top of page

Fake news มากแค่ไหนก็ไม่หวั่น ถ้าหมั่นฝึก Critical Thinking Skills

iSTRONG Fake news มากแค่ไหนก็ไม่หวั่น ถ้าหมั่นฝึก Critical Thinking Skills

ในยุคที่โลกออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลกับผู้คนยิ่งกว่าโลกแห่งความเป็นจริงแบบนี้ทำให้ผู้คนโดยมากใช้เวลาของชีวิตส่วนใหญ่ไปกับสังคมออนไลน์


ซึ่งแน่นอนว่าในโลกออนไลน์นั้นเต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาทั้งที่เลือกเสพและถูกป้อนโดยอัลกอรึทึมของแอปพลิเคชันออนไลน์และแน่นอนว่าข้อมูลที่ถูกคัดสรรโดยอัลกอริทึมนั้นย่อมไม่ได้คัดสรรข้อมูลที่เป็นความจริง (fact) เสมอไป แต่จะเลือกป้อนข้อมูลที่เรานิยม


ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นแฟนคลับของนักกีฬาทีมเอ เราก็มักจะเลือกดูสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทีมเอบ่อย ๆทำให้อัลกอรึทึมคัดแต่ข้อมูลดี ๆ ของทีมเอมาให้เรา แต่จะไม่ค่อยนำข้อมูลของทีมบีซึ่งเป็นคู่แข่งของทีมเอเข้ามาให้เราเห็น หรือหากจะป้อนข้อมูลเกี่ยวกับทีมบีมาให้ก็มักจะเป็นข้อมูลด้านลบของทีมบี


โดยที่ข้อมูลต่าง ๆ นั้นจะมี fake news หรือ fake information เข้ามาด้วย ถ้าหากเราเชื่อ fake news ว่าเป็นความจริงโดยทันทีอย่างไม่กลั่นกรอง ก็จะทำให้เรามองปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคมอย่างมีอคติ ดังนั้น การจะรับมือกับ fake news ทั้งหลาย จึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการกลั่นกรองข้อมูล โดยหนึ่งในนั้นก็คือทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking skills)

Critical Thinking Skills มีนิยามที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เป็นความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นกลางและตัดสินข้อมูลดังกล่าวโดยใช้เหตุผล มีการประเมินแหล่งที่มาของข้อมูล ความสอดคล้องกับความเป็นจริงของข้อมูล


รวมถึงมีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือมีการศึกษาวิจัยรับรองว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง จำแนกแยกแยะข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น หรือข่าวลือ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อว่าข้อมูลที่เข้ามานั้นน่าเชื่อถือหรือควรที่จะเชื่อถือมัน


เพื่อให้ตนเองสามารถรับข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถเอาข้อมูลที่ถูกต้องนั้นไปสื่อสารต่อ ซึ่งจะเป็นการนำข้อเท็จจริงไปสื่อสาร ไม่ใช่แพร่กระจาย fake news ออกไปโดยไม่กลั่นกรอง


สำหรับสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ (Key Components) ของ Critical Thinking skills นั้น ข้อมูลจาก The Pennsylvania Child Welfare Resource Center ได้กล่าวไว้ ดังนี้


1. กระบวนการคิด

ซึ่งกระบวนการคิดที่ดีจะต้องไม่เป็นการคิดที่กระโดดไปยังข้อสรุปโดยทันที แต่จะต้องค่อย ๆ คิดวิเคราะห์ไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ถูกต้อง และระมัดระวังในการคัดเลือกแหล่งข้อมูลว่าแหล่งไหนที่น่าเชื่อถือ


2. พึงระวังความเชื่อของตนเอง

สิ่งที่เราให้คุณค่าเป็นพิเศษ อคติ รวมไปถึงประสบการณ์ส่วนตัว โดยคนที่มี Critical Thinking skills มักจะตระหนักรู้ในตนเอง (self-aware) วิจารณ์ตนเอง (self-critical) และรับรู้ว่าความเชื่อส่วนบุคคล คุณค่า ประสบการณ์ของตนเองนั้นมีบทบาทต่อการคิดการตัดสินใจของตน


ดังนั้น คนที่มี Critical Thinking Skills อาจจะเชื่อในความรู้สึกและสัญชาตญาณของตนเอง แต่ก็เข้าใจดีว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง


3. ท้าทายกับสมมุติฐานต่าง ๆ

ตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในหัวข้อที่นำมาเป็นประเด็นการคิด


4. พิจารณาข้อโต้แย้งต่าง ๆ

ไม่รับข้อมูลเพียงด้านเดียว แต่พิจารณาจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีหลักฐานพิสูจน์ได้ โดยมีความเข้าใจว่าข้อมูลที่มีคนเชื่อเป็นจำนวนมากนั้นอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป กล่าวคือ แม้จะมีคนเชื่อตาม ๆ กันเป็นจำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อเท็จจริง


5. พิจารณาทางเลือก

คนที่มี Critical thinking skills จะมีลักษณะที่เปิดรับความคิดเห็นของคนอื่น แม้ว่ามันจะเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากความคิดเห็นของตนเอง มีการนำความคิดหลาย ๆ ด้านมาวิเคราะห์หาความเป็นจริงก่อนที่จะเชื่อ


6. พิจารณาถึงบริบทของแต่ละสังคม

โดยมองว่าข้อมูลต่าง ๆ นั้นย่อมแปรผันไปตามมุมมองของบุคคลที่มีแตกต่างกัน เช่น อาศัยอยู่ในวัฒนธรรมที่ต่างกัน อยู่ในช่วงวัยที่ต่างกัน เชื่อชาติต่างกัน


รวมไปถึงมุมมองมาจากเพศที่ต่างกัน ก็ส่งผลให้แต่ละคนมีประสบการณ์ที่ต่างกัน ดังนั้น ข้อมูลที่ได้รับก็อาจจะถูกสร้างมาจากชุดความคิดความเชื่อที่ต่างกัน ความจริงของบริบททางสังคมหนึ่งอาจไม่เป็นความจริงของบริบททางสังคมอีกสังคมหนึ่ง


7. รู้แหล่งที่มาของข้อมูล

คนที่มี Critical thinking skills จะไม่เชื่อว่าข้อมูลที่ได้รับเป็นความจริงโดยที่ไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นมีแหล่งที่มาอย่างไร และแหล่งที่มานั้นเชื่อถือได้จริงหรือไม่


รวมไปถึงสามารถแยกแยะได้ว่าต้นทางของข้อมูลนั้นผลิตข้อมูลออกมาอย่างมีอคติหรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บางอย่างอยู่หรือไม่ เพราะในบางครั้ง ข้อมูลก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง และมันก็มักจะเป็นข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง


8. สงสัยไว้ก่อน

ไม่ละเลยที่จะตั้งคำถามต่อข้อมูลที่ได้รับ รวมถึงตั้งคำถามกับตัวเองว่ามีการเข้าใจผิดอะไรไปหรือไม่ โดยมองความคิดของตัวเองเหมือนกับตัวเองกำลังเป็นผู้อื่นที่ตั้งคำถามต่อความคิดนั้น ๆ


แม้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญของ Critical thinking skills จะดูเหมือนการเป็นคนขี้สงสัย ไม่ไว้วางใจอะไรง่าย ๆ แต่ถึงอย่างไร การที่เราตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อน มันก็ยังดีกว่าที่เราจะเชื่ออะไรไปโดยไม่ตรวจสอบว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาสู่สายตาเราในแต่ละวันเป็นความจริงหรือไม่ เพราะ fake news นั้น


ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้รับข้อมูลที่ผิด แต่การเชื่อว่าข้อมูลที่ผิดนั้นเป็นความจริง มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างบุคคลตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ อย่างในครอบครัว ที่ทำงาน จนถึงระดับใหญ่โตอย่างความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อทางสังคม ที่สามารถพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงจนถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมืองได้เลย


ดังนั้น หากคุณไม่อยากตกเป็นเหยื่อของคนที่สร้าง fake news ขึ้นมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มก้อนของตนเองแล้วล่ะก็ คุณจำเป็นต้องหมั่นฝึกให้ตัวเองมี Critical thinking skills ซึ่งสามารถประยุกต์จากองค์ประกอบทั้ง 8 อย่างข้างต้นได้ ดังนี้


- ตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลว่ามีความน่าเชื่อถือและเป็นกลางแค่ไหน


- ตรวจสอบความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง ที่อาจมีผลให้ตัวเราตัดสินใจเชื่อข้อมูลที่ได้รับมาอย่างมีอคติ


- ตรวจสอบหาหลักฐานที่จะมายืนยันว่าข้อมูลนั้นเป็นจริง หรือหลักฐานที่จะมาโต้แย้งว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นจริง แล้วเอามาชั่งน้ำหนักว่าหลักฐานฝั่งไหนมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือและมีจำนวนมากกว่า


ทั้งนี้ สำหรับชาวพุทธก็สามารถใช้หลักที่เรียกว่า “กาลามสูตร” เพื่อฝึก Critical thinking skills ก็ได้นะคะ โดยรายละเอียดของกาลามสูตรก็สามารถค้นคว้าได้จากอินเทอร์เน็ต และคุณก็อาจจะฝึก Critical thinking skill จากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับกาลามสูตรได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการฝึกซ้อนฝึกกันเลยทีเดียว

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

 

ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาจิตวิทยา และระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตำแหน่ง นักจิตวิทยา และเป็นนักเขียนบทความของ iStrong



iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page