยเหมือนกันค่ะ เพราะคนที่พูดคำนี้ให้ได้ยินเป็นคนแรกไม่ใช่นักวิชาการที่ไหน แต่เป็นสามีนักสังเกตการณ์ทางสังคมของดิฉันเอง สามีดิฉันได้ให้นิยามของ “Post New Normal” ไว้ว่า คือสภาพสังคมที่คนเราต้องกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ คือ กลับไปทำงาน กลับไปเรียน เที่ยวห้างสรรพสินค้าได้ ออกจากบ้านได้ แต่ทุกอย่างที่ว่าเหมือนจะปกติแต่ก็ไม่ปกติ เพราะต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal คือ รักษาระยะห่างทางสังคม ไปพร้อม ๆ กับการใช้ชีวิตที่พยายามจะปกติ งงไหมคะทุกคน พูดง่าย ๆ เลยก็คือ กลับมาใช้ชีวิตปกติที่ไม่ปกติ เพราะยังต้อง New Normal ไปพร้อม ๆ กับการรักษาสมดุลในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังเช่นที่ว่ามาข้างต้น ซึ่งแน่นอนค่ะว่า การใช้ชีวิตแบบ “Post New Normal” สร้างความเครียดให้เราแน่นอน เพราะในขณะที่เราใช้ชีวิตให้ปกติ กลับมาเข้าสังคมจริง ๆ แต่เราก็ยังคงต้องรักษาระยะห่างเอาไว้ เพราะ Covid – 19 ตัวร้าย ก็ยังไม่เบาให้เราเลย บทความนี้จึงขออนุญาตนำ 5 เทคนิค เพื่อรักษาสุขภาพจิตในยุค Post New Normal ตามหลักจิตวิทยา ที่เรียกว่า REBT มาฝากทุกคนกันค่ะ

สำหรับเทคนิคจิตวิทยา REBT บทความของเราได้เคยกล่าวถึงมาแล้วหลายครั้ง ใจความโดยสรุปของเทคนิค REBT ก็คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอารมณ์ที่เกิดขึ้นต่อสถานการณ์หนึ่งโดยการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อของบุคคลค่ะ เช่น คุณแม่ท่านหนึ่งที่ลูกวัยประถมศึกษาที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน Covid – 19 ใด ๆ ต้องกลับไปโรงเรียน ทำให้คุณแม่มีความเครียดสูงเพราะเชื่อว่า ลูกจะติดเชื้อ Covid – 19 จากโรงเรียน ทำให้คุณแม่เกิดพฤติกรรมตามติดชีวิตลูก คือ ซื้ออุปกรณ์ป้องกันทุกอย่างให้ลูก ไปส่งลูกด้วยตัวเองที่โรงเรียน ท่องจำ หรือคอยเช็กตารางเรียนของลูก และคอยไลน์ถามทางคุณครูว่าในแต่ละวิชาลูกเป็นอย่างไรบ้าง มีความผิดปกติหรือไม่ และเมื่อลูกเลิกเรียนก็ไปรับด้วยตนเองอีกเช่นกัน พร้อมอุปกรณ์วัดไข้ และทำ ATK หลังเลิกเรียน ซึ่งแน่นอนค่ะ พฤติกรรมของคุณแม่ท่านนี้นอกจากจะสร้างความเครียดให้ตนเองแล้ว ยังทำให้ลูก สามี และคุณครูที่โรงเรียน หรืออาจรวมไปถึงเพื่อนบ้าน เครียดตามไปด้วย โดยเมื่อนำพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของคุณแม่ท่านนี้มาวิเคราะห์ตามหลักจิตวิทยา REBT ก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่า


  • B – Behavior (พฤติกรรมที่เป็นปัญหา) = ตามติดชีวิตลูก และห่ววงใยในความปลอดภับของลูกอย่างมาก

  • E – Emotive (อารมณ์ที่ตอบสนองต่อความเชื่อ หรือพฤติกรรม) = มีความเครียดสูง

  • R – Rational (ความเชื่อที่ก่อให้เกิดอารมณ์และพฤติกรรมที่เป็นปัญหา) = เชื่อว่าลูกจะติดเชื้อ Covid – 19 จากโรงเรียน

ดังนั้น หากเราจะแก้พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาของคุณแม่ท่านดังกล่าว เราต้องแก้ไขตามลำดับ คือ R, E, และ B โดยการพิสูจน์ความเชื่อ (R) ของคุณแม่ก่อนค่ะ วิธีการก็อาจจะเป็นการนำผลการตรวจ ATK ของนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียนมายืนยันกับคุณแม่ทุกสัปดาห์ เพื่อให้คุณแม่มีความเครียดลดลง (E) หรือทางโรงเรียนมีมาตรการป้องกัน Covid – 19 ที่ชัดเจน รวมถึงมีมาตรการรองรับเมื่อเด็กติด Covid - 19 เพื่อให้คุณแม่ตามติดชีวิตลูกน้อยลง (B) เพราะสบายใจมากขึ้นนั่นเองค่ะ


จากกรณีตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าการนำหลักจิตวิทยา REBT มาปรับใช้ในสถานการณ์ที่เราต้องใช้ชีวิตแบบ “Post New Normal” นั้น สามารถรักษาสุขภาพจิตของเราให้มีความปกติสุขได้ โดยในบทความจิตวิทยานี้ ขอนำเสนอการนำหลัก REBT มาปรับใช้ 5 เทนิค ด้วยกัน ดังนี้ค่ะ


1. พิสูจน์ความจริง ก่อนเชื่อ (Rational ; R)


ด้วยความรวดเร็วและความสะดวกในการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ข่าวทั้งหลายแพร่ไวมากค่ะ ทั้งข่าวจริง ข่าวลือ ข่าวรั่ว โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับ Covid – 19 จนเราไม่รู้ว่าจะเชื่อข่าวไหนได้บ้าง ซึ่งทางหน่วยงานของรัฐก็มีความพยายามแก้ไขการเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านแคมเปญ “เช็กก่อนแชร์” เพื่อกรองข่าวสารให้คนไทยรับข่าวที่เป็นจริงมากที่สุด ซึ่งกลุ่มที่มีความลำบากในการพิสูจน์ความจริงของสถานการณ์ก็มักจะเป็นผู้สูงวัย เพราะข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วย การตามไม่ทันสื่อออนไลน์ด้วย เพราะฉะนั้น ก่อนจะเชื่ออะไรขอให้พิสูจน์ความจริงก่อนนะคะ ว่าข้อมูลที่เรารู้มาจริงแท้หรือแค่มั่วนิ่ม


2. คิดเป็นเหตุ และผลก่อนเสมอ (Rational ; R)


ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ว่าข้อมูลที่รับรู้มานั้นจริงเท็จแค่ไหน ก็ขอให้คุณยึดหลักเหตุผลเป็นสำคัญนะคะ ว่าสิ่งที่รับรู้มานั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่น การอบน้ำสมุนไพรต้าน Covid – 19 ลองมาคิดเล่น ๆ ว่าพริก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มีสารระเหยใดที่สามารถต้าน Covid – 19 ได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าทำได้จริงทุกโรงพยาบาลสนามน่าจะมีห้องอบสมุนไพรแล้ว หรือการฉีดวัคซีน Covid – 19 แล้วจะไม่รับเชื้อ Covid – 19 ซึ่งตามหลักการแพทย์แล้ว วัคซีนคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แต่ไม่ได้รับรองว่าเราจะไม่รับเชื้อ เพียงแต่รับเชื้อแล้วไม่ป่วยหนักค่ะ


3. ฝึกสติ (Rational ; R)


ใด ๆ ในโลกล้วนอยู่รอดด้วยสติค่ะ เพราะเมื่อสติมา ปัญญาก็เกิด ยิ่งเมื่อเราต้องใช้ชีวิตแบบ “Post New Normal” หรือการอยู่กับความไม่ปกติให้ปกติด้วยแล้ว เรายิ่งต้องมีสติค่ะ เพราะต้องดูแลตัวเองจากเชื้อ Covid – 19 ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ไปพร้อม ๆ กับการรักษาสมดุลชีวิตในด้านอื่น ๆ เช่น การทำงาน การเข้าเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม การเดินทาง การพักผ่อนนอกบ้าน เพื่อรักษาสุขภาพจิตของเราให้ปกติสุขที่สุดนั่นเองค่ะ


4. รู้เท่าทันอารมณ์ (Emotive ; E)


อารมณ์และความรู้สึกที่พบบ่อยที่สุดในภาวะ “Post New Normal” ก็คือ ความเครียด วิตกกังวล เพราะ Covid – 19 ก็ยังมี (เยอะมากด้วย) แต่งานก็ต้องไปทำ เรียนก็ต้องเรียน การเดินทางก็กลับมาเบียดเสียด โดยเฉพาะสำหรับคนที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ตอนนี้ไม่ได้ต่างจากตอนก่อนมี Covid – 19 เลยค่ะ เพราะฉะนั้น หากเรารู้ทันว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรได้ เราก็สามารถจัดการกับอารมณ์ในตอนนั้นได้เลย เช่น พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ หายใจเข้า - ออกลึก ๆ หาวิธีแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่เหมาะสม เป็นต้น


5. หมั่นสังเกตพฤติกรรมตนเอง (Behavior ; B)


และวิธีสุดท้ายที่ขอแนะนำในบทความจิตวิทยานี้ ก็คือ การหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเราเองค่ะ ว่าเสี่ยงต่อการที่จะทำให้เราเจ็บป่วยทางจิต หรือทำร้ายสุขภาพจิต สุขภาพกายของเราเองอยู่หรือไม่ เช่น แยกตัวเองออกจากคนอื่น เก็บตัวอยู่ในบ้าน กินวิตามินทุกชนิดที่มี ซึ่งพฤติกรรมที่ว่ามานี้คงทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าทำร้ายเราได้ทั้งร่างกายและจิตใจเลยค่ะ ดังนั้น หากเรารู้ทันพฤติกรรมตัวเราเองและปรับให้เหมาะสมเสียก่อน ปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่เกิด หรือลดน้อยลงไปได้มากค่ะ


ดูจากสถานการณ์หลาย ๆ อย่างแล้ว ดิฉันคิดว่าเราทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบ “Post New Normal” ไปอีกสักพักใหญ่ ๆ กันเลยค่ะ เพราะฉะนั้น อย่าลืมดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองด้วยนะคะ หากมีเรื่องไม่สบายใจ หรือไม่รุ้จะปรึกษาใคร iSTRONG พร้อมรับฟังคุณเสมอนะคะ



สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกให้ปรับตัวต่อ New Normal ด้วยหลัก REBT (https://www.istrong.co/single-post/the-new-normal)

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page