top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

จิตวิทยาความรัก : เรียนรู้ที่จะรักกับ 7 เทคนิคการรักอย่างมีคุณภาพ จากภาพยนตร์ดัง



“ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะพาเราไปสักที่” คือหนึ่งในคำคมจากภาพยนตร์รัก (?) Fast & Feel Love (2022) ที่ว่าด้วยความรักในโลกความจริงของคนอายุ 30+ ที่ทำให้เราตระหนักถึงการรักอย่างมีคุณภาพ โดยคำคมข้างต้นมีความหมายลึกซึ้งว่า หากเรารักใครบางคน หรือบางสิ่งบางอย่างมากพอ ความรักจะทำให้เราเติบโต และพาเราออกเดินทางไปยังที่ที่เหมาะสมกับเรา และในเดือนแห่งความรักนี้ ความรักก็ได้พาคุณและดิฉันเดินทางมาพบกันผ่านบทความที่ขอพูดถึงจิตวิทยาที่มีคนให้ความสนใจมากที่สุด ก็คือ “จิตวิทยาความรัก” จิตวิทยาที่ว่าด้วยการรักอย่างมีคุณภาพ ผ่านการเรียนรู้เทคนิคการรัก จากภาพยนตร์ดัง 7 เทคนิคด้วยกัน ดังนี้ค่ะ


1. รักษาความรักด้วยการรักษาความรู้สึกตนเอง

เรายังคงอยู่กับภาพยนตร์ Fast & Feel Love เรื่องเดิมของเรา กับอีกประโยคเด็ด “ถ้าเรารักอะไรสักอย่างหนึ่ง เราจะไม่ปล่อยให้มันตาย” ซึ่งเป็นคำพูดของ เจ ที่แสดงโดยคุณญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ ที่พูดกับเกา พระเอกนัก Sport Stacking ของเราที่นอกจากมุ่งมั่นในการทำเวลาเรียงแก้วให้เร็วที่สุดแล้ว ก็ไม่สนใจอะไรในโลกนี้อีกเลย จนเมื่อเจ แฟนสาวผู้มีความอดทนสูง ไม่ทนอีกต่อไป โดยเธอเลือกที่จะรักษาความรัก (ที่มีให้ตัวเอง) ด้วยการรักษาความรู้สึกตนเอง แล้วเดินออกมาจากชีวิตเกา ในตอนนั้นเกาถึงได้ตระหนักได้ว่า “ถ้าเราไม่รักษาความรักไว้ สุดท้ายเราก็จะไม่เหลืออะไรเลย” และชัยชนะที่ได้มาช่างว่างเปล่า


2. รักไม่ใช่ทุกอย่าง

ในภาพยนตร์เพลงที่มีกลิ่นอายของความรัก ที่มีเสียงเพลงติดหูอย่าง La La Land (2016) และ Begin Again (2013) ได้พูดถึงประเด็นการรักอย่างมีคุณภาพ ว่า “รักไม่ใช่ทุกอย่าง” ดังเช่นที่ตัวละครเอกของเราทั้งสองเรื่อง ที่เมื่อต้องเลือกระหว่างความรักกับความฝัน เขาก็ตัดสินใจที่จะเลือกสิ่งที่ยั่งยืนมากกว่า ดีต่ออนาคตของเขามากกว่า นั่นก็คือความฝัน จนเกิดประโยคบอกเลิกทั้งที่ยังรักจากพระเอก นางเอก La La Land ว่า "I'm always gonna love you. I'm always gonna love you, too." หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ฉันจะยังคงรักคุณ, ผมก็ยังจะรักคุณเช่นกัน” แต่ทั้งสองจำต้องเลือกความฝัน เพราะสุดท้ายแล้ว “รักไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราต้องทิ้งทั้งชีวิตเพื่อความรัก”


3. คนแรกที่ควร “รัก” คือตัวเราเอง

ในภาพยนตร์รักเศร้า ๆ หรือซีรี่ย์เกาหลีเคล้าน้ำตา เมื่อตัวละครเอกเสียสละเพื่อคนรัก มักจะจบไม่สวย และมีชีวิตแสนเศร้า อย่างเช่นในตัวละครเอก สาวน้อยคู่แฝดในเธอกับฉันกับฉัน (2023) ภาพยนตร์รักวัยรุ่น Y2K ที่กำลังฉายในขณะนี้ ก็พูดถึงการเสียสละทิ้งรักครั้งแรก เพื่อความรักที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ รักของฝาแฝด แต่สุดท้ายแล้วเมื่อถึงบทสรุปของภาพยนตร์ก็จะทำให้เราตระหนักได้ว่า “รักไม่ใช่การเสียสละ” และการเสียสละไม่ใช่การรักอย่างมีคุณภาพ เพราะเมื่อคนที่สมหวังในความรักรู้ความจริง ก็เจ็บปวด รู้สึกผิด และไม่มีความสุขในความรักอยู่ดี


4. รักที่ยืนยาว คือรักที่สมดุล

เมื่อปี 2010 มีภาพยนตร์รักร้าวอันลือลั่นในคุณภาพ เรื่อง Blue Valentine ที่เล่าเรื่องรักขมของคู่ชีวิตที่กำลังจะจบลง ซึ่งเรื่องราวความสัมพันธ์อันร้าวฉานของทั้งคู่ในภาพยนตร์สามารถอ้างอิงจิตวิทยาความรัก เรื่อง Triangular theory of love หรือ ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา Robert Sternberg ที่กล่าวว่า ความรักที่ยั่งยืนและยืนยาว ต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ Intimacy (ความใกล้ชิด) Passion (ความหลงใหล) และ Commitment (ความมุ่งมั่น) หากปัจจัยทั้ง 3 ของทั้งสองคนไม่สมดุลกัน ดังเช่นใน Blue Valentine ที่ฝ่ายชายมี Passion มี Commitment ต่อฝ่ายหญิงอย่างมาก แม้ว่าอาจจะไม่ค่อย Intimacy หรือใกล้ชิดกันมาก เพราะการงานทำให้เวลาไม่ตรงกันก็ตาม แต่ทางด้านฝ่ายหญิงกลับหมด Passion ไม่เหลือ Commitment กับฝ่ายชายแล้ว ความรักจึงจบแบบเจ็บ ๆ


5. ความใส่ใจ และความจริงใจ คือสิ่งสำคัญของความรัก

ในภาพยนตร์รักมากมาย เช่น WALL-E (2008) ความจำสั้น แต่รักฉันยาว (2009) หรือ 50 First Date (2004) ต่างก็แสดงให้เราเห็นว่า ความใส่ใจและความจริงใจเป็นพื้นฐานที่มั่นคงและแข็งแรงของความรัก และเป็นการรักอย่างมีคุณภาพ เพราะในภาพยนตร์ข้างต้น ตัวเองของเรามีความใส่ใจกัน จริงใจให้กัน แม้ว่าจะมีอุปสรรคอย่างเช่นอีกฝ่ายความจำเสื่อม จำเรื่องราวในความสัมพันธ์ไม่ได้ในบางช่วงเวลา แต่อีกฝ่ายก็ดูแล เอาใจใส่แบบไม่ย่อท้อ สุดท้ายผลของความพยายามก็สำเร็จ ทำให้อีกฝ่ายมองเห็นความจริงใจ และให้ใจกลับมา


6. ยิ่งแชร์ ยิ่งรัก

Her (2013) เป็นภาพยนตร์รักที่เป็นตัวแทนของความรักที่เกิดขึ้นแม้จะไม่เคยเห็นหน้ากัน แต่เกิดความรักเพราะได้แชร์เรื่องราวความทุกข์ในใจ เรื่องราวในชีวิตให้อีกฝ่ายรับฟัง แม้ว่าอีกฝ่ายจะทำหน้าที่แค่รับฟัง แต่ก็ทำให้คนเล่า คนระบาย รู้สึกสบายใจ และเมื่อนานเข้าก็เกิดเป็นความผูกพัน และเป็นความรักในที่สุด ซึ่งตามทฤษฎีจิตวิทยาความรักก็มีบอกไว้เช่นกันค่ะ ว่าการรักอย่างมีคุณภาพ คนรักต้องมีประสบการณ์ร่วมกัน มีการแชร์เรื่องราวในชีวิตทั้งสุข ทุกข์ ให้กัน แล้วจะเกิดเป็นความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ซึ่งกันและกัน


7. รักที่เจ็บปวดน้อยที่สุด คือ รักที่ยืนอยู่บน “ความจริง”

ถ้าให้คิดถึงภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความรักจนแก่เฒ่า ก็ต้องนึกถึง UP (2009) เป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งคุณปู่ใน Up เป็นตัวแทนของสามีในฝัน คู่ชีวิตในอุดมคติ ที่แม้ไม่หล่อ ไม่รวย แต่พร้อมด้วยความใส่ใจ จริงใจ และมีความรักอย่างเต็มเปี่ยมให้ภรรยา ถึงแม้ว่าในช่วงที่สูญเสียคู่ชีวิตใหม่ ๆแกจะเศร้ามาก และแสดงออกมาในเชิงของความเกรี้ยวกราด โมโหร้าย แต่เมื่อรัสเซล เจ้าเด็กน้อยเข้ามาในชีวิต และร่วมผจญภัยไปด้วยกัน คุณปู่ก็เริ่มมองเห็นสัจธรรมของโลกและความรัก ที่ว่า สิ่งใดจากไปแล้ว มีคุณค่าให้ระลึกถึง แต่สิ่งที่ยังอยู่ มีคุณค่าให้รักษาและดูแล ค่ะ


อริสโตเติล กล่าวไว้ว่า “Love is composed of a single soul inhibiting two bodies” แปลได้ว่า “รัก คือ หนึ่งวิญญาณที่แบ่งอยู่ในสองร่าง” นั่นหมายความว่า การที่เราจะรักอย่างมีคุณภาพ เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา และอย่าลืมใช้ 7 เทคนิคจิตวิทยาความรักที่แนะนำไปข้างต้นนะคะ เพื่อความรักที่ยืนยาวค่ะ



iSTRONG.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


 

บทความแนะนำ :

อ้างอิง :

[1] ผมอยู่ข้างหลังคุณ. (1 ตุลาคม 2557). “รัก” หวานน้อย ไม่ใส่น้ำตา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ Her Publishing. หน้า 14 -171.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์ต่อคนอ่าน

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page