top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

Pet Therapy 5 ประโยชน์ดี ๆ ทางจิตวิทยา ของการมีสัตว์เลี้ยง (บำบัด)



“สัตว์เลี้ยง” สำหรับใครหลาย ๆ คนเป็นมากกว่าสิ่งมีชีวิตร่วมบ้าน แต่พวกเขาคือสมาชิกในครอบครัว คือเพื่อนผู้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข คือสัตว์เลี้ยงบำบัดผู้รับฟังทุกเรื่องราวโดยไม่โต้เถียง หรือขัดแย้งใด ๆ และอยู่เคียงข้างเราเสมอไม่หนีไปไหน ซึ่งวิธีการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด หรือ Pet Therapy นั้นมีการนำมาใช้รักษาผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิต และมีผลการศึกษาถึงประสิทธิผลในการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวมาอย่างยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1860) โดย Florence Nightingale พยาบาลคนดังของเราได้ค้นพบว่า สัตว์เลี้ยงสามารถลดอาการตื่นตระหนก และลดความกระวนกระวายของผู้ป่วยจิตเวชลงได้ ซึ่ง Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิทยาสายจิตวิเคราะห์ก็สนับสนุนแนวคิดสัตว์เลี้ยงบำบัด โดยให้ผู้รับการบำบัดจากเขาเล่นกับสุนัขพันธุ์เชาเชาของเขาที่ชื่อ “โจฟี” ก่อนที่เขาจะเริ่มสร้างสัมพันธภาพและทำการบำบัด ซึ่ง Freud พบว่าโจฟีช่วยให้ผู้รับการบำบัดสามารถเปิดใจได้ง่ายมากขึ้น ปัจจุบันนี้สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) ได้ถูกนำมาใช้เป็นโปรแกรมเสริมในการบำบัดรักษาผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยทางกายและผู้ป่วยทางใจ ซึ่งจะช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพิ่มความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ โดยสัตว์เลี้ยงที่นิยมนำมาใช้กันมาก ได้แก่ สุนัข แมว ม้า และโลมา โดยสัตว์ที่นำมาใช้ในการบำบัดต้องผ่านการคัดเลือกและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีแล้ว

จากผลการศึกษาทางการแพทย์และทางจิตวิทยา พบว่า สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) มีประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการบำบัด หรือผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ดังนี้


1. เสริมความเข้มแข็งทางใจ

ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร (Aphasia) ด้วยสัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) เช่น แมว สุนัข ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ประมาณ 3 – 6 เดือน พบว่า ผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมดีขึ้น กล้าที่จะเข้าสังคม มีความพยายามที่จะสื่อสารมากยิ่งขึ้น เพราะสัตว์เลี้ยงมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการสื่อสารพูดคุยนั่นเอง หรือในกรณีของผู้ป่วยโรคออทิสติก (Autistic) ก็พบว่า สัตว์เลี้ยงสามารถช่วยให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเหมาะสมมากขึ้น สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น สามารถลดพฤตติกรรมก้าวร้าวได้มากขึ้น


2. ช่วยลดความไม่สบายใจ

จากผลการศึกษาการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด โดย สุนัขขนาดเล็กในการบำบัดผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม พบว่า ผู้ป่วยมีอาการกระสับกระส่าย (agitated behavior) ลดน้องลงอย่างมาก หรือในกรณีของผู้สูงอายุ ผลการศึกษาทางจิตวิทยา พบว่า ผู้สูงอายุที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงจะมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีสุขภาพกายที่แข็งแรง และมีอายุยืนยาวกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง หรือผู้สูงอายุที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง


3. ช่วยให้มองโลกในแง่ดี

สัตว์เลี้ยงบำบัด หรือ Pet Therapy นั้นนอกจากจะมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเราแล้ว ยังมีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนทัศนคติ หรือมุมมองที่เรามีต่อโลก โดยผลการศึกษาการใช้ สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านอารมณ์ พบว่า สัตว์เลี้ยงช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความเป็นมิตรมากขึ้น และยังสามารถช่วยลดความคิดในแง่ร้าย ลดการมองโลกในแง่ร้ายได้อีกด้วย เช่นเดียวกับผลการศึกษาในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) ที่พบว่า ผู้ป่วยซึมเศร้ามีพฤติกรรมใส่ใจตนเองดีขึ้น เนื่องจากสัตว์เลี้ยงช่วยลดความเบื่อโลก เพิ่มความสดใสในชีวิต เติมไฟในการใช้ชีวิตให้แก่พวกเขา


4. สมาธิดีขึ้น

ในการรักษาผู้ที่มีภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder ; ADHD) ด้วยสัตว์เลี้ยงบำบัด หรือ Pet Therapy พบว่า พวกเขามีสมาธิจดจ่อสนใจในสิ่งต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ใส่ใจสิ่งรอบข้าง ผู้คนรอบข้างมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการมีสัตว์เลี้ยงยังชวยให้พวกเขาได้ฝึกการรับผิดชอบชีวิตผู้อื่น และยังมีระเบียบวินัยในชีวิตมากขึ้นอีกด้วย


5. เสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self - Esteem)

จากการศึกษาของ E. Paul Chemiack และคณะ จากสถาบันผู้สูงอายุ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไมอามีมิลเลอร์ (Miller School of Medicine - University of Miami) รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ได้เผยแพร่ในวาร Current Gerontol Geratic Research เมื่อปี ค.ศ. 2014 โดยทำการศึกษาเรื่อง The Benefit of Pet and Animal-Assisted Therapy to the Health of Older Individuals ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้าและจิตเภท โดยการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) พบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงมีค่าอาหารทางจิตใจ (psychological symptoms) ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัดอย่างชัดเจน นอกจากนี้ผู้ป่วย จำนวน 28 ราย มีอาการของโรคซึมเศร้าลดลงอย่างชัดเจน ในขณะที่ในผู้ป่วยโรคจิตเภท จำนวน 20 ราย มีสมดุลย์เชิงสังคม (social functioning) ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


การที่เราจะมีสัตว์เลี้ยงสักตัวเพื่อเยียวยาจิตใจตัวเราเอง หรือคนในครอบครัวที่เรารัก ข้อควรคำนึงถึงที่สำคัญก็คือ ความชอบในสัตว์ประเภทนั้น เช่น บางคนเป็นทาสแมวก็ไม่ควรเลี้ยงสุนัข บางคนชอบสุนัขก็ไม่ควรเลี้ยงกระต่าย หรือบางคนกลัวสัตว์ปีกก็ไม่ควรเลี้ยงนก เลี้ยงไก่ เพราะหากเราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่ไม่ถูกจริต ไม่ถูกใจ แทนที่เราจะมีสัตว์เลี้ยงบำบัด อาจจะกลายเป็นสร้าง Toxic ให้กับตัวเอง และยังอาจไปทำร้ายสัตว์ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอีก ดังนั้นแล้วการจะเลี้ยงสัตว์ใด ๆ ก็ตาม ขอให้คิดถึงความรับผิดชอบในอนาคตที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะพวกเขาไม่ใช่เพียงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบ้านเรา แต่เขาคือเพื่อนข้างกายที่มีจิตใจ มีความรู้สึก และมีความรักให้เราอย่างไม่มีเงื่อนไขค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :

1. ข้อดีของการได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมต่อสุขภาพจิต (Social Support)

2. น้องแมวมีผลต่อสุขภาพจิตของคนเราอย่างไรบ้าง


อ้างอิง :

1. กรมสุขภาพจิต. (2562, 13 พฤษภาคม). สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pets Therapy). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566 จาก https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2259

2. ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การบำบัดด้วยสัตว์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566 จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt11-animaltherapy.htm

3. รัตนาวดี โสมพันธ์. (2021, 8 กรกฎาคม). ‘สุนัขนักบำบัด’ เจ้าของภารกิจฟื้นฟูกำลังใจให้เด็ก ผู้สูงวัย และผู้เจ็บป่วยทั้งใจกาย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566 จาก https://becommon.co/life/living-therapy-dogs/

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page