top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

อกหักซ้ำ ๆ อาจตอกย้ำว่าคุณยัง รักตัวเอง ไม่มากพอ



คุณเป็นคนหนึ่งไหมคะ ที่เวลามีความสัมพันธ์ก็คิดว่ารักครั้งนี้น่าจะดี แฟนคนนี้น่าจะเป็นคนที่ใช่ ตอนคบใหม่ ๆ ทุกอย่างมันดูลงตัวจนเหมือนจะเป็นรักครั้งสุดท้าย แต่ในที่สุดมันก็พังลงแบบเดียวกับความรักครั้งที่ผ่าน ๆ มา เหมือนหนังรีเมคที่เปลี่ยนทุกตัวแสดงยกเว้น “คุณ” และแม้หนังรักเรื่องนั้นจะจบลงไป แต่สุดท้ายก็ยังมีเพียงคุณที่ต้องกลับมาครุ่นคิดว่า “นี่ฉันผิดอะไร ทำไมการทุ่มเทลงไปทั้งใจมันจึงไม่มีความหมายอะไรเลย ทำไมผลสุดท้ายมันต้องจบลงด้วยการโดนเท?” หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณรู้สึกว่า “มันฉันชัด ๆ เลย!” คุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ยังไม่รู้จักวิธีรักตัวเองอย่างถูกต้องแล้วล่ะค่ะ


รักตัวเอง เป็นคำที่พูดง่ายแต่ทำยากโดยเฉพาะกับคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์ตามทฤษฎีความรู้สึกผูกพัน (Attachment theory) แบบไม่มั่นคง ซึ่งบุคคลที่มีลักษณะไม่มั่นคงก็จะมีด้วยกัน 3 แบบ ในที่นี้ผู้เขียนจะใช้คำศัพท์จากหนังสือ “จิตบำบัด: ทฤษฎีและเทคนิค” เขียนโดย ศ.นพ. ทินกร วงศ์ปการันย์ จิตแพทย์ ได้แก่


แบบที่ 1 บุคคลที่มีความหมกมุ่น (preoccupied people) จะมีลักษณะเป็นคนที่ต้องการความใกล้ชิดทั้งทางร่างกายและจิตใจต้องการคำยืนยันจากคนรักอยู่เสมอว่าเขายังเป็นที่ต้องการ มักจะถามคนรักอยู่เสมอว่า “คุณยังรักฉันไหม?” เพื่อยืนยันว่าตัวเองเป็นคนรักที่ดีพอ และมักจะต้องการให้คนรักเอาใจใส่ดูแลและตัวติดกันเป็นพิเศษ จนบางครั้งมีลักษณะควบคุมมากเกินไป เรียกร้องมากเกินไป และมักจะรู้สึกว่าไม่เคยได้รับสิ่งที่ตัวเองต้องการจากคนรักอย่างเต็มที่


แบบที่ 2 บุคคลที่มีความเพิกเฉย (dismissing people) เป็นกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะแทบจะตรงข้ามกับแบบที่ 1 คือมักจะเลี่ยงการใกล้ชิดสนิมสนม มีความต้องการใกล้ชิดทั้งทางร่างกายและจิตใจต่ำ ไม่ค่อยมีความวิตกกังวลเรื่องการถูกทอดทิ้ง เวลามีความรักคนกลุ่มนี้จึงมักทำตัวห่างเหิน บางครั้งอาจแสดงท่าทีอึดอัดรำคาญเวลาที่คนรักมาใกล้ชิดหรือทำตัวติดกันมากเกินไป จึงชอบแก้ปัญหาด้วยตัวเองมากกว่าที่จะขอความช่วยเหลือจากแฟน และมักจะมีความคิดว่าการเป็นแฟนกันไม่เห็นจะต้องคอยให้กำลังใจแฟน และแฟนก็ไม่ต้องมาคอยให้กำลังใจ แสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาน้อย


แบบที่ 3 บุคคลที่หวาดกลัว (fearful people) เป็นกลุ่มบุคคลที่วิตกกังวลสูงต่อการถูกทอดทิ้ง ต้องการได้รับความรักและความใกล้ชิดแต่ก็ไม่กล้าที่จะร้องขอเพราะรู้สึกว่าตัวเองอาจจะไม่ดีพอที่จะได้รับความรักหรือสงสัยว่าตัวเองสมควรได้รับความรักหรือเปล่า ขณะที่ก็ไม่รับรู้ไม่เชื่อใจว่าคนรักจะรักจริง รวมถึงกลัวว่าตัวเองจะถูกปฏิเสธหากสื่อสารออกไป จึงมีความรู้สึกอ่อนไหวเปราะบางมากและมักจะแสดงออกแบบสมยอมคือพยายามที่จะไม่เรียกร้องพยายามที่จะเสียสละความต้องการของตัวเอง จนค่อนข้างมีปัญหาในการสื่อสารและการแสดงอารมณ์ออกมา


ทั้ง 3 แบบที่กล่าวมาข้างต้น จัดว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่รักตัวเองยากเอาเรื่องเลย ซึ่งคนที่รักตัวเองยากนั้น หากเปรียบไปก็เหมือนกับจิ๊กซอว์ ที่ขาด ๆ เกิน ๆ พอเอาไปต่อกับภาพใหญ่มันก็เลยไม่ลงตัวกับจิ๊กซอว์ตัวใดง่าย ๆ หรืออาจเอาไปต่อกับใครไม่ได้เลย เมื่อลองเอาตัวเองเข้าไป ‘พยายาม’ ต่อกับใครสักคนแล้วไม่สำเร็จก็อาจจะพาลคิดไปว่าตัวเองคือความผิดพลาดของโลกใบนี้และทำไมหนอความผิดพลาดนั้นจึงต้องมาตกที่ฉัน? แต่ข่าวดีคือ แม้คุณจะเหมือน จิ๊กซอว์ แต่คุณไม่ใช่จิ๊กซอว์ คุณคือมนุษย์ โดยศักยภาพของมนุษย์ที่พิเศษไปกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นก็คือ มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองได้ ฝึกฝนตนเองได้ และแม้มนุษย์จะเปลี่ยนอดีตของตัวเองไม่ได้แต่มนุษย์สามารถเลือกอนาคตของตัวเองได้ด้วยการกำหนดปัจจุบันซึ่งรวมไปถึงการเริ่มต้นมอบความรักให้กับตัวเอง


อย่างไรก็ตามคนที่มีลักษณะเป็นคนรักที่จะสามารถทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มาเติมเต็มกันแบบที่หลายคนเข้าใจเสมอไปเพราะความรักไม่ได้มีลักษณะเป็นกฎที่ตายตัวว่าจะต้องเป็นแบบนั้นหรือแบบนี้เท่านั้น ซึ่งในมุมมองของ อีริค ฟรอมม์ (Erich Fromm) นักจิตวิเคราะห์ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Art of Loving ได้มองว่า “ความรักนั้นมีความเป็นศิลปะ ถ้าเราต้องการเรียนรู้วิธีที่จะรัก เราจะต้องทำวิธีเดียวกับที่เราต้องทำงานศิลปะอื่น ๆ” ตรงนี้อาจจะดูเข้าใจยากไปสักหน่อยแต่หากจะตีความประโยคนี้ให้ดูเข้าใจง่ายขึ้นก็อาจจะกล่าวได้ว่าความรักของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันไปหมด เช่น บางคู่ได้อยู่ข้างกายกันจนแก่เฒ่าล้มหายตายจากกันไป บางคู่ผ่านมาเพียงพบกันและลาจากกันพร้อมกับความรู้สึกดี ๆ ที่ยังคงอยู่ บางคู่ปล่อยมือจากกันเพื่อให้อีกฝ่ายได้มีชีวิตในแบบที่ฝันไว้เหมือนดังตอนจบของหนังเรื่อง La La Land และไม่ว่าความรักของแต่ละคู่จะมีรายละเอียดระหว่างทางแบบไหน ถ้าตอนจบมันไม่ได้ทิ้งไว้ซึ่งความคับแค้นเศร้าโศกหรือปัญหาสุขภาพจิตแบบหนึ่งแบบใด มันก็นับได้ว่าที่ผ่านมาคือความรัก

เอาล่ะ.. ก่อนที่ผู้เขียนจะพาคุณออกนอกเรื่องไปมากกว่านี้ เราจะกลับมาพูดถึงเรื่องของการรักตัวเองกันต่อ โดยจะขอขมวดให้ว่าทั้งหมดที่กล่าวมามันเกี่ยวข้องกับการรักตัวเองอย่างไรโดยที่บทความนี้จะไม่ได้บอกวิธีการรักตัวเองให้คุณทำตาม เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วผู้คนมักมีลักษณะที่รู้ทฤษฎีทุกอย่างแต่ทำไม่ได้ดังนั้นหากคุณต้องการทฤษฎีที่จะบอกคุณได้ว่าการรักตัวเองต้องทำอย่างไร คุณสามารถหาอ่านได้จากหนังสือหรือบทความที่มีมากมายบนโลกใบนี้ แต่ผู้เขียนจะขอทิ้งคำถามให้คุณ 5 ข้อเพื่อให้คุณได้ลองทบทวนตัวเองดูว่าที่ผ่านมาคุณมีประสบการณ์ทางใจเกี่ยวกับความรักอย่างไรบ้าง ดังนี้


1. คุณมีประสบการณ์เกี่ยวกับบุคคลสำคัญในชีวิต อย่างพ่อแม่ของคุณอย่างไรบ้าง?


2. ประสบการณ์และความรู้สึกที่คุณมีต่อพ่อแม่ของคุณ เคยส่งผลต่อชีวิตของคุณอย่างไร?


3. คุณยังคงได้รับผลพวงของประสบการณ์และความรู้สึกที่คุณได้รับจากพ่อแม่ของคุณอยู่หรือไม่?


4. คุณคิดว่าที่คุณไม่สามารถรักตัวเองได้ เป็นเพราะอะไร?


5. คุณมีความเชื่อมากน้อยแค่ไหนว่าคุณจะสามารถรักตัวเองได้ในสักวันหนึ่ง?


หลังจากที่คุณได้ลองทบทวนตัวเองผ่านคำถามข้างต้นและมีคำตอบให้กับตัวเองแล้ว คุณก็จะค่อย ๆ เห็นภาพของตัวคุณเองมากขึ้นว่า ที่ผ่านมาคุณเจอกับอุปสรรคอะไรที่ทำให้ความรักของคุณมักจะพังไม่เป็นท่า และยิ่งถ้าคุณยอมรับว่าการที่คุณรักตัวเองไม่ได้นั้นมันเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้คุณไม่สามารถที่จะมีความรักดี ๆ ได้เลย ก็จะยิ่งเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ที่จะพาคุณไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง ซึ่งการรักตัวเองในครั้งนี้จะไม่ได้เป็นไปเพื่อการเป็นที่รัก ถูกรัก หรือการได้มีแฟนที่ดี แต่จะเป็นไปเพื่อที่จะได้พบกับความรู้สึกอิ่มเอมใจไม่โหยหาความรักจากผู้อื่นอีกต่อไป


ทั้งนี้หากคุณได้ลองทุกวิธีการเพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้มีประสบการณ์ของการรักตัวเองแต่ก็ไม่พบว่าจะมีทางไหนที่มันเวิร์ค นั่นอาจสะท้อนว่าคุณมีบางสิ่งที่กำลังเกาะกินและขโมยความสุขของคุณอยู่ลึกลงไปภายในจิตใจของคุณเองหากเป็นเช่นนี้ การพบกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็เป็นตัวช่วยที่ดีที่จะพาให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้นค่ะ


บทความที่เกี่ยวข้อง

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ

ระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำ

อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG



Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page