top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

จริงหรือไม่? ที่คนยุคใหม่นิยมเลี้ยงสัตว์เป็นลูกมากกว่าที่จะมีลูกเป็นของตัวเอง



ในช่วงนี้อาจจะได้ยินข่าวมากขึ้นเกี่ยวกับความกังวลใจของรัฐบาลที่มีต่ออัตราการเกิดของประชากร อ้างอิงจากเว็บไซต์หนึ่งพบข้อมูลว่า “จากการติดตามตัวเลขในปี 2564 และ 2565 มีจำนวนคนตายมากกว่าคนเกิดทั้ง 2 ปี แสดงให้เห็นว่าประชากรไทยได้ลดลงแล้ว” แต่ถึงแม้จะมีกระแสข่าวเกี่ยวกับเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาลที่อยากให้ประชากรมีลูกเพิ่มมากขึ้นก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นความรู้สึกต้องการมีลูกของคนยุคใหม่ขึ้นมาเลย แถมยังพบว่ามีคนจำนวนมากขึ้นที่วางแผนชีวิตเอาไว้เลยว่าจะไม่มีลูก ซึ่งหากติดตามกระแสทั่วโลกก็จะพบว่าคนยุคใหม่ในหลายประเทศนิยมเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะน้องหมาน้องแมวมากกว่าที่จะมีลูกเป็นของตัวเอง โดยข้อมูลจากการสำรวจที่จัดทำโดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association) พบว่า ความรู้สึกของคนที่มีสัตว์เลี้ยงมีดังต่อไปนี้

62% ของผู้ตอบแบบสำรวจตอบว่า สัตว์เลี้ยงให้ความรู้สึกสงบผ่อนคลาย

65% ตอบว่า รู้สึกว่าสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนที่ดี และเป็นเพื่อนแท้

64% ตอบว่า สัตว์เลี้ยงทำให้รู้สึกว่าตนเองได้รับความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข

62% ตอบว่า สัตว์เลี้ยงช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลลงได้

35% ตอบว่า สัตว์เลี้ยงช่วยกระตุ้นให้ต้องออกไปทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย 

29% ตอบว่า สัตว์เลี้ยงช่วยให้มีตารางกิจวัตรประจำวันเพิ่มขึ้น

19% ตอบว่า สัตว์เลี้ยงช่วยเพิ่มคอนเนคชันทางสังคมกับคนอื่น ๆ


นอกจากนี้ ในบทความหนึ่งจากเว็บไซต์ Psychology Today ยังได้หยิบยกการสำรวจที่ผู้ตอบแบบสำรวจเป็นผู้หญิงที่เกิดในปี ค.ศ. 1981-1996 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “Millennial” จำนวน 400 คน โดยพบข้อมูลดังนี้

จากผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด มีผู้หญิงจำนวน 42% ที่วางแผนว่าจะไม่มีลูกให้ข้อมูลว่าช่วงโควิด-19 มีผลต่อการตัดสินใจของตนเองในการที่จะไม่มีลูก แต่ก็มีผู้ตอบแบบสำรวจบางส่วนให้ข้อมูลดังนี้

49% มีความเชื่อว่าคนที่มีลูกจะมีความเครียดมากกว่าคนที่ไม่มีลูก

41% ไม่อยากเลี้ยงลูกในยุคที่สถานการณ์โลกเป็นแบบทุกวันนี้ 

42% รู้สึกว่าการสนับสนุนพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกที่มีในตอนนี้ยังไม่ดีพอ เช่น โปรแกรมดูแลสุขภาพ โปรแกรมดูแลเด็ก

38% รู้สึกว่าการเลี้ยงลูกต้องทุ่มเทพลังงานและเวลามากเกินไป

33% รู้สึกว่าการเลี้ยงลูกทำให้ต้องเสียสละอิสระในชีวิตของตัวเองไป

32% ให้ความสำคัญกับอาชีพและการศึกษาของตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง


และยังพบอีกว่าผู้หญิงในกลุ่ม millennials ที่เข้าร่วมในการสำรวจนี้มีความตั้งใจที่จะดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเองเช่นเดียวกับที่พ่อแม่ดูแลลูก 53% บอกว่าเกณฑ์ในการเลือกที่อยู่อาศัยของตนเองส่วนหนึ่งมาจากสัตว์เลี้ยง เช่น มีพื้นที่ให้สัตว์เลี้ยงได้วิ่งเล่นมากพอ 41% ยอมกู้เงินเพื่อเป็นค่ารักษาสัตว์เลี้ยงที่เจ็บป่วย 51% เคยซื้อเสื้อผ้าให้สัตว์เลี้ยง และ 48% มีการฉลองวันเกิดรวมถึงซื้อของขวัญวันคริสต์มาสให้กับหมาแมวของตัวเอง 


การสำรวจดังกล่าวยังได้นำเอาประเด็นอัตราการเกิดที่ลดลงทั่วโลกเข้ามาพิจารณาด้วย ซึ่งมันทำให้เห็นแนวโน้มว่าในอนาคตน่าจะมีคนจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิงในกลุ่ม Millennials ที่กำหนดนิยามความสุขและชีวิตที่ดีในรูปแบบใหม่ ความฝันแบบ “American Dream” ที่ผู้หญิงอยากจะแต่งงานมีลูกซักสองคนและใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่ล้อมรั้วสีขาวไม่ได้เป็นเป้าหมายของผู้หญิงทั่วโลกอีกต่อไปแล้ว ผู้หญิงหลายคนเชื่อว่าการเป็นแม่คนไม่ใช่ปัจจัยที่จะนำไปสู่ “happy life” และเชื่อว่าตนเองสามารถสร้างสายสัมพันธ์และแชร์ความรักกับเพื่อนขนยาวสี่ขาได้อย่างไม่ต่างอะไรกับสมาชิกในครอบครัวหรือคนรัก และหากมีคำถามว่าถ้าผู้หญิงกลุ่มนี้ (ผู้ตอบแบบสำรวจ) จะมีความสุขกับอะไรถ้าไม่มีลูก ผลการสำรวจพบว่าผู้หญิงกลุ่มนี้มีหนทางสู่ชีวิตที่เป็นสุขดังต่อไปนี้

43% เลือกที่จะสร้างความก้าวหน้าในด้านการงานอาชีพของตนเอง

43% โฟกัสที่ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคู่รัก

41% ต้องการทำเป้าหมายของตัวเองให้เป็นจริง

40% เพลิดเพลินอยู่กับงานอดิเรกของตนเอง


นอกจากนั้น ยังพบว่ามี 33% ที่ให้ข้อมูลว่าการดูแลสัตว์เลี้ยงมันให้รางวัลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการเลี้ยงลูก 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังเชื่อในคำว่า “นานาจิตตัง” อยู่เสมอ และการที่ผู้เขียนได้นำเอาข้อมูลข้างต้นมาเล่าสู่กันฟังก็ไม่ได้จะสื่อว่าทุกคนจะต้องหันมามีสัตว์เลี้ยงแทนการมีลูกเสมอไป เพราะผู้เขียนเองก็มีลูกสาวและมีความสุขดีกับการมีลูก ทั้งนี้ ผู้เขียนเพียงแต่อยากชวนให้สังคมเปิดกว้างและอยู่กับวิถีปัจจุบันซึ่งมันเต็มไปด้วยความหลากหลายให้มากขึ้นกว่าในอดีต และหากพบว่าคู่รักคู่ไหนหรือบุคคลใดใช้ชีวิตอยู่โดยที่ไม่มีลูกก็ควรงดเว้นการตั้งคำถามเรื่องลูกที่อาจจะเป็นการทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ เช่น “เมื่อไหร่จะมีลูก” ซึ่งเป็นคำถามที่หลายคนเล่าว่ามันเป็นคำถามที่ทำให้รู้สึกแย่แต่ก็ไม่กล้าแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่ชอบคำถามในลักษณะนี้ สำหรับในส่วนของการแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงทั่วโลก ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าก็คงจะแก้ไขด้วยการเข้าไปแทรกแซงกระแสนิยมเลี้ยงสัตว์เป็นลูกไม่ได้ แต่อาจจะต้องไปแก้ไขให้สังคมมีสภาพที่ผู้คนรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงมากขึ้นเพื่อให้คนในสังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าลูกที่เกิดมาจะไม่ต้องทุกข์ทรมานเพราะสภาพสังคมไม่เอื้อต่อการมีความสุขเลย

  

และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Pet Therapy 5 ประโยชน์ดี ๆ ทางจิตวิทยา ของการมีสัตว์เลี้ยง (บำบัด) https://www.istrong.co/single-post/pet-therapy-5-benefit


อ้างอิง:

[1] For Millennial Women, Are Dogs and Cats a Stand-In for Kids? Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/canine-corner/202108/millennial-women-are-dogs-and-cats-stand-in-kids

[3] สัญญาณประชากรไทยลดลง สิ้นปี 66 คนเกิดต่ำกว่า 5 แสน ตายทะลุ 6 แสน หรือไม่. Retrieved from https://ipsr.mahidol.ac.th/post_multimedia/2023-12-29-thairath-news/


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page