อยู่คนเดียวอย่างไรให้มีความสุข 6 วิธีเอาชนะความรู้สึกเหงา
สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่กับความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ หรือไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น หลายต่อหลายคนรู้สึกชีวิตไร้ความหมาย และ ซึมเศร้า เนื่องมาจากความเหงา
ความเหงา คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่จะเชื่อมโยงกับใครสักคน ความเหงาที่เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย เรียกว่า Social Loneliness นั่นคือ แม้ว่าจะมีผู้คนอยู่รายล้อมเรามากมาย แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครที่จะเข้าใจเราเลยสักคนเดียว ส่วนความเหงาอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า Emotional Loneiness ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เราต้องการใกล้ชิดกับใครสักคน ต้องการความรัก หรือ อยากมีคู่ เป็นต้น ความรู้สึกเหงา ถ้าปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการจัดการ ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกไร้ค่า และ ซึมเศร้าได้
เนื่องจากภาวะโรคระบาด (Covid-19) ในปัจจุบัน ที่ทำให้รัฐบาลออกกฎสังคมให้คนรักษาระยะห่าง (social distance) รวมถึงบริษัทจำนวนมากให้พนักงานทำงานที่บ้าน ทำให้หลายคนมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะ การอยู่คนเดียวมากขึ้น
ในช่วงแรก การอยู่คนเดียว อาจทำให้เรารู้สึกดี เพราะเรามีเวลามากขึ้นที่จะให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นได้นอนมากขึ้น ได้ทำงานอดิเรกที่เราอยากทำมานานแต่ไม่ได้ทำ แต่หาก การต้องอยู่คนเดียว ไม่ใช่ความต้องการของเรา แต่เป็นเพราะสถานการณ์บังคับ ไม่นาน เราก็จะรู้สึก เหงา
มีการศึกษาค้นพบว่า ในช่วงการระบาดของโรค SARS พบว่า คนที่ต้องกักตัว มีระดับความวิตกกังวล และ ภาวะซึมเศร้าสูงกว่าคนทั่วไป ไม่เพียงเท่านี้ คนกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้นที่จะใช้แอลกอฮอล์มากขึ้นกว่าคนปกติอีกด้วย
เพื่อหลีกเลี่ยงการแปรเปลี่ยนจากความเหงาไปเป็นโรคทางจิตเวชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคซึมเศร้า หรือ โรควิตกกังวล นักจิตวิทยา แนะนำวิธีการจัดการความรู้สึกเหงาไว้ ดังต่อไปนี้
1. รับรู้ความรู้สึกเหงาที่เกิดขึ้น
สัญญาณที่จะทำให้เรารับรู้ได้ว่าเรากำลังเหงา ได้แก่
เรารู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่า ไม่อยากตื่นนอนในตอนเช้า ไม่อยากทำกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เช่น การออกกำลังกาย
เรามีพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่ง รู้สึกกระวนกระวายใจและไม่สามารถสลัดความรู้สึกนี้ออกไปได้ ไม่สามารถโฟกัสกับการทำกิจกรรมต่างๆ ได้
นอนไม่หลับ รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับใคร เริ่มหันมาดื่มเหล้า และ สูบบุหรี่
หากเราสังเกตได้ว่าเรามีพฤติกรรมที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้เรารับรู้ว่าเรากำลังเหงา และเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่า เราไม่สามารถควบคุมจัดการอะไรกับชีวิตของเราได้เลย ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวัง เมื่อเรารับรู้ความรู้สึกเหล่านี้ ให้เราบอกกับตัวเองว่า “เดี๋ยวทุกอย่างจะดีขึ้น” และพยายามสังเกตความคิดลบที่เกิดขึ้น จากนั้นให้ตั้งคำถามกับตัวเองถึงสาเหตุ หรือ ความเชื่อที่นำมาสู่ความคิดลบนั้นๆ หากเราเข้าใจตัวเองมากขึ้น สุขภาพจิตของเราก็จะดีขึ้นเช่นกัน
บทความแนะนำ : 5 วิธีจัดการกับความรู้สึกพังๆ ที่นักจิตวิทยาแนะนำ
2. เลือกที่จะเสพสื่อที่ดีต่อสุขภาพจิตของเรา
สิ่งที่เราเสพ ไม่ว่าจะเป็น เพลงที่เราฟัง หนังสือที่เราอ่าน หรือ ข่าวที่เราดู ล้วนมีผลต่อสุขภาพจิตของเราแม้ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การเสพข้อมูลในด้านลบ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ข่าวอาชญากรรม ล้วนมีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของเราทั้งสิ้น ดังนั้น เราควรเลือกเสพข้อมูลที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเรา ที่จะทำให้เรารู้สึกดี และ มีความสุข
3. ทำกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อตัวเราเอง และผู้อื่น
เนื่องจากชีวิตเรามีหลายสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ถ้าเราโฟกัสแต่สิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมและจัดการได้ เราจะรู้สึกทุกข์ใจ นำมาซึ่งความรู้สึกไร้ค่า และ เศร้าใจ
การเลือกทำกิจกรรมที่เราชอบ มีประโยชน์ต่อตัวเราเอง และผู้อื่น ไม่เพียงแต่เราสามารถควบคุมได้ เนื่องจากเป็นการลงมือทำจากตัวเรา เมื่อเราทำมันเสร็จ ยังส่งผลต่อความรู้สึกทางด้านบวก นั่นคือ ความรู้สึกประสบความสำเร็จ ที่ส่งผลให้เรามีความสุขมากยิ่งขึ้น การสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น จะนำมาซึ่งความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ซึ่งจะแทนที่ความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นจากความเหงาได้
4. สร้างความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลอื่น
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนประเภท Introvert หรือ Extrovert ทุกคนล้วนต้องการการเชื่อมโยงกับบุคคลอื่น ต้องการความรู้สึกมีส่วนร่วม ได้รับการยอมรับ และได้รับความใกล้ชิดด้วยกันทั้งนั้น การมีเพื่อน หรือ ครอบครัวที่เราจะสามารถแบ่งปันความรู้สึกได้ จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เราสามารถเริ่มต้นในการเชื่อมต่อกับคนอื่นได้โดยการ เริ่มโทรหา หรือ เริ่มเข้าไปพูดคุยกับคนอื่นก่อนก็ได้
5. ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง
ในปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ว่าเทคโนโลยี โดยเฉพาะ social media กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter หรือ Instagram ซึ่งหากเราใช้มันให้เป็นประโยชน์กับตัวเรา เช่น ใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อกับเพื่อน และ ครอบครัว ก็จะสร้างประโยชน์ให้กับเราเป็นอย่างมาก ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้เวลาอยู่กับ Social Media มากเกินไป เริ่มเปรียบเทียบชีวิตตัวเราเองกับคนอื่น หรือ post ข้อความอะไรก็ตามที่เป็นด้านลบ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตัวเรา สิ่งเหล่านี้ก็สร้างโทษให้กับชีวิตเราได้เช่นกัน
6. อ่อนโยนกับตัวเอง
การแสดงความเห็นอกเห็นใจตัวเอง เข้าใจว่า เรากำลังรู้สึกเหงา รู้สึกแย่ และบอกกับตัวเองว่า เราไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหา แต่มีอีกหลายๆ คนในโลกใบนี้ที่มีปัญหาเช่นกัน เรียนรู้ที่จะให้กำลังใจตัวเองเป็นอีกทักษะหนึ่งที่เราควรที่จะเรียนรู้ และลงมือทำ
อย่างไรก็ตาม หากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว ก็ไม่ช่วยให้เราคลายความเหงาได้ การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เราเข้าใจความรู้สึก และ ความคิดของตัวเราเองมากขึ้น รวมถึงวิธีการในการจัดการความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นนี้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่แนะนำ เพื่อสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ แข็งแรง และการใช้ชีวิตที่มีความสุขของเรานะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน : อังคณา เกิดทองมี
ศึกษาด้านศิลปศาศตรมหาบัณฑิต (M.A.) สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (B.Eng.) สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยศิลปากร, และ Diploma of International E-Business, Hove College, Brighton, UK
มีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งวิศวกรในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขั้นนำของโลกมากกว่า 5 ปี ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทด้าน Data Science และเขียนบทความด้านจิตวิทยาให้กับบริษัท iStrong
Comments