top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

น้องแมวมีผลต่อสุขภาพจิตของคนเราอย่างไรบ้าง



“แมว” ถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงและเป็นเพื่อนคู่ใจของมนุษย์มาอย่างยาวนาน โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ามีจำนวนของคนที่เลี้ยงแมวอย่างน้อย 1 ตัวถึง 45 ล้านครัวเรือน แต่สำหรับคนที่เลี้ยงแมวก็คงจะรู้ดีว่าการมีแมวอยู่ในบ้านนั้นไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าการเลี้ยงแมวให้ผลต่อสุขภาพจิตทั้งในทางที่สนับสนุนและในทางที่บั่นทอน


หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับสรรพคุณของน้องแมวกันมาบ้างแล้วว่าน้องแมวมีผลต่อจิตใจของคนเราอยู่พอสมควร ที่ผ่านก็ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแมวกับสุขภาพจิตของมนุษย์ ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยก็พบว่ามันแตกออกเป็น 2 ทาง ได้แก่ การศึกษาวิจัยที่พบว่าน้องแมวช่วยให้อาการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลดีขึ้น และในทางตรงข้ามคือน้องแมวทำให้สุขภาพจิตของคนเราแย่ลง เหตุผลว่าทำไมผลการวิจัยถึงออกมาเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนขอหยิบยกข้อมูลมาจากบทความในเว็บไซต์ PsychCentral มาให้พิจารณากันดังนี้


แมวช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลได้อย่างไร?

  • มีการศึกษาวิจัยในปี 2017 เรื่อง “Depression, loneliness, and pet attachment in homebound older adult cat and dog owners” โดย Sandy M. Branson และคณะ พบว่า เจ้าของแมวจะมีระดับความรู้สึกซึมเศร้าน้อยกว่าเจ้าของสุนัขอย่างมีนัยสำคัญ

  • อาการของโรคซึมเศร้าที่โดดเด่นอย่างหนึ่งก็คือ “ความเหงา” และความเหงามักเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า

  • การเลี้ยงช่วยให้เกิดความรู้สึกของการ “เป็นผู้ให้” รู้สึกเป็นที่ต้องการ (sense of being needed) และรู้สึกถึงการมี “มิตรแท้”

  • จากการวิจัยในปี 2006 เรื่อง “Pet companionship and depression: Results from a United States Internet sample” โดย Roni Beth Tower และ Maki Nokota พบว่า หญิงโสดที่มีสัตว์เลี้ยงจะมีอาการแสดงของโรคซึมเศร้าน้อยกว่าคนที่แต่งงานมีลูก

  • จากการวิจัยเรื่อง “Psychological Health Benefits of Companion Animals Following a Social Loss” โดย Dawn C Carr และคณะ พบว่า คนที่เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อน (companion animal: CA) เมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการของโรคซึมเศร้าและมีระดับของความเหงาน้อยกว่าคนที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง

  • มีการศึกษาในปี 2013 ที่พบว่าโรคซึมเศร้าส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันสูงที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ (uncontrolled hypertension) แต่ก็ได้มี Dr. Janet Cutler ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมแมว (Cat Behaviorist) ที่ออกมาระบุว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับแมวหรือเล่นกับแมวจะช่วยให้มีความดันโลหิตลดลง

  • มีข้อมูลที่พบว่าเจ้าของแมวจะได้รับความรู้สึกปลอดภัย (sense of safety) เวลาที่ได้อยู่กับแมวของตัวเอง โดยอ้างอิงมาจากงานวิจัยเรื่อง “Love, Safety, and Companionship: The Human-Animal Bond and Latino Families”

  • การเล่นกับแมวหรือการกอดแมวมีผลทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดน้อยลง ทำให้เวลาเล่นกับแมวมักจะเกิดความรู้สึกเป็นสุข ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและลดความดันโลหิตลง รวมถึงช่วยลดความรู้สึกวิตกกังวลลงด้วย


ข้อมูลที่กล่าวในข้างต้นเป็นฝั่งที่สนับสนุนสรรพคุณของแมวในการลดอาการซึมเศร้าวิตกกังวล ส่วนข้อมูลที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะเป็นฝั่งที่ศึกษาพบว่าแมวมีผลทำให้สุขภาพจิตของเจ้าของแมวแย่ลง ได้แก่

  • แมวเองก็สามารถมีปัญหาสุขภาพจิตได้เหมือนมนุษย์ จากการศึกษาเรื่อง “Identification of separation-related problems in domestic cats: A questionnaire survey” โดย Daiana de Souza Machado และคณะ พบว่า ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่เผชิญกับบาดแผลทางใจ ภาวะซึมเศร้า อาการวิตกกังวล เพราะแมวก็สามารถเกิดภาวะแบบนั้นได้ไม่ต่างกับมนุษย์ เช่น เมื่อแมวต้องแยกจากคนหรือสถานที่ที่คุ้นเคยมักจะเกิดอาการเครียดสูง โดยสัญญาณที่แสดงว่าแมวกำลังเกิดอาการเครียดวิตกกังวล ได้แก่

    • มีพฤติกรรมก้าวร้าว

    • ช่วงเวลาในการนอนหลับเปลี่ยนแปลงไป

    • กินอาหารน้อยลง น้ำหนักลดลง

    • ซ่อนตัวหรือพยายามหนี

    • ร้องเสียงดังเป็นเวลานาน ๆ

    • เดินไปเดินมาหรือมีอาการไม่สงบ

การที่แมวมีปัญหาสุขภาพจิตอาจส่งผลให้เจ้าของแมวต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะเจ้าของแมวที่เพิ่งเป็นทาสแมวมือใหม่ ไม่เคยเลี้ยงแมวมาก่อนก็อาจจะเกิดความวิตกกังวล รวมถึงต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงแมวหรือเวลาที่แมวมีอาการป่วย


อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้เขียนเคยพูดคุยกับจิตแพทย์เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ก็ได้รับข้อมูลว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายแต่ตัดสินใจว่าจะไม่ลงมือทำ โดยมีเหตุผลว่า “กลัวจะไม่มีใครอยู่ดูแลแมว เป็นห่วงแมว” ดังนั้น แม้ว่าแมวจะเป็นเพียงสัตว์ตัวเล็ก ๆ จอมวุ่นวายที่บางคนอาจจะไม่ชอบ


แต่สำหรับคนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล แมวอาจมีความหมายต่อชีวิตของพวกเขาในแง่ของการช่วยมาเติมเต็มช่องว่างทางจิตใจ ช่วยลดความเหงาได้ และช่วยให้รู้สึกมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น แต่แม้ว่าการเลี้ยงแมวหรือได้เล่นกับแมวจะสามารถเพิ่มความสุขและช่วยลดความรู้สึกแย่หลาย ๆ อย่างได้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการของโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะคุณเคยมีความคิดอยากหายไป อยากจบชีวิตลง ก็อย่าละเลยอาการของตัวเองและควรเข้าพบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] Is Your Cat Helping — or Hurting — Your Depression and Anxiety? Retrieved from https://psychcentral.com/health/your-cat-depression-anxiety

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นนักเขียนของ iSTRONG และเป็นทาสแมว

留言


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page