เสพข่าวที่เป็นลบมากเกินไป อาจกระทบต่อสภาพจิตใจจนเกิดความเครียดได้
- นิลุบล สุขวณิช
- Aug 16, 2022
- 1 min read
Updated: Mar 16

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คอยอัพเดทข่าวสารเป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะด้วยเพราะต้องการทันต่อเหตุการณ์ กลัวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง หรือเล่นโซเชียลแล้วมันเด้งขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจอยากจะเห็นข่าวนั้นก็ตาม คุณก็จะได้เห็นความเป็นไปของโลกใบนี้
โดยเฉพาะในประเทศไทยของเราที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่อุบัติเหตุบนท้องถนน สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ราคาสินค้าค่าครองชีพที่สูงขึ้น ข่าวอาชญากรรมรอบโลก หรือข่าวดราม่าที่สร้างกระแสความเกลียดชัง
ซึ่งข่าวที่เราถูกป้อนให้เห็นจากโลกออนไลน์ก็มักจะเป็นข่าวที่เป็นลบมากกว่าข่าวดี ดังนั้น ในยุคสมัยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข่าวสารได้อย่างง่ายดายมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดความเครียดก็จะยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามนุษย์เรานั้นสามารถเกิดความเครียดและมีบาดแผลทางใจได้แม้ว่าจะไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า “vicarious traumatization” หรือบางแหล่งก็เรียกว่า “secondary trauma”
หมายถึง บาดแผลทางใจจากการที่ได้ไปร่วมรับรู้เรื่องราวอันเจ็บปวดบอบช้ำของคนอื่นบ่อย ๆ มักจะเกิดขึ้นกับบุคลากรด่านหน้า เช่น แพทย์ พยาบาล หน่วยฉุกเฉิน นักจิตบำบัด และยังรวมไปถึงคนที่เสพข่าวเข้าไปเป็นจำนวนมากจนทำให้กลายเป็นเหมือนพยานรู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด
รวมไปถึงได้รับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายแม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันเป็นส่วนตัวก็ตาม นอกจากนั้น หากข่าวที่เสพมีเนื้อหาเรื่องราวที่คล้ายคลึงกับประสบการณ์อันเจ็บปวดของตนเอง ข่าวดังกล่าวก็อาจจะกลายเป็นตัวที่ไปเปิดแผลเก่าขึ้นมาได้ ทำให้บาดแผลทางใจที่เคยจางลงไปบ้างแล้วกลับรู้สึกขึ้นมาอีกครั้ง
จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเริ่มมีความเครียดจากการเสพข่าวที่เป็นลบมากเกินไป?
เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์
มีความวิตกกังวลและหดหู่ซึมเศร้า
รู้สึกสิ้นหวัง
เริ่มมองตัวเองในทางไม่ดี ตำหนิตัวเอง
มีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและการนอนหลับ
ซึ่งหากคุณประเมินตนเองแล้วพบว่ามีอาการดังกล่าว สิ่งแรก ๆ ที่คุณสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยทันทีมีดังนี้
1. จัดเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ สำหรับตนเอง
คุณควรจัดเวลาให้ตนเองได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพื่อไม่ได้ตนเองใช้เวลาไปกับโลกของข่าวสารมากเกินไป ทั้งนี้ ข้อมูลของ Computers in Human Behavior ที่ตีพิมพ์ในปี 2021 ได้ระบุว่า
การเสพข่าวมากจนเกินไปนั้นมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคซึมเศร้ารวมไปถึงการเกิด secondary trauma ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองอู่ฮั่นในช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างหนัก
2. อย่าลืมฟังเสียงร่างกายตัวเองบ้าง
บ่อยครั้งที่คนเราไม่รู้ตัวว่ากำลังมีความเครียด เพราะอาจจะไม่ทันสังเกตว่าช่วงนี้มีเรื่องเครียดอะไรบ้าง หรือหมดเวลาไปกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จนไม่ได้ดูแลจิตใจตนเองเลย แต่แม้จิตใจจะไม่ได้บอกตรง ๆ ว่ากำลังมีความเครียดเกิดขึ้นแล้ว
แต่ร่างกายจะคอยช่วยส่งสัญญาณเตือนอยู่เสมอ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหงื่อออกมากผิดปกติ ฯลฯ ถ้าหากร่างกายส่งสัญญาณมาแล้ว ก็หมายความว่าคุณควรเริ่มต้นหันมาดูแลตนเองได้แล้ว
3. ให้อารมณ์ระบายออกมาผ่านพฤติกรรมที่สร้างสรรค์
นอกจากคนส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังมีความเครียดแล้ว ยังอาจไม่รู้ด้วยว่าตนเองกำลังมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร จึงทำให้กลายเป็นความหงุดหงิดแบบไม่มีเหตุผล ดังนั้น คุณควรหมั่นสังเกตตัวเองว่าคุณกำลังมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นอยู่
เช่น โกรธ เบื่อหน่าย รำคาญ ไม่พอใจ จากนั้นก็หาช่องทางให้อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นได้มีพื้นที่ระบายออกมาผ่านพฤติกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น เขียนออกมาในลักษณะของไดอารี เป็นต้น
4. ในกรณีที่บุตรหลานของคุณเกิดความเครียดจากการเสพข่าว
หมั่นสังเกตพฤติกรรมการเสพข่าวของบุตรหลานให้อยู่ในสายตา
ชวนให้บุตรหลานใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวลา โดยคุณเองก็ต้องเป็นตัวอย่างให้แก่บุตรหลานด้วยเช่นกัน
สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับบุตรหลาน เป็นผู้ฟังที่ดีและหมั่นพูดคุยกับบุตรหลานเกี่ยวกับข่าวที่เขากำลังสนใจ
5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
หากคุณมีอาการต่าง ๆ ตามด้านล่างนี้ และพบว่าอาการที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ โปรดอย่าละเลยและไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
การรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยรับประทานมากขึ้นหรือน้อยลง
พลังงานหรือปริมาณกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดเมื่อย หรือมีผื่นขึ้นตามร่างกาย
รู้สึกโมโห เศร้า กลัว กังวล ไม่สบายใจ หรือไม่มีความรู้สึกยินดียินร้าย
มีปัญหาในการตั้งสมาธิ หรือการตัดสินใจแย่ลง
มีปัญหาในการนอนหลับ หรือฝันร้าย
มีความต้องการดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดมากขึ้นกว่าเดิม
ป่วยเรื้อรัง หรือป่วยบ่อยขึ้น
การเสพข่าวนั้นอาจช่วยให้คุณไม่ตกข่าวและมีความรู้เพิ่มเติมขึ้นมาได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมเลือกประเภทของข่าวสารที่คุณจะเสพ รวมไปถึงจัดแบ่งเวลาในการเสพข่าวสารและการใช้โซเชียลมีเดียอย่างพอดี เพื่อที่จะได้ห่างไกลจากความเครียด และลดโอกาสการเกิดบาดแผลทางใจแบบ “vicarious traumatization” หรือ “secondary trauma” ที่อาจกระทบต่อสภาพจิตใจจนเกิดความเครียดได้
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] We’ve Gone From One Negative News Cycle to Another — Why That’s So Triggering. Retrieved from. https://www.everydayhealth.com/emotional-health/weve-gone-from-one-negative-news-cycle-to-another-why-thats-so-triggering/?fbclid=IwAR1oxeJmgXrklWaVvCnLEhiSclvywrHJfittIfLteOlKi6UWZfF59C0b8f4
[2] Watching the News Can Be Traumatizing. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/intl/blog/lifting-the-veil-trauma/202001/watching-the-news-can-be-traumatizing
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)
และเป็นนักเขียนของ istrong