top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ฮีลใจอย่างไรเมื่อคุณอยากลาออกจากงานแต่สถานการณ์ยังไม่เป็นใจ



หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกอยากลาออกจากงานเพราะสุดที่จะทนแล้วกับมัน คุณไม่ได้กำลังเผชิญเรื่องนี้เพียงลำพังเพราะตั้งแต่ปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation) ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 2021 รวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลกก็พบว่ามีคนจำนวนมากมายที่รู้สึกอยากลาออกจากงานหรือมีแผนที่จะลาออกจากงานเรื่อยมาจนถึงในตอนนี้


โดยสาเหตุหนึ่งของการลาออกครั้งใหญ่มาจากการเกิดภาวะหมดไฟ (burnout) ของพนักงาน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ใช่ว่าทุกคนที่อยากลาออกจะสามารถลาออกได้เลยในทันทีเพราะแต่ละคนล้วนมีภาระและความมั่นคงทางการเงินแตกต่างกันไป ซึ่งหากคุณเป็นหนึ่งในคนที่กำลังรู้สึกอยากลาออกจากงานมากแต่ว่ายังไม่สามารถทำได้จึงต้องอดทนทำงานเดิมต่อไปก่อน ผู้เขียนก็ขอเสนอแนะแนวทางในการฮีลใจในระหว่างที่ยังต้องทำงานอยู่ที่เดิม ดังนี้


1. ทำความเข้าใจกับความรู้สึกของคุณ 

ความรู้สึกในที่นี้หมายถึงทั้งทางร่างกายและทางจิตใจเนื่องจากสองสิ่งนี้มันเชื่อมโยงกัน การที่ต้องทำงานในองค์กรที่แย่มักทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจเสื่อมถอยลง คนที่ต้องเผชิญกับความเครียดจากการทำงานในระดับที่สูงมักจะมีปัญหาเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร ความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติที่เกี่ยวกับสมอง (brain disorders)


โดยปัญหาสุขภาพร่างกายมักจะส่งผลต่อความมั่นคงในหน้าที่การงาน ในขณะเดียวกันความไม่มั่นคงในด้านการงานและการเงินก็มักจะส่งผลต่อสภาพจิตใจ ซึ่งคนที่มีความเครียดในระดับที่มากเกินไปมักจะเข้าสู่โหมด “fight, flight, or freeze response” ซึ่งในบางคนเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากจะรับมือก็อาจความรู้สึกอยากลาออกขึ้นมาได้


ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกให้ลองทำความเข้าใจกับความรู้สึกของคุณและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างแล้วค่อยว่ากันใน step ต่อไปอีกที


2. ดูสถานการณ์ทางการเงินของคุณ

ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกลองดูว่าคุณมีตัวช่วยด้านการเงินอะไรมารองรับบ้าง รวมไปถึงลองถามคำถามเพื่อเช็คสถานการณ์ทางการเงินกับตัวเอง เช่น ถ้าลาออกจากงานจะเสี่ยงต่อการถูกยึดบ้านหรือไม่? มีสวัสดิการของรัฐอะไรที่สามารถเข้ามาช่วยระหว่างว่างงานบ้าง?


บัญชีเงินฝากที่คุณมีเป็นบัญชีประเภทไหนและมียอดเงินเท่าไหร่? หากคุณลองเช็คดูแล้วคุณคิดว่าตัวเองพออยู่ไหวหลังจากที่ลาออกจากงานและชั่งน้ำหนักแล้วว่าคุณอยากจะให้ความสำคัญกับสุขภาพร่ายกายและจิตใจของตัวเองมากกว่า การตัดสินใจออกจากงานเพื่อเซฟตัวเองก็เป็นเรื่องที่ทำได้เหมือนกัน


3. สำรวจทางเลือกอื่น ๆ

ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกให้คุณลองสำรวจดูก่อนว่านอกจากงานที่คุณกำลังทำอยู่มันมีทางเลือกอื่น ๆ อะไรบ้างที่คุณอาจจะลองทำควบคู่กันไปก่อน เช่น พนักงานจ้างแบบชั่วคราว (gig-based jobs) งานเสริมที่ทำได้หลังเวลาเลิกงานประจำ งานฟรีแลนซ์ งานในที่ทำงานของคุณแต่ว่าเป็นงานในตำแหน่งอื่น หรืองานพาร์ทไทม์


นอกจากนี้ หากคุณรู้สึกแย่จากงานที่กำลังทำอยู่เพราะบรรยากาศในการทำงานมันทำให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างแต่คุณยังไม่พร้อมที่จะลาออก การลองไปทำงานอื่น ๆ ควบคู่กันไปมันก็อาจจะช่วยให้คุณได้ไปเจอกับสังคมใหม่ ๆ ที่ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างลงได้ 


4. สร้างเครือข่ายเพื่อเสริมความรู้สึกปลอดภัยให้กับตัวเอง

การสร้างเครือข่ายนั้นมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบและไม่ได้จำกัดอยู่ที่แค่เครือข่ายในด้านการเงินแต่ว่ารวมไปถึงเครือข่ายในด้านจิตใจด้วย เช่น ถ้ารู้สึกเครียดหรือมีปัญหาจะสามารถขอความช่วยเหลือหรือกำลังใจจากใครได้บ้าง หรือสร้างแผนสำรองในกรณีที่คุณต้องการลาออก เช่น 

- อัพเดทข้อมูลสำหรับใช้สมัครงาน (Resume/CV) ทั้งแบบเอกสารและแบบออนไลน์ เช่น LinkedIn 

- เปลี่ยนสถานะใน LinkedIn เพื่อให้บริษัทที่กำลังรับสมัครพนักงานทราบว่าคุณกำลังมองหางานใหม่อยู่

- เตรียมตัวฝึกซ้อมสำหรับการสัมภาษณ์งานเอาไว้ก่อน

- วางแผนเกี่ยวกับการเงินของเงินของตัวเองสำหรับช่วงที่ไม่ได้ทำงาน

- เข้าร่วมงานอีเว้นท์ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในด้านการทำงานให้กับคุณ 


5. เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งที่เป็นคุณค่าความหมาย

ลองถามคำถามที่ชวนให้คุณได้สำรวจสิ่งที่เป็นคุณค่าความหมายในชีวิต เช่น สิ่งที่คุณทำมันมีคุณค่าความหมายต่อสังคมยังไงบ้าง งานที่คุณทำมันได้ช่วยคนอื่นยังไงบ้าง การที่ได้รู้ว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่มีคุณค่าหมายอยู่มันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ความเข้มแข็งทางใจ ความสุข และรู้สึกว่าตัวเองมีความผูกพันกับองค์กรมากขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และการกลายเป็นคนที่บ้างาน (workaholic) จะไปในทางที่ลดลง 


อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า “The grass is greener on the other side” ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกคุณควรพิจารณาให้รอบด้านอย่างรอบคอบโดยไม่ควรลาออกด้วยอารมณ์แบบหุนหันพลันแล่น รวมถึงลองทบทวนให้ดีก่อนว่านอกจากในมุมแย่ ๆ ของงานที่คุณรู้สึกว่าคุณทนกับมันไม่ไหว มันยังมีมุมดี ๆ อยู่บ้างไหมซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องของผลตอบแทนด้านการเงินแต่เป็นเรื่องของคุณค่าความหมายที่คุณจะได้จากการทำงาน 

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] I Want to Quit My Job But I Can't Afford to—What Should I Do? Retrieved from https://www.verywellmind.com/how-to-cope-if-you-cant-quit-your-job-8665842

[2] Before you impulsively quit your job as part of the ‘Great Resignation,’ do these four things. Retrieved from https://www.cnbc.com/2021/09/21/do-these-4-things-before-you-quit-your-job.html

[3] How to cope when you can’t quit an unsatisfying job. Retrieved from https://www.fastcompany.com/90913820/how-to-cope-when-you-cant-quit-an-unsatisfying-job

[4] การลาออกครั้งใหญ่คืออะไร ทุกสิ่งที่คุณต้องรู้. Retrieved from https://th-th.workplace.com/blog/the-great-resignation

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page