5 วิธีรับมือและป้องกัน Power Harassment ในที่ทำงาน
- iStrong team
- 3 days ago
- 3 min read
Updated: 2 days ago

คุณอาจเคยเจอสถานการณ์ที่หัวหน้างานหรือผู้บริหารใช้อำนาจในทางที่ผิด ข่มขู่ ตำหนิ หรือกดดันลูกน้องอย่างไม่มีเหตุผล นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า Power Harassment ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อความมั่นคงของวัฒนธรรมองค์กรโดยตรง
Power Harassment คือการใช้อำนาจในทางที่ผิดในสถานที่ทำงาน ซึ่งมักเกิดจากผู้มีตำแหน่งสูงกว่า เช่น หัวหน้างานหรือผู้บริหาร ที่ใช้ตำแหน่งของตนในการกดดัน ข่มขู่ ละเมิดสิทธิ์ หรือปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม
โดยอาจมาในรูปแบบของคำพูดรุนแรง การดูถูก การตำหนิซ้ำซาก การให้ทำงานเกินขอบเขต หรือละเลยการสื่อสารอย่างให้เกียรติ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพจิต ความมั่นใจ และแรงจูงใจของพนักงานอย่างรุนแรงในระยะยาว ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ (Toxic Culture) และส่งผลต่อ Engagement และประสิทธิภาพการทำงานของทีมในที่สุด
ในบทความนี้ ผู้เขียนเลือกหยิบยกหนึ่งในเครื่องมือทรงพลังที่สามารถนำมาใช้เพื่อทำความเข้าใจและรับมือกับ Power Harassment อย่างเป็นระบบ นั่นคือ Transactional Analysis (TA) โดยเฉพาะโมเดล P-A-C และ Life Position ที่ช่วยให้ทั้ง HR ผู้บริหาร และพนักงานเข้าใจพฤติกรรมเบื้องลึก และฟื้นฟูความสัมพันธ์ในที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักการของ Transactional Analysis ที่เกี่ยวข้อง
P-A-C Model (Parent-Adult-Child) โมเดลนี้แบ่งรูปแบบการสื่อสารตามสภาวะทางใจของคนออกเป็น 3 ส่วน คือ
Parent (P): การสื่อสารแบบพ่อแม่ อาจเป็นได้ทั้งแบบสั่งสอน ควบคุม สั่งการ (Critical Parent) หรือปกป้อง ดูแล แต่ก็ยังพยายามควบคุม (Nurturing Parent)
Adult (A): การสื่อสารอย่างมีเหตุผล ใช้ข้อมูลและความจริง
Child (C): การสื่อสารแบบเด็ก เช่น วีน เถียงกลับ เอาแต่ใจตัวเอง (Free Child) หรือดื้อเงียบ ประชด ยอมตาม หรือหวาดกลัว (Adapted Child)
Life Position คือ มุมมองลึก ๆ ที่คนมีต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่งมี 4 แบบ คือ
I'm OK – You're OK มุมมองที่มองตนเองและผู้อื่นเท่าเทียมกัน รับฟัง ให้เกียรติ ไม่มีใครเหนือกว่าใคร มักสะท้อนออกมาที่พฤติกรรมและการสื่อสารที่มั่นใจและให้เกียรติกัน
I'm OK – You're not OK มุมมองที่มองตนเองเหนือกว่าคนอื่น เก่งกว่า ดีกว่า มองคนอื่นว่าอาจไม่มีความสามารถหรือต่ำต้อยกว่า มักสะท้อนออกมาที่พฤติกรรมและการสื่อสารที่ยกตนเอง หรือกดผู้อื่น
I'm not OK – You're OK มุมมองที่มองตนเองด้อยกว่าคนอื่น ไม่มีความสามารถ ไม่มั่นใจในตนเอง แต่มองคนอื่นว่ามีความสามารถหรือเก่งกว่า มักสะท้อนออกมาที่พฤติกรรมและการสื่อสารที่ยอมตาม ทำตามคำสั่ง หรือเกรงกลัว
I'm not OK – You're not OK มุมมองที่มองว่าทั้งตนเองและคนอื่นนั้นต่างไม่มีความสามารถ ไม่เก่งพอที่จะแก้ปัญหาได้ หรือไม่ดีพอ มักสะท้อนออกมาที่พฤติกรรมและการสื่อสารที่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ ซึมเศร้า ไร้พลัง
5 วิธีการใช้ Transactional Analysis (TA) เพื่อรับมือกับ Power Harassment สำหรับผู้ถูกกระทำ
เมื่อคุณตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกดดันหรือถูกข่มขู่จากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม การเข้าใจตนเองผ่านกรอบคิดของ Transactional Analysis (TA) สามารถช่วยให้คุณรับมือได้อย่างมีสติ มีพลัง และไม่สูญเสียคุณค่าของตัวเองไป ดังนี้
1. สังเกตว่าฝ่ายนั้นพูดจากสภาวะทางใจแบบไหน (P-A-C)
ฟังคำพูด และสังเกตน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง เช่น
หากเขาพูดว่า “ทำไมเธอโง่ขนาดนี้” ด้วยน้ำเสียงตำหนิ นั่นคือเขากำลังสื่อสารจาก Critical Parent (P)
ถ้าเขาเงียบ ขึงขัง ใช้การกดดัน เช่น มองด้วยสายตาตัดสิน นั่นก็ยังเป็น Parent State
เข้าใจว่า คนที่ใช้ Power Harassment มักอยู่ในสถานะพ่อแม่ที่เข้มงวดและตัดสิน (Critical Parent)
2. ควบคุมการตอบสนองของตัวเองให้อยู่ใน Adult State
อย่าตอบโต้จาก Child (C) เช่น ตอบกลับด้วยอารมณ์ กลัว หรือประชด
ฝึกตอบกลับด้วยเหตุผล ชัดเจน สงบ แบบ Adult เช่น:
“ขอบคุณสำหรับฟีดแบคค่ะ ขอสอบถามเพิ่มเติมว่าควรปรับตรงไหนบ้าง”
“ผมเข้าใจว่ามีจุดผิดพลาด ขอเวลาตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่เกิดซ้ำครับ”
การอยู่ใน Adult State ช่วยลดอารมณ์รุนแรงในสถานการณ์ และยังแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ
3. รู้จัก Life Position ของตัวเอง มุ่งสู่ I’m OK – You’re OK
เตือนใจตัวเองว่า “ฉันก็มีคุณค่า และเขาก็เป็นมนุษย์ที่อาจมีปัญหา”
หลีกเลี่ยงความคิดแบบ “I’m not OK – You’re OK” เช่น “เขาดีกว่าเรา เราต้องยอม” เพราะจะทำให้คุณรู้สึกด้อยค่าและตกเป็นเหยื่อซ้ำ ๆ
ใช้การเขียน Reflection หรือ Affirmation ทุกวัน เช่น
“ฉันมีคุณค่าแม้จะถูกตำหนิ ฉันเรียนรู้ได้”
“ฉันไม่จำเป็นต้องเชื่อคำพูดที่ทำให้ฉันรู้สึกไร้ค่า”
4. พัฒนาทักษะการโต้ตอบที่ Assertive (ไม่เงียบ ไม่ดุ) แต่สุภาพและให้เกียรติ
ฝึกพูดอย่างเคารพแต่หนักแน่น เช่น:
“หนูรู้สึกไม่สบายใจเวลาถูกตำหนิในที่ประชุม ขออนุญาตขอคำแนะนำแบบตัวต่อตัวได้ไหมคะ”
“ผมพร้อมปรับปรุง แต่ขอให้มีการพูดคุยแบบเป็นข้อเท็จจริงกันครับ”
การสื่อสารแบบ Assertive คือการอยู่ใน Adult State และแสดง Life Position แบบ I’m OK – You’re OK อย่างชัดเจน
5. ขอความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ (ไม่ใช่การฟ้อง แต่คือการปกป้องตัวเอง)
จดบันทึกเหตุการณ์ Power Harassment อย่างเป็นระบบ เช่น วันที่ เวลา คำพูด เหตุการณ์
หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อเนื่อง ให้ปรึกษา HR หรือผู้บริหารที่เชื่อถือได้ โดยอธิบายเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่อารมณ์
เสนอแนวทางแก้ไข เช่น การโค้ชหัวหน้า การเปลี่ยนวิธีให้ฟีดแบค ไม่ใช่แค่ร้องเรียน
ตัวอย่างกรณี
คุณเจนกับหัวหน้าที่มักใช้คำพูดเสียดสี
คุณเจนทำงานฝ่ายบัญชี มีหัวหน้าที่ชอบพูดเหน็บแนม เช่น “งานแค่นี้ยังทำไม่ได้ จะให้สอนวิธีกินข้าวด้วยมั้ย”แรก ๆ เจนรู้สึกแย่มาก และตอบโต้ด้วยการเงียบ (Child State) จนรู้สึกว่าตัวเองยิ่งตัวเล็กลงและไร้ค่า
แต่หลังจากได้เรียนรู้เรื่อง TA และลองใช้ Adult State เธอเริ่มพูดว่า “หนูอยากทำงานให้ดีขึ้นค่ะ แต่ขอให้คำแนะนำแบบตรง ๆ ได้ไหมคะ เพราะคำพูดแบบนั้นทำให้หนูรู้สึกไม่ดีต่อตัวเองและไม่เข้าใจว่าควรปรับอะไร” หัวหน้าเงียบไปและเริ่มเปลี่ยนวิธีพูดในครั้งต่อ ๆ มา แม้จะไม่ 100% แต่เจนรู้สึกมีพลังและควบคุมตัวเองได้มากขึ้นกว่าเดิม
Power Harassment อาจไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่คุณสามารถควบคุมภาวะจิตใจของตัวเองได้ เมื่อคุณเข้าใจ TA และสามารถอยู่ในสถานะ Adult พร้อมยึด Life Position แบบ I’m OK – You’re OK คุณจะสามารถปกป้องตัวเองด้วยความมั่นใจ และค่อย ๆ เปลี่ยนพลังของความรุนแรง เป็นพลังของการเติบโตในตัวเอง
5 วิธีป้องกันและหยุด Power Harassment สำหรับผู้นำ
แม้คุณจะเป็นผู้นำที่หวังดีต่อทีม แต่อาจมีบางช่วงเวลาที่อารมณ์ ความเครียด หรือวัฒนธรรมองค์กรเดิม ๆ ทำให้คุณเผลอใช้อำนาจในทางที่บั่นทอนจิตใจของทีมงานโดยไม่รู้ตัว การใช้หลัก TA จะช่วยให้คุณตระหนักรู้ตนเอง และปรับรูปแบบการสื่อสาร ให้เข้ากับยุคใหม่ที่เน้นความเคารพและการเติบโตร่วมกัน
1. สำรวจว่าทั้งความคิดและการสื่อสารของคุณกำลังมาจากสถานะใด (P-A-C)
หยุดคิดก่อนพูด “สิ่งที่ฉันกำลังจะพูด เป็นเสียงของ Adult หรือ Critical Parent"
เช่น หากรู้สึกหงุดหงิด รีบตำหนิ หรือใช้คำพูดที่ตอกย้ำ เช่น “แค่นี้ยังทำไม่ได้อีกเหรอ” นั่นคือ คุณอาจกำลังพูดจาก Critical Parent
เปลี่ยนเป็น Adult State โดยใช้ข้อมูล พิจารณาสถานการณ์ และตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้ เช่น:“ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจหน่อยว่าเกิดปัญหาตรงไหน แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรดี”
2. ทบทวน Life Position ที่คุณมีต่อทีม
ถามตัวเองอย่างจริงใจว่า "ฉันมองว่าทีมของฉัน ‘ไม่เก่งพอ’ หรือเปล่า” “ผมกำลังสื่อสารจากมุมมอง I’m OK – You’re not OK อยู่ไหมนะ”
ผู้นำที่ไม่รู้ตัวว่ามองลูกน้องด้อยกว่า มักแสดงออกด้วยการควบคุม ตำหนิ หรือไม่ไว้วางใจ
เริ่มฝึกใช้มุมมอง I’m OK – You’re OK โดยเน้นความเชื่อว่าทุกคนเรียนรู้ได้ และมีศักยภาพ แม้จะยังไม่สมบูรณ์
3. ใช้ Feedback แบบโค้ช ไม่ใช่แบบตัดสิน
เปลี่ยนจากคำว่า
❌ “คุณทำพลาดอีกแล้วนะ!”
✅ เป็น “ลองคิดดูว่าอะไรที่เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้บ้าง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดซ้ำในครั้งหน้า”
ผู้นำที่ใช้การสื่อสารแบบโค้ชจะพูดด้วยคำถามที่กระตุ้นให้คิด ไม่ใช่กดดันให้กลัว
ฝึกการถามคำถามปลายเปิด เช่น
“ตอนที่คุณตัดสินใจแบบนั้น คุณมีข้อมูลหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง”
“คุณคิดว่าอะไรคือบทเรียนจากเคสนี้”
4. ขอ Feedback ย้อนกลับจากทีมอย่างสม่ำเสมอ
เปิดพื้นที่ให้ทีมสะท้อนความคิดเห็น เช่น ผ่านแบบสอบถามไม่เปิดเผยชื่อ หรือ One-on-One
คำถามที่ใช้ได้ เช่น “มีอะไรที่ฉัน/ผมควรปรับปรุงในวิธีสื่อสารหรือไม่”
ผู้นำที่กล้าฟังเสียงสะท้อน คือผู้นำที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Maturity) สูง
5. พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้คำถามสำหรับผู้นำ
เข้าฝึกอบรมเรื่องรูปแบบการสื่อสารสำหรับผู้นำอย่างมี Empathy การใช้คำถามที่ทรงพลัง และการให้ Feedback ทีมงานอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Feedback)
การมีโค้ชส่วนตัวหรือ Peer Group ช่วยให้คุณมีพื้นที่สะท้อนความคิด
การไม่กลายเป็น ผู้ที่สร้าง Power Harassment เสียเอง คือทักษะสำคัญของผู้นำยุคใหม่ คุณไม่จำเป็นต้องอ่อนแอ ยอมตามลูกน้อง หรือใจดีเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง แต่คุณต้องตระหนักรู้ตนเองและมีวุฒิภาวะ เพื่อสื่อสารจากภาวะ Adult และ Life Position ที่สร้างศักยภาพ
เมื่อคุณมองทีมว่า “เขาโอเค” และคุณก็ “โอเค” นั่นคือจุดเริ่มต้นของภาวะผู้นำที่แท้จริง
ไม่ว่าคุณจะตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำ หรือผู้ที่อาจเผลอกระทำ Power Harassment โดยไม่รู้ตัว คุณสามารถเรียนรู้ทักษะการสื่อสารและการปรับ Mindset เพื่อพัฒนาเรื่องเหล่านี้ได้ ผ่านหลักสูตรฝึกอบรม The Art of Influence ของทาง iSTRONG ที่จะพาคุณเรียนรู้สถานะทางใจและตำแหน่งชีวิตที่กำหนดรูปแบบการสื่อสารของคุณ และฝึกใช้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong