เชื่อหรือไม่? มนุษย์ทุกคนมีเหตุผล แม้แต่เหตุผลในการทำสิ่งที่ไม่ดี
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เสพข่าวอยู่เป็นประจำ อาจจะเคยเห็นว่าในหลาย ๆ ข่าวที่มีคนทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางกฎหมาย หรือความผิดในทางบรรทัดฐานทางสังคม เช่น การลงไม้ลงมือหรือฆ่าแฟนของตนเอง ทำร้ายร่างกายเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน หรือซิกแซกเพื่อให้พวกพ้องของตนเองได้รับสิทธิพิเศษ เป็นต้น ทุกคนที่เป็นผู้กระทำสิ่งเหล่านั้นก็มักจะมีเหตุผลว่าทำลงไปเพราะอะไร เช่น เพื่อป้องกันตัว เพื่อแสดงความกตัญญู ฯลฯ ซึ่งหลายคนก็จะมีความสงสัยตามมาว่า “แบบนี้ก็ได้เหรอ?”
เชื่อหรือไม่ว่า...มนุษย์ทุกคนมีเหตุผล แม้แต่เหตุผลในการทำสิ่งที่ไม่ดี... มันอาจจะฟังดูแปลก ๆ ไปสักหน่อย โดยเฉพาะเวลาที่เรามองการกระทำของคนอื่น แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นเราเองที่กระทำเรื่องไม่ดี เราก็จะมีเหตุผลของเราว่าเราทำแบบนั้นไปทำไม ซึ่งในเรื่องนี้ Albert Bandura นักจิตวิทยา ได้อธิบายเอาไว้ในเรื่อง “Moral Disengagement” ตรงกับภาษาไทยว่า “การละเลยคุณธรรม” ที่มีความหมายถึง การที่คนเราเลือกทำพฤติกรรมที่ไม่ตรงกับมาตรฐานคุณธรรม (moral standards) นั้น แน่นอนว่าย่อมสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีอยู่ภายในตน เพราะมนุษย์ทุกคนมีแนวโน้มที่จะอยากเป็นคนดีเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นคน แต่ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็สามารถเป็นทั้งคนดีมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและเป็นทั้งคนที่ทำสิ่งอันโหดเหี้ยมได้ในคนเดียวกัน โดยใช้เหตุผลของตนเองมาอ้างอิง ซึ่งเหตุผลทั้งหลายที่หยิบยกขึ้นมานั้น มักจะมาจากกลไกการโน้มน้าวตนเองเพื่อลดความรู้สึกผิดของตัวเองลง มี 8 รูปแบบ ได้แก่
1. Moral Justification
อ้างเหตุผลเพื่อรองรับการกระทำที่ไม่ เช่น “ที่ผมฆ่าคนเหล่านั้นก็เพราะผมต้องการปกป้องโลกใบนี้ให้ปราศจากคนนอกรีต”
2. Euphemistic Labeling
แปะป้ายของการกระทำให้ดูสวยหรู เช่น “ไม่ได้ต้องการจะโกงเลย ที่ทำไปเพราะอยากแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่”
3. Advantageous comparison
เปรียบเทียบพฤติกรรมตัวเองกับคนที่แย่กว่า เช่น “ถึงแม้ผมที่เป็นประชาชนคนธรรมดาจะไม่ได้สวมหมวกกันน็อค ก็ยังดีกว่าคุณตำรวจที่ทำผิดกฎจราจรทั้งที่เป็นตำรวจ”
4. Displacement of Responsibility
โยนคนอื่นให้เป็นผู้รับผิดชอบความผิดแทนตัวเอง เช่น “ฉันไม่ได้ด่าคุณนะคะ ฉันวางโทรศัพท์เอาไว้ หลานฉันมันเอาไปพิมพ์”
5. Diffusion of responsibilities
กระจายความรับผิดชอบ (ความผิดของตัวเอง) ออกไป เช่น “ที่การเงินออฟฟิศเรามันแย่แบบนี้ ก็เพราะพวกคุณไม่ห้ามผม ตอนที่ผมจะตัดสินใจลงทุนด้วยแหละ”
6. Distortion of consequence
บิดเบือนความรุนแรงของผลกระทบ เช่น “ก็แค่แซงคิวรับการรักษาเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปฆ่าใครตายซักหน่อย”
7. Dehumanization
ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เช่น “ก็แค่คนไร้บ้าน ปล่อยให้อดตายไปบ้างก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย”
8. Attribution of blame
ป้ายความผิดให้ผู้อื่น เช่น “ที่ผมพังบ้านไป ก็เพราะว่าแฟนผมเขามีทิฐิสูง ทำให้ผมโมโห”
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าการโน้มน้าวตัวเองเพื่อลดความรู้สึกผิดนั้นจะเป็นเหตุผลที่เราควรยอมรับได้ เพราะแม้ว่าในทางจิตวิทยาเชิงบวกจะเน้นย้ำให้เรามีความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ผู้อื่น แต่นั่นหมายถึงว่า เรามีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเพื่อให้เรานึกภาพออกว่าในมุมของเขานั้นเป็นอย่างไร แต่พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามบรรทัดฐานของกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยเฉพาะพฤติกรรมที่รบกวน ก้าวก่าย หรือทำลายผู้อื่น แม้จะมีเหตุผลอ้างอิงยังไงมันก็ไม่สามารถให้การยอมรับพฤติกรรมนั้นได้อยู่ดี
ดังนั้น หากคุณทราบแล้วว่า มนุษย์ทุกคนรวมถึงตัวเราเองจะทำทุกอย่างไปโดยมีเหตุผลส่วนตัว แต่เมื่อทบทวนแล้ว การทำสิ่งนั้นมันเข้าข่ายการใช้กลไกการโน้มน้าวตนเองทั้ง 8 รูปแบบที่กล่าวมาในข้างต้น ก็อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะต้องกลับมาทบทวนเพื่อตั้งต้นใหม่อีกครั้ง โดยใช้วิธีการเช็คตัวเอง ดังนี้
ไม่ว่าจะทำอะไรขอให้มีความรู้ตัวอยู่เสมอ
บ่อยครั้งที่พบว่า คนเรามักจะมานึกเสียใจทีหลัง ที่พลาดพลั้งทำสิ่งไม่ดีลงไป เพราะตอนที่ทำนั้นไม่รู้เท่าทันตนเอง แต่ปล่อยให้สัญชาตญาณนำทางตัวเองไปอย่างปราศจากสติ เช่น ความต้องการ ความโกรธ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฯลฯ ซึ่งการรู้ตัวนี้ การฝึกตนเองด้วย Mindfulness ช่วยได้มาก
ฝึกให้ตัวเองรู้จักยับยั้งใจเอาไว้ ก่อนที่จะทำสิ่งที่ไม่ดี
คล้ายคลึงกับความไม่รู้ตัว เมื่อคนเราขาดการควบคุมตนเอง (Self-control) ก็จะทำก่อนคิด หรือคิดแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะทำ
เลือกที่จะอยู่ใกล้ชิดคนที่มีคุณธรรม
ด้วยในครั้งนี้ ผู้เขียนหยิบยกเอาทฤษฎีของ Bandura มาพูดคุย ก็จะหยิบยกเอาเรื่อง “Role Model” ของ Bandura มาพูดไปพร้อม ๆ กันเลย กล่าวคือ ตัวแบบ (Role Model) มีอิทธิพลมากต่อพฤติกรรมของเรา การที่เราเลือกพาตัวเองไปอยู่ใกล้ชิดคนที่มีคุณธรรม มันก็จะช่วยให้เราพบเห็นพฤติกรรมของคนที่มีคุณธรรมอยู่เป็นประจำ ซึ่งจะทำให้เราเกิดการซึมซับและเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันทำงานเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments