รู้จักกับ Cognitive Dissonance เมื่อสิ่งที่ถูกต้องกลับไม่ถูกใจ

Cognitive Dissonance เป็นทฤษฎีของ Festinger's (1957) หมายถึง สภาวะไม่สบายใจที่เกิดจากความเชื่อ คุณค่า มุมมองภายในของตนเองมันเกิดความขัดแย้งไม่ไปในทิศทางเดียวกัน คนเราจึงต้องพยายามหาทางที่จะตัดสินใจเลือกว่าจะใช้ความเชื่อ คุณค่า มุมมองภายในอันใดอันหนึ่ง เพื่อลดความรู้สึกสับสนไม่สบายใจของตนเองลง
สัญญาณที่บ่งบอกว่า Cognitive Dissonance เกิดขึ้นแล้ว
รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจเมื่อต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง
พยายามหาเหตุผลสนับสนุนว่าควรเลือกตัดสินใจแบบนั้น
มีความรู้สึกละอายใจในสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไป และพยายามที่จะปิดบังไม่ให้คนอื่นรู้ถึงการกระทำนั้น
เกิดความรู้สึกผิดหรือเสียใจในสิ่งที่เคยทำในอดีต
ตัดสินใจทำไปเพราะแรงกดดันทางสังคม หรือกลัวว่าจะไม่มีตัวตน (Fear of missing out: FOMO) แม้ว่าลึก ๆ ในใจไม่ได้อยากทำแบบนั้นเลย
สาเหตุที่ทำให้เกิด Cognitive Dissonance
1. การถูกบังคับให้ทำตาม
บางครั้งคนเราก็ต้องยอมทำสิ่งที่มันขัดกับความเชื่อของตัวเอง เพราะถูกบังคับให้ทำตาม ไม่ว่าจะเป็นกฎของโรงเรียน ที่ทำงาน หรือสถานการณ์ทางสังคม ทำให้มีความอึดอัดไม่สบายใจเกิดขึ้น เช่น ครูผู้ช่วยต้องทำงานเอกสารมากกว่างานสอนเพราะไม่อยากถูกประเมินให้ออก เป็นต้น
2. ได้รับข้อมูลใหม่เข้ามา
เมื่อข้อมูลใหม่ที่ได้รับมามันขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของตนเอง ความสับสนไม่สบายใจจึงเกิดขึ้น ซึ่งมักพบว่า คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่สนใจข้อมูลใหม่ที่เพิ่งได้รับ หรือพยายามหาหลักฐานมาสนับสนุนว่าความรู้ดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง เช่น คนที่เคยเชื่อว่ากัญชาเป็นยารักษาทุกโรค เมื่อมีข้อมูลว่ากัญชาสามารถกระตุ้นอาการทางจิตได้ ก็จะพยายามหาข้อมูลว่างานวิจัยที่บอกว่ากัญชากระตุ้นอาการทางจิตเป็นงานวิจัยที่มีหลักฐานอ่อนมากจนไม่น่าเชื่อถือ เป็นต้น
3. การต้องตัดสินใจ
ในชีวิตคนเรานั้นต้องทำการตัดสินใจอยู่บ่อยครั้งไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ในชีวิต และถ้าหากมีสองสิ่งที่ต้องทำการตัดสินใจเลือกว่าจะเอาอันไหนดี ความรู้สึกสับสนไม่สบายใจก็มักจะเกิดขึ้นมา คนเราจึงต้องหาทางลดความรู้สึกแย่ที่เกิดขึ้นด้วยการเลือกเอาสักทาง และหลังจากที่เลือกไปแล้วก็จะต้องหาเหตุผลและหลักฐานที่มาช่วยคอนเฟิร์มตัวเองว่า “ฉันเลือกแบบนี้ดีที่สุดแล้ว”
ผลกระทบจากการเกิด Cognitive Dissonance
Cognitive Dissonance มักทำให้คนเราเกิดความรู้สึกลำบากใจขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสิ่งที่ต้องทำมันขัดกับความเชื่อของตนเอง ทำให้ชีวิตยุ่งยากมากขึ้น หรือกระทบกระเทือนต่อมุมมองที่มีต่อตนเอง ยกตัวอย่างเช่น การที่ต้องทำบางอย่างที่มันฝืนกับความเป็นตัวเอง ต้องทำอะไรที่ต่างไปจากสิ่งที่ตนเองให้คุณค่า ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นมาได้
วิตกกังวล
อับอายขายหน้า
ตรอมใจ
โศกเศร้า
ละอายใจ
เครียด
เมื่อความรู้สึกทางลบดังกล่าวเกิดขึ้นโดยธรรมชาติแล้วคนเราจึงจำเป็นต้องหาทางทำให้ตนเองรู้สึกแย่น้อยลงด้วยการทำอะไรบางอย่าง ได้แก่
เลือกที่จะเชื่อในแบบที่ตัวเองสบายใจ โดยบางครั้งก็อาจจะใช้วิธีกล่าวโทษคนอื่นหรือปัจจัยภายนอก
เก็บซ่อนความเชื่อหรือพฤติกรรมของตนเองเอาไว้ไม่ให้คนอื่นรู้ เมื่อไม่มีใครเห็นก็จะได้ไม่ต้องรู้สึกผิด
หาเหตุผลมาสนับสนุน หรือหาพวกให้กับตัวเอง ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “confirmation bias” ก็คือเลือกเฉพาะเหตุผลหรือคนที่มาช่วยคอนเฟิร์มให้รู้สึกสบายใจว่าตนทำถูกแล้ว
เราจึงมักจะเห็นได้ทั้งจากประสบการณ์ของตนเองหรือสิ่งที่เราเห็นคนอื่นทำว่า บ่อยครั้งคนเราก็มักจะเลือกทำสิ่งที่ถูกใจมากกว่าถูกต้อง และเมื่อเลือกไปแล้วก็ต้องกล่อมตัวเองให้เชื่อจริง ๆ ว่าสิ่งที่ตนเองเลือกนั้นมันถูกต้องเหมาะสมที่สุด รวมไปถึงบอกกับตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองเลือกไปนั้นมันไม่ได้มาจากความถูกใจอะไรเลย
แต่มันมีหลักฐานสนับสนุน มีคนที่คิดเหมือนกันจริง ๆ ทั้งที่การได้มาซึ่งหลักฐานและคนที่เข้าข้างนั้นไม่ได้มาอย่างสมเหตุสมผล แต่เป็นการเลือกเก็บหลักฐานและความคิดของคนที่คิดแบบเดียวกัน โดยที่ทิ้งหรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับหลักฐานและความคิดของคนที่มองแตกต่างเสียมากกว่า
ในสถานการณ์ที่ข้อมูลข่าวสารประดังประเดเข้ามามากมาย หากเราเลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่ตรงกับความเชื่อของตัวเองเท่านั้น ก็อาจจะทำให้เราห่างไกลออกจากความเป็นจริงไปมากขึ้น โดยถ้าหากเราไม่เคยที่จะรับฟังหรือเปิดใจให้กับหลักฐานหรือความคิดของคนที่มองในมุมที่แตกต่างไปจากเราเลย ก็อาจจะทำให้เราเลยเถิดไปถึงขั้นหลอกตัวเอง หลงเชื่อข้อมูลที่ผิด จนเรากระทำสิ่งที่ผิดพลาดลงไป
ซึ่งหากโชคร้าย สิ่งที่เราทำลงไปเพราะ confirmation bias ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่นได้ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์กราดยิง หรือการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น ก็ล้วนมาจากการเลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่ตนเองอยากจะเชื่อ เพื่อลด Cognitive Dissonance ของตนเองลง แต่ผลของการกระทำกลับเลวร้ายและไม่ได้อยู่บนหลักของความเป็นจริงเลย
ดังนั้น จึงอยากชวนให้ทุกคนหันมา “ฝึกสติ” กันมากขึ้น เมื่อเกิด Cognitive Dissonance ขึ้นมาจะได้ไม่เลือกความถูกใจจนละเลยข้อเท็จจริง
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] What Is Cognitive Dissonance? Retrieved from. https://www.verywellmind.com/what-is-cognitive-dissonance-2795012
[2] Cognitive Dissonance Retrieved from. https://www.simplypsychology.org/cognitive-dissonance.html
บทความที่เกี่ยวข้อง
[1] 5 วิธีเสริมความกล้าเพื่อลาขาดความสัมพันธ์ยอดแย่ https://www.istrong.co/single-post/5-way-cut-off-relations
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG