top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ 3 วิธีจัดการความทุกข์เมื่อรู้จักเข้าใจตนเอง


หากสังเกตตัวเองและคนรอบข้าง คุณอาจจะพบว่า บางคนมักมีลักษณะเป็นคนแบบ “Yes man” คือยอมทุกคนไปหมดเลย บางคนเวลามีอะไรผิดพลาดขึ้นมาก็จะโทษทุกอย่างเลยยกเว้นตัวเอง บางคนก็เป็นคนที่มีลักษณะเป็นเจ้าแห่งเหตุผล ส่วนบางคนพอมีปัญหาขึ้นมาก็ยังทำเป็นตลกเฮฮาราวกับไม่รู้สึกรู้สากับปัญหาที่เกิดขึ้นเลย ทั้งหมดนี้คือท่าทีการเอาตัวรอด หรือเรียกง่าย ๆ ว่ารูปแบบในการรับมือกับปัญหา (Coping stance) ในมุมมองทางจิตวิทยาในทฤษฎีของ Virginia Satir ซึ่งมีที่มาจากกระบวนการภายในจิตใจของแต่ละคน และกระบวนการภายในใจเหล่านั้นก็มาจากประสบการณ์ส่วนบุคคล


เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir) นักจิตบำบัด ได้แบ่งท่าทีการเอาตัวรอดของคนเราไว้เป็น 4 แบบ ได้แก่


1. แบบยอมตาม (Placate)


เมื่อรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม คนที่ถนัดใช้ท่าทีการเอาตัวรอดแบบยอมตาม จะส่งมอบอำนาจของตัวเองไปให้คนอื่น ตอบรับทุก ๆ เรื่อง และทำการส่งสารไปยังผู้อื่นว่าตนไม่มีความสำคัญ เมื่อบุคคลยอมตาม ก็จะทำดีกับคนอื่นแม้ไม่ได้อยากทำอย่างนั้น รวมไปถึงรับผิดทุก ๆ เรื่องแม้ในเรื่องที่ตนไม่ผิด


ท่าทีของการยอมตามในการบำบัดแบบ Satir ก็คือ “นั่งลงคุกเขากับพื้น ยกมือข้างหนึ่งขึ้นและยื่นออกไปในลักษณะวิงวอน” ซึ่งจะส่งผลให้ภายในของบุคคลนั้นรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีตัวตน ซึมเศร้า เสี่ยงต่ออาการทางกาย ได้แก่ ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ไมเกรน ท้องผูก เป็นต้น


2. แบบตำหนิกล่าวโทษ (Blaming)


การตำหนิกล่าวโทษมีลักษณะตรงข้ามกับการยอมตาม เพื่อที่จะปกป้องตัวเองแล้ว บุคคลแบบตำหนิกล่าวโทษจะทำการรังควานและกล่าวโทษผู้อื่นหรือสภาพแวดล้อม ลดคุณค่าของผู้อื่น ให้ค่าเฉพาะตนเองและบริบทเท่านั้น พฤติกรรมของกลุ่มนี้มักแสดงออกมาในรูปแบบของการขี้บ่น เกรี้ยวกราด จู้จี้จุกจิก กดขี่


ท่าทีของการตำหนิกล่าวโทษในการบำบัดแบบ Satir ก็คือ “การยืนหลังตรงและชี้นิ้วไปที่คน ๆ หนึ่งเพื่อทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกลัว อีกมือหนึ่งท้าวเอวและยื่นเท้าข้างหนึ่งไปข้างหน้า” ซึ่งจะส่งผลให้ภายในของบุคคลนั้นรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะคนรอบข้างค่อย ๆ ถอยห่างไปด้วยความกลัว เกิดความรู้สึกหวาดระแวง เกเร รวมไปถึงผลเสียต่อร่างกาย ได้แก่ กล้ามเนื้อตึงเครียด ปวดหลัง ความดันโลหิตสูง ข้ออักเสบ หอบหืด เป็นต้น


3. แบบยึดเหตุผลเกินเหตุ (Super-reasonable)


การมีเหตุผลเกินเหตุ อาจดูเหมือนเป็นความเฉลียวฉลาด เป็นผู้สื่อสารที่ยึดเหตุผลและดูไม่มีที่ติ แต่เวลาที่บุคคลยึดเหตุผลจนเกินเหตุก็จะถอยออกห่างจากผู้คน และทนทุกข์อ ยู่กับความโดดเดี่ยว เพราะคนอื่นจะมองว่าเป็นคนน่าเบื่อ ไม่รู้จักยืดหยุ่นผ่อนปรน เจ้าหลักการ และหมกมุ่น


ท่าทีการเอาตัวรอดแบบยึดเหตุผลเกินเหตุในการบำบัดแบบ Satir ก็คือ “ท่ายืนตัวแข็งทื่อไม่ขยับเขยื้อน วางตัวราวกับเป็นผู้ทรงศีลที่สง่าผ่าเผย” ภายในใจของบุคคลแบบนี้มักรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่สามารถแสดงความรู้สึกใด ๆ ได้เลย เกิดความรู้สึกนิ่งงัน ย้ำคิดย้ำทำ แยกตัวออกจากสังคม ผลเสียที่เกิดกับร่างกาย ได้แก่ อาการปวดหลัง โรคติดเชื้อ ความผิดปกติของต่อมต่าง ๆ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เป็นต้น


4. แบบเฉไฉเบี่ยงประเด็น (Irrelevant)


ดูเผิน ๆ คนแบบเฉไฉอาจจะดูเป็นตัวโจ๊กหรือนักสร้างความสุขความบันเทิงให้กับคนรอบ ๆ ข้าง เวลาที่คนเราเฉไฉมักจะต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เป็นท่าทีที่ตรงข้ามกับการยึดเหตุผลมากเกินไป เพื่อที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนไปจากเรื่องที่กำลังพูดคุยกันอยู่


ท่าทีการเอาตัวรอดของคนแบบเฉไฉเบี่ยงประเด็นในการบำบัดแบบ Satir คือ “อยู่ในท่าเอียง ๆ หลังค้อมลง หัวเข่าหันเข้าหากัน ศีรษะเอียงไปข้างหนึ่งจนสุด” เพื่อรักษาสมดุลไม่ให้ล้ม คนแบบนี้จึงมักต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ภายในใจของบุคคลแบบนี้จึงมักขาดดุลยภาพ รู้สึกว่าไม่มีใครเป็นห่วง ไม่มีพื้นที่สำหรับตนเอง สับสน ผลเสียต่อร่างกาย ได้แก่ ปัญหาของระบบประสาทส่วนกลาง ความผิดปกติของกระเพาะ เบาหวาน ไมเกรน ท้องผูก เป็นต้น

ท่าทีการเอาตัวรอดแบบต่าง ๆ ตามทฤษฎีเชื่อว่ามาจากการพยายามเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูในวัยเด็กของตนเองเอาไว้ Satir เชื่อว่าเด็ก ๆ มักรู้ว่าทำอะไรแล้วพ่อแม่ของพวกเขาจะมีความสุขมากขึ้น และพวกเขามักจะทำสิ่งนั้นเพื่อยืนยันว่าความคิดเห็นของพวกเขาเป็นความจริง ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งอาจเป็นความเข้าใจผิดในวัยเด็กของบุคคล


ดังนั้น ท่าทีการเอาตัวรอดที่แต่ละคนได้เรียนรู้มา แม้ว่ามันจะสามารถปกป้องให้ตนเองอยู่รอดมาได้จนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นผลดีต่อตนเอง และเพื่อให้คนเรากลับมาสู่สมดุลอีกครั้ง การทำให้ตนเองอยู่ในสภาวะสอดคล้องกลมกลืน (Congruence) จึงเป็นสิ่งที่คนเราจำเป็นต้องรู้จัก เข้าใจ และลงมือทำเพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่สมดุล


แม้ว่า หลายครั้งจำเป็นต้องอาศัยนักบำบัดเป็นผู้ช่วยเหลือให้บุคคลไปสู่สภาวะสอดคล้องกลมกลืน แต่ในขณะเดียวกันบุคคลก็สามารถช่วยจัดการตัวเองได้ในระดับเบื้องต้นด้วย 3 วิธี ดังต่อไปนี้


1. ยอมรับในอารมณ์ที่เกิดขึ้น


รับรู้เมื่อเกิดอารมณ์ และเปิดเผยกับคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมา ผู้ที่มีความสอดคล้องกลมกลืนจะพูดว่า “ฉันกำลังโกรธ ฉันขอเวลาสักหน่อยก่อนที่จะตัดสินใจหรือพูดคุยกัน”


2. ยอมรับว่าตัวเองมีความคาดหวัง และพิจารณาว่าความคาหวังของตัวเองคืออะไร


เพื่อรับรู้และเลือกปล่อยวางความคาดหวังที่ยังไม่สมหวัง หรือสมหวังได้ยากออกไป การรับรู้ถึงความคาดหวังของตัวเองจะช่วยให้เราหยุดโยนให้คนอื่นทำให้เราสมหวัง แต่กลับมามีความสอดคล้องกลมกลืนกับความรู้สึกและความคาดหวังของตัวเอง


3. เชื่อมโยงตัวเองกับความจริงของโลก


ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต การเกิดและการตาย และธรรมชาติของความเป็นจริงต่าง ๆ โดยไม่พยายามที่จะหลีกหนี ฝืน ต่อต้าน แต่เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตให้โอนอ่อนไปกับกฎธรรมชาติเหล่านั้น


ซึ่งท่าทีการเอาตัวรอดแบบสอดคล้องกลมกลืนในการบำบัดแบบ Satir จะมีท่าทางที่ยืนอย่างสมดุล สบาย ๆ ไม่เกร็งตัว การแสดงออกของบุคคลที่มีความสอดคล้องกลมกลืนจะมีลักษณะเป็นคนที่มีคำพูดตรงกับท่าทางของร่างกาย น้ำเสียง และความรู้สึกข้างใน ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกต่าง ๆ ของตัวเอง จึงสามารถถ่ายทอดมันออกมาได้ดี ภายในใจมีความสงบ สมดุล มั่นใจในคุณค่าของตนเอง มีจิตใจเข้มแข็ง ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] Satir.2014. The Satir Model : Family Therapy and Beyond. รัตนา สายพานิชย์ แปล

[2] Satir Coping Stances. Retrieved from: https://www.youtube.com/watch?v=_kJJ6jqCZ4g


บทความแนะนำ


 

ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page