top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 เทคนิคทางจิตวิทยาในการป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบก่อเหตุรุนแรง

พฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) มักจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่ชื่นชอบความรุนแรง และมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม (Anti social) ซึ่งตามค่าสถิติจากงานวิจัยเชิงจิตวิทยา/อาชญาวิทยาของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2015 พบว่า การก่อเหตุรุนแรง เช่น การยิงคนจำนวนมากในที่สาธารณะ การสังหารหมู่ หนึ่งครั้ง จะส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันจากคนที่มีพฤติกรรมเลียนแบบภายในระยะเวลา 13 วัน ซึ่งการก่อเหตุรุนแรงในแต่ละครั้งส่งผลเสียหายอย่างมากในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของรัฐ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และที่เห็นว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ ด้านจิตใจ ทั้งของบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้สูญเสีย และผู้รับรู้เหตุการณ์ผ่านสื่อเองก็ตาม ต่างตกอยู่ในความวิตกกังวล หวาดผวา รู้สึกไม่มีความปลอดภัยในชีวิต ดังนั้นแล้ว เพื่อลดอัตราการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) ในเหตุการรุนแรง WHO จึงได้แนะนำเทคนิคทางจิตวิทยาในการลดความเสี่ยงในการก่อเหตุซ้ำ 7 เทคนิค ดังนี้ค่ะ



ลดแชร์ความโกรธ ลดพฤติกรรมเลียนแบบ" (copycat)

1.ลดการใช้อารมณ์ในการโพสถึงเหตุการณ์รุนแรง

เป็นเรื่องปกติธรรมดาค่ะ ที่เมื่อเรารู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์อะไรเป็นพิเศษ ก็อดไม่ได้ที่จะใส่อารมณ์ลงไปในเนื้อหาของข้อความที่เราโพส ซึ่งนักจิตวิทยาให้ข้อแนะนำว่า การโพสด้วยอารมณ์ที่รุนแรงนั้นให้ผล 2 อย่าง คือ สร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนที่อ่าน เช่น ถ้าเราใส่อารมณ์โกรธแค้น ผู้ก่อเหตุในการโพส คนที่เข้ามาอ่านโพสเราก็จะรู้สึกทางลบต่อผู้ก่อเหตุ แต่ในทางกลับกัน กับบุคคลที่มีบุคคลิกแบบต่อต้านสังคม (Anti Social) หรือคนที่นิยมความรุนแรง เมื่อได้อ่านโพสของเราแล้ว เขาจะรู้สึกปลื้มผู้ก่อเหตุที่สามารถสาร้างอารมณ์โกรธให้คนอื่นได้ขนาดนี้ แล้วก็มีพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) ไปก่อเหตุในลักษณะคล้ายกันตามมาอีก ดังนั้น เพื่อลดการก่อเหตุซ้ำ นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า ขอให้โพสถึงเหตุการณ์อย่างเป็นกลางที่สุด หรือหากอดที่จะใส่อารมณ์ลงไปไม่ได้ ขออย่าโพสเลยดีกว่าค่ะ



2.ลดการให้รายละเอียดของเหตุการณ์รุนแรง

บางครั้ง บางเหตุการณ์ เราก็อาจอยู่ในฐานะของ “คนวงใน” ของบุคคลในข่าว ถึงแม้ว่าการนำข้อมูลเชิงลึกของการก่อเหตุมาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์อาจจะทำให้เราดูเจ๋ง ดูเท่ก็จริง แต่ก็ทำให้คนที่มีพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) ได้เก็บรายละเอียดของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น ชุดที่ใส่ วิธีการก่อเหตุ อาวุธในการก่อเหตุ และนำไปใช้ก่อเหตุซ้ำเพื่อให้ตัวเองเป็นข่าวในเวลาต่อมาได้ค่ะ



หยุดการเผยแพร่ ลดพฤติกรรมเลียนแบบ" (copycat)

3.หยุดการเผยแพร่ หยุดการแชร์ต่อวีดีโอเหตุการณ์รุนแรง

ถึงแม้ว่าการแชร์คลิปวีดีโอเหตุการณ์รุนแรงใน Facebook ใน Line จะทำให้เราได้ยอดไลค์ก็ตาม แต่นั่นไม่คุ้มเลยค่ะ กับการที่เรากลายเป็นคนขยายความรุนแรง ไม่ว่าจะในแง่การเผยแพร่วิธีการก่อเหตุรุนแรงแบบถึงลูกถึงคนให้คนที่มีพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) ได้เรียนรู้ เรายังทำร้ายเหยื่อที่รอดชีวิตหรือผู้สูญเสียคนที่เขารักจากเหตุการณ์รุนแรงซ้ำ ๆ เวลาที่เขาได้มาเห็นวีดีโอ คิดถึงใจเขาใจเรา แค่เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่เห็นคลิปวีดีโอยังสะเทือนใจเลยค่ะ แล้วคนที่เขาผ่านเหตุการณ์นั้นมา หรือสูญเสียคนรักเพราะเหตุการณ์นั้นใจจะสลายขนาดไหน



4. ไม่เผยแพร่ชื่อของผู้ก่อเหตุ

ในหัวข้อนี้ ต้องขอยกคำพูดของ Jacinda Ardern นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ ที่ได้กล่าวถึงผู้ก่อการร้ายในประเทศเมื่อเดือนมีนาคม 2019 ไว้ว่า “เขามีความต้องการหลายสิ่งจากการก่อการร้าย และหนึ่งในนั้นคือ ‘ชื่อเสียง’ ในด้านลบ และนั่นเป็นเหตุผลว่า คุณจะไม่มีทางที่จะได้ยินดิฉันเอ่ยชื่อของพวกเขา” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของนักจิตวิทยาที่ว่า ถ้าเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม วิธีการลดพฤติกรรมนั้นก็คือ การไม่ให้แรงแสริม ไม่ให้รางวัลกับพฤติกรรมนั้น ๆ ซึ่งในกรณีนี้ รางวัลก็คือ การให้ชื่อเสียง การประโคมข่าว การพูดถึงผู้ก่อเหตุ ทำให้คนที่มีความคิด บุคคลิก สภาพจิตแบบเดียวกับผู้ก่อเหตุ ทำพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) เพื่อให้ได้ชื่อเสียงมา แต่ถ้าเราไม่แม้แต่จะเอ่ยชื่อผู้ก่อเหตุ พฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงค่ะ



สร้างทัศนคติ ลดพฤติกรรมเลียนแบบ" (copycat)

5.สร้างทัศนคติว่าพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุเป็นสิ่งที่แย่ ไม่ให้คุณค่ากับผู้ก่อเหตุ

สำหรับคนที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ และมีวุฒิภาวะสมวัย คงไม่ต้องเน้นย้ำกันเลยค่ะ ว่าสิ่งที่ผู้ก่อเหตุได้ทำลงไปนั้นเลวร้ายเกินจะบรรยายได้ แต่กับเด็กเล็กและวัยรุ่นที่เขากำลังค้นหาตัวตนของตัวเอง เขาอาจไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ผู้ก่อเหตุทำนั้นเป็นเรื่องไม่ดี แล้วยิ่งมีคนพูดถึงผู้ก่อเหตุมาก สำนักข่าวทุกสำนักประโคมข่าวติดต่อกันยาวนาน เด็ก ๆ และวัยรุ่นที่ขาดผู้ใหญ่ให้คำแนะนำก็อาจเข้าใจไปว่า นี่คือ Idol เราต้องทำพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) เขาเพื่อให้มีชื่อเสียง มีคนพูดถึงอย่างเขา เพราะฉะนั้นแล้ว เพื่อป้องกันการสร้างอสูรร้ายขึ้นมาเพิ่ม เราที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องอธิบายให้เด็ก ๆ และวัยรุ่นเข้าใจว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ดีอย่างไร และไม่ควรเลียนแบบเพราะอะไรค่ะ





6.แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการลงโทษซ้ำ ๆ

หากการแชร์ข้อมูลของผู้ก่อเหตุเป็นการให้รางวัล นักจิตวิทยาเลยแนะนำว่าเราต้องแชร์ข้อมูลตรงข้ามเพื่อเป็นการลงโทษผู้ก่อเหตุ และเป็นการป้องกันการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) ข้อมูลที่ว่านั้น ก็คือ การแชร์บทลงโทษที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับค่ะ แล้วข้อมูลที่แชร์จะต้องเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่คนอ่านเห็นภาพ แล้วก็กลัวที่จะทำตามด้วยค่ะ



การไม่ให้ข้อมูล ลดพฤติกรรมเลียนแบบ" (copycat)

7.การไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงจูงใจในการก่อเหตุ

เวลาเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นมา หนึ่งสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการจะรู้ก็คือ “ทำไปพื่ออะไร?” ซึ่งคนที่ตอบได้ดีที่สุดคือผู้ก่อเหตุเอง และโดยส่วนมากแล้วมักจะไม่รอดชีวิตมาให้คำตอบนี้ ดังนั้นจึงทำให้มีคนมากมายที่พยายามอธิบายมูลเหตุจูงใจของผุ้ก่อเหตุ ทั้งอ้างอิงทฤษฎีจิตวิทยาบ้างละ อ้างอิงทฤษฎีอาชญาวิทยาบ้างละ หรือคนวงในผู้ใกล้ชิดออกมาให้ข่าวเอง ว่าเคยได้ยินผู้ก่อเหตุบ่นเรื่องนี้ เรื่องนั้นบ่อย ๆ เลย “คาดการณ์” ว่า เหตุจูงใจมาจากเรื่องนี้แน่ ๆ ซึ่งการที่เราพยายามเผยแพร่แนวคิดเรื่องเหตุจูงใจนี้ ก็อาจทำให้เกิด “พฤติกรรมเลียนแบบ" (copycat) ตามมาได้ค่ะ เพราะบางแนวคิดอาจจะไปโดนใจกับคนที่มีชะตากรรมเดียวกัน เช่น ถูกกดดันจากนายจ้างเหมือนกัน ถูกโกงเหมือนกัน มีโรคทางจิตเวชเหมือนกัน ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) ออกมาก่อเหตุเหมือนกัน และแน่นอนว่าทำให้เกิดความสูญเสียขึ้นมาเช่นเดียวกันค่ะ





หลังจากเหตุการณ์รุนแรงจบลง ข้อดีข้อเดียวของเหตุการณ์นั้น ก็คือ การมีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุเกิดขึ้นอีก แต่จะดีกว่าหรือไม่ค่ะถ้าเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้นแล้ว หากเราสามารถลดแนวโน้มของการเกิด “พฤติกรรมเลียนแบบ(copycat)ได้มากเท่าไหร่ ก็เท่ากับเราได้เพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตของเราและคนที่เรารักได้มากเท่านั้นค่ะ นักจิตวิทยา iSTRONG ขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้กับผู้ผ่านเหตุการณ์ร้ายและผู้สูญเสียทุกท่านให้ลุกขึ้นใหม่ด้วยใจสตรองในเร็ววันนะคะ

 

istrong.co ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


 

อ้างอิง :

1. Towers S, Gomez-Lievano A, Khan M, Mubayi A, Castillo-Chavez C. 2015. Contagion in Mass Killings and School Shootings. PLoS ONE 10(7): e0117259.https://doi.org/10.1371/journal.pone.0117259

2. ลดา ตรีศักดิ์ศรีสกุล. 9 กุมภาพันธ์ 2563. บทเรียนจากสหรัฐ: พฤติกรรมเลียนแบบก่อเหตุรุนแรงผ่านสื่อ?. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2563 จาก https://www.isranews.org/isranews-article/85398-israa-85398.html

3. Newsweek. 19 Mars 2019. New Zealand PM Jacinda Ardern Vows Never To Say Christchurch Gunman's Name. (Online). https://www.youtube.com

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page