top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เรียนรู้การทำงานของสมองเมื่อมีความรัก เพื่อรักอย่างมีคุณภาพ




“To handle yourself, use your head; to handle others, use your heart.” หรือแปลเป็นไทยว่า “จงใช้สมองเมื่อรับมือกับตัวเอง แต่จงใช้หัวใจเมื่อรับมือกับผู้อื่น” คำคมความรักอย่างมีคุณภาพโดย Eleanor Roosevelt อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา ภรรยาของประธานาธิบดี Franklin Delano Roosevelt ซึ่งคำคมข้างต้นมีความหมายว่า จงใช้ความคิดเพื่อวางแผนชีวิตของตนเอง


และใช้ความรู้สึกเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น เหมือนกับที่เรามักจะมีคำคมเพื่อขึ้นสถานะบน Facebook เก๋ ๆ ว่า “ฉันรักด้วยหัวใจไม่ใช่สมอง” ซึ่งมีความหมายว่า เมื่อเรามีความรัก เราใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล โดยในความเป็นจริงแล้วทั้งในทางจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ ได้ทำการทดลองการทำงานของสมองเมื่อมีความรัก พบว่า เมื่อเรามีความรัก สมองเราทำงานหนักหน่วงมากค่ะ ซึ่งจากงานวิจัยทางสมอง พบว่าในแต่ละช่วงของความรัก สมองคนเราทำงานดังนี้ค่ะ


การทำงานของสมองเมื่อจีบกันใหม่ ๆ

ในช่วงที่เราเริ่มปิ๊งใครสักคน หรือเจอคนถูกใจ ถูกสเปค สมองส่วนหน้าที่ชื่อว่า nucleus accumbens หรือ NAcc ซึ่งเป็นสมองที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น พึงพอใจ ส่งผลให้เราหัวใจเต้นรัวทุกทีเมื่อเจอเขาคนนั้น รู้สึกปั่นป่วนเหมือนมีผีเสื้อบินอยู่ในท้อง รวมถึงสมองส่วน nucleus accumbens ยังทำหน้าที่หลั่งสารสื่อประสาท Dopamine ออกมา


ทำให้เรามีความสุขเมื่อพบเขา ต้องการจะพบเขาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งจากการตรวจการทำงานของสมองของผู้เขารับการทดลองที่ได้เห็นภาพของคนที่ถูกใจ พบว่า มีการหลั่งสาร Dopamine ออกมาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีการหลั่งของฮอร์โมน cortisol สูง จึงทำให้เกิดความเครียด ความกังวล และมีฮอร์โมน testosterone สูง ซึ่งก่อให้เกิดแรงขับทางเพศตามมา


การทำงานของสมองเมื่อตกหลุมรัก

จากการตรวจสอบการทำงานของสมองของผู้ที่อยู่ในห้วงรัก หรือกำลังคลั่งรัก พบว่า สมองหลั่งฮอร์โมน cortisol ออกมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ที่กำลังตกหลุมรักมีความเครียดสูง รู้สึกรักไปกังวลไป เพราะกลัวว่าจะสูญเสียคนรัก หรือรักไม่สมหวัง ซึ่งในปี ค.ศ. 2011 ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจาก Stony Brook University เมือง New York ได้ทำการทดสอบการทำงานของสมองของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 18 คน ผู้กำลังคลั่งรัก


พบว่า สมองส่วน Orbitofrontal Cortex ซึ่งเป็นสมองที่เราใช้ในการตัดสินใจ มีการทำงานหนักมาก และผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา แห่ง University of California พบว่า เมื่อเรามีความรู้สึกรักมากเท่าไร สมองส่วน angular gyrus ซึ่งเป็นสมองที่ใช้ในการทำความเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น ทำงานหนักมากเช่นกัน


การทำงานของสมองเมื่อรักมานาน

เมื่อเรารักคน ๆ หนึ่งถึงขั้นแต่งงาน และใช้ชีวิตร่วมกันมาระยะหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญทางสมองได้ทำการทดลอง พบว่า ในคู่รักที่แต่งงานกันมามากกว่า 2 ปี จะมีการหลั่งของ cortisol (ฮอร์โมนที่ทำให้เราความเครียด ความกังวล) และโปรตีน Nerve Growth Factor หรือ NGF ซึ่งเป็นสารปรับการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทและสมอง หลั่งออกมาในระดับปกติ


แต่ฮอร์โมน oxytocin ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เรารู้สึกผูกพัน สงบ รู้สึกปลอดภัย หลั่งออกมาสูงมากขึ้น และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในสิ่งมีชีวิตหลายชนิด รวมถึงคนด้วย พบว่า หากมีการหลั่ง oxytocin อย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่าผู้นั้นจะรักมั่นคง รักเดียวใจเดียว


การทำงานของสมองเมื่อเลิกรัก

ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ประเทศเยอรมันนี ได้ทำการศึกษาการทำงานของสมองของผู้ที่ผิดหวังในความรัก 12 คน เทียบกับผู้ที่มีความสุขจำนวน 12 คน พบว่า สมองของคนที่ช้ำรัก มีการทำงานของสมองส่วน Insular cortex และ Anterior ingulate cortex (ACC) ลดลง ซึ่งสมองทั้งสองส่วนเป็นตัวควบคุมอามรณ์เศร้า อารมณ์ทางลบ นั่นจึงทำให้คนที่อกหักมีอารมณ์เศร้าอย่างดำดิ่ง และมีอารมณ์ลบที่พลุ่งพล่าน และหากสมองทั้งสองส่วนทำงานน้อยลงอย่างฉันพลัน ซึ่งพบได้มากในสมองของคนที่โดนทิ้งแบบกะทันหัน ก็สามารถนำไปสู่โรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้


การเรียนรู้เรื่องการทำงานของสมองนั้น ถึงแม้ว่าจะมีชื่อฮอร์โมนที่เราไม่คุ้นเคย หรือมีชื่อส่วนของสมองที่เราไม่รู้จัก แต่เป็นเรื่องที่เราควรทำความเข้าใจไว้ค่ะ เพราะการทำงานของสมองในห้วงต่าง ๆ ที่เรามีความรัก ต่างเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เรามีความรักอย่างมีคุณภาพ ดังเช่น จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เราเข้าใจได้ว่า เมื่อเราปิ๊งใครสักคนเราจะมีความสุข และตื่นเต้นมาก หากเราไม่ตระหนัก หรือไม่ทำความเข้าใจในส่วนนี้เราอาจตกอยู่ในภาวะหลง และยอมให้เขาคนนั้นไปทุก ๆ อย่าง หรือยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อให้ได้อยู่กับเขา ซึ่งความรักเป็นสิ่งผันผวนยิ่งกว่าราคาทอง หากเขาหมดรักเราในวันใด เราก็ไม่เหลืออะไรเลย


หรือในขณะที่เราตกหลุมรัก เราจะมีความเครียด มีความกังวลเกี่ยวกับความรักที่ไม่มั่นคง ซึ่งหากเราไม่เท่าทันในส่วนนี้ เราก็อาจจะตามติดชีวิตเขา ตามสิงเขา จนเขารำคาญ และหนีจากเราไป ทำให้เราช้ำรักไปอีก หรืออาจรุนแรงขนาดที่เราไปทำลายชีวิตเขาก็ได้

หรือเมื่อเราอกหัก หากเราไม่เข้าใจการทำงานของสมอง เราอาจจะจมดิ่งอยู่ในความซึมเศร้า จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล หรือโรคอื่น ๆ ที่บั่นทอน และทำลายชีวิตเราได้ ดังนั้นแล้วเราควรเรียนรู้การทำงานของสมองขณะที่เรามีความรัก เพื่อให้เรารู้ทันสมองของเรา ผลกระทบของฮอร์โมน หรือสารเคมีในสมองต่อตัวเรา เพื่อให้เรารักอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะ “รักตัวเอง” ดังที่ The Beatles กล่าวไว้ว่า “And in the end, The love you take is equal to the love you make” หรือ “ในท้ายที่สุดแล้ว รักที่คุณได้รับ ก็เท่ากับรักที่คุณได้ให้”


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :

อ้างอิง :

[1] James, W. Lewis and Jen Christiansen. (February 14, 2011). Your Brain in Love. Scientific American. West Virginia University. USA.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page