top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

“Hate Speech” วิธีรับมือกับคำพูด ที่คนพูดไม่เคยจำแต่คนฟังเก็บมาคิด


ในสภาวะสังคมทุกวันนี้ที่ “อยู่ยาก” นอกจากเราจะต้องเผชิญกับ Covid – 19 ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม เรายังต้องพบกับปัญหาที่กระทบจิตใจซึ่งเกิดขึ้นจาก “Hate Speech” คำที่คนพูดไม่ได้คิด แต่คนเก็บไปคิดไม่เคยได้พูดตอบโต้ ความน่าตกใจของ “Hate Speech” นั้น นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนฟัง ก็คือ เราสามารถพบ “Hate Speech” ได้ทุกที่ ทุกเวลาเลยค่ะ ทั้งจากคนในครอบครัว (ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจอย่างมากแล้ว ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้สร้าง Hate Speech คนต่อไปได้อีกค่ะ) จากคนที่ทำงาน จากโลกออนไลน์ หรือจากคนที่ไม่รู้จัก หรือสามารถกล่าวได้ว่า ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา การพบเจอกับ “Hate Speech” เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งไปกว่านั้น การเกิดความรู้สึกแย่กับ “Hate Speech” ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเหมือนกันค่ะ เพราะใจของคนเราหนา - บางไม่เท่ากัน มีภูมิต้านทาน ต่อการถูกทำร้ายจิตใจไม่เท่ากัน ดังนั้นในบทความจิตวิทยานี้จึงขอนำคุณผู้อ่านมารู้จักกับ “Hate Speech” ซึ่งทุกท่านรู้จักกันอยู่แล้ว ให้รู้จักในเชิงลึก เชิงจิตวิทยา พร้อมทั้งคำแนะนำในการรับมือกับ “Hate Speech” เพื่อการรักษาสภาพจิตใจ และระดับสุขภาพจิตให้เข้มแข็งในทุก ๆ วันค่ะ


Hate Speech คืออะไร?


ในทางจิตวิทยา ได้จำกัดความของ “Hate Speech” ไว้ว่า คือ การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังทั้งในรูปแบบการด่าทอด้วยคำหยาบคายก็ตาม การใช้คำรุนแรงแบบไม่หยาบคายก็ตาม ซึ่งคุณผู้อ่านหลายท่าน รวมถึงตัวดิฉันเองมักจะได้พบเจอกับ “Hate Speech” เช่นนี้บ่อย ๆ เช่น “ดูลูกข้างบ้านสิ เขาได้ดีขนาดไหนแล้ว” หรือ “งานง่าย ๆ แค่นี้ยังทำพลาดได้” หรือ “พี่คิดว่าน้องจะมีความสามารถมากกว่านี้ เสียอีก” ซึ่งคำพูดตัวอย่างที่ว่ามาไม่มีคำหยาบเลยค่ะ แต่รุนแรงตัดขั้วหัวใจคนฟังได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ “Hate Speech” ยังรวมไปถึงการยุให้คนอื่นตีกัน ผิดใจกัน การนินทา การใส่ร้ายป้ายสี การให้ข้อมูลเท็จในทางลบ การแสดงอคติโจมตีผู้อื่น โดยการสื่อสารทั้งหมดที่ว่ามา มุ่งสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้รับสาร พังทลายความเชื่อมั่นในตนเอง และสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้กับผู้รับสาร โดยในหนังสือการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง Hate Speech (2563, มกราคม) ของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้บอกไว้ว่า “Hate Speech” มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ก็คือ


1. เป็นการแสดงออกทางอคติที่แสดงความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นอย่างชัดเจน


2. มุ่งโจมตีอัตลักษณ์ของเหยื่อ หรือผู้รับสาร ทั้งในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น เชื้อชาติ สีผิว และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น ศาสนา ภูมิลำเนา ฐานะ อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ รูปร่าง เป็นต้น หรือหมายความง่าย ๆ ว่า โจมตีสิ่งที่คนสื่อสาร “เกลียด” ในตัวตนของคนอื่น


3. มีจุดประสงค์ในการสร้าง “Hate Speech” เพื่อแบ่งแยกเหยื่อ หรือผู้รับสารออกจากสังคมของตนเอง

ผลของ “Hate Speech” ที่ผู้รับสารต้องทนแบกรับ

สำหรับคนที่สร้าง “Hate Speech” บางทีอาจจะแค่ขำ ๆ แต่คนที่ไม่ขำ ก็คือเหยื่อ หรือผู้รับสารที่ต้องทนกับผลกระทบมากมาย ได้แก่


1. สร้างความรู้สึกทางลบให้แก่ผู้รับสาร


เมื่อได้รับ “Hate Speech” ผู้รับสารก็จะเกิดความรู้สึกทางลบ ตั้งแต่เบา ๆ แบบอาย โกรธจนไปถึงเกลียด เศร้า เครียด วิตกกังวล มีปัญหาสุขภาพจิต และหากได้รับ “Hate Speech” แบบต่อเนื่อง รุนแรงก็สามารถทำให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ เป็นต้น และอาจรุนแรงเลวร้ายไปถึงการทำร้ายตนเองเลยทีเดียวค่ะ


2. ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้รับสาร


โดยการสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ การลดทอนคุณค่าของผู้รับสาร การทำให้ผู้รับสารเกิดความไม่มั่นใจในตนเอง เกิดความรู้สึกไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่มีความต้องการที่จะมีตัวตนในสังคมนั้นอีกต่อไป


3. สร้างความแตกแยกด้วยความเกลียดชัง


เมื่อมีคนสร้าง “Hate Speech” ก็จะแบ่งสังคมออกเป็นสามฝ่ายโดยอัตโนมัติ คือ ฝ่ายที่เกลียดไปด้วยกัน ฝ่ายที่ปกป้องผู้รับสาร และฝ่ายวางเฉยที่ไม่ทำอะไร ที่รอเหตุการณ์สงบค่อยกลับมาคบกันใหม่ ซึ่งเมื่อสังคมแตกแยก ก็ยากที่จะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ “ความเป็นทีม” หรือความสามัคคีของสังคมอย่างแน่นอนค่ะ


4. สร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้พบเห็น


นอกจาก “Hate Speech” จะสร้างผลกระทบทางด้านความรู้สึกให้แก่ผู้รับสารแล้ว ยังสร้างความรู้สึกทางลบให้กับผู้อื่นที่ดันผ่านเข้ามารับรู้ “Hate Speech” ด้วย เช่น รำคาญใจ โกรธ เกลียดชัง ผู้สื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคมออนไลน์ที่ผู้รับรู้ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้สร้าง “Hate Speech” ก็ยิ่งหงุดหงิด รำคาญใจ เพราะช่วยเหลือเหยื่อ หรือผู้รับสารไม่ได้ค่ะ


วิธีรับมือกับ “Hate Speech” ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา


1. สร้าง Safe Zone ของตนเอง


เมื่อเราถูกปะทะด้วยถ้อยคำรุนแรง สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ดูแลรักษาจิตใจให้เป็นปกติก่อน โดยการกลับมาอยู่ใน Safe Zone หรือสถานที่ที่เราอยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย อบอุ่นใจ และส่วนมากแล้ว Safe Zone ไม่ได้หมายถึงสถานที่ แต่เป็นผู้คน เช่น แม่ พ่อ พี่ น้อง คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนสนิท หรือสัตว์เลี้ยงของเรา ซึ่งไม่ว่าเราจะถูกทำร้ายจากไหน ผู้คนเหล่านี้จะเยียวยาและรักษาจิตใจให้เราหายดีในที่สุด


2. อย่าลืมเล่าสู่กันฟัง


อีกวิธีหนึ่งที่จะลดความรุนแรงของ “Hate Speech” ก็คือการบอกเล่า หรือระบายออกให้คนอื่นฟัง ซึ่งการระบายนี้ไม่ได้มีเจตนาจะสร้างความเกลียดชังกับคนที่ทำร้ายเรา แต่มีเจตนาเพื่อขอ Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจจากคนอื่น ๆ โดยผลพลอยได้ของวิธีการนี้ก็คือการได้รับคำปรึกษา หรือการมองเห็นมุมมองใหม่ที่แตกต่างจากเดิมค่ะ


3. หา Buffer


ถ้าเรายังต้องอยู่ร่วมกับผู้สร้าง “Hate Speech” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ควรทำเพื่อลดความรุนแรง และผลกระทบทางจิตใจ ก็คือการหาคนกลาง หรือ Buffer เมื่อจำเป็นต้องพูดคุย สื่อสาร หรือทำงานร่วมกับคนนั้น แต่ถ้าเป็นไปได้ ย้ายตัวเองออกไปอยู่ในที่ที่สบายใจจะดีกว่าค่ะ


4. มองในมุมของผู้สร้าง “Hate Speech”


เป็นวิธีเปลี่ยนแนวคิดเพื่อกลับมามองตัวเองว่า เพราะอะไรเขาถึงเกลียดเรา หรือเรายังสามารถปรับปรุงตัวเองได้อย่างไร แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเรื่องที่เขาสร้าง “Hate Speech” ให้กับเรามักจะเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ หรือยากเกินกว่าที่เราจะแก้ไขได้ เช่น สีผิว ศาสนา ความเชื่อ หรือเรื่องที่เขา “เข้าใจ” ว่าเราเป็นเช่นนั้น ซึ่งป่วยการจะอธิบายค่ะ


5. หาวิธีระบายความในใจ

นอกจากจะหาคนรับฟังความในใจแล้ว แต่ความคับข้องใจยังไม่หาย เราก้ควรหาวิธีระบายอารมณืทางลบออกไปให้มากที่สุดผ่านกิจกรรมที่เราชอบ หรือเป็นประโยชน์ค่ะ เช่น ต่อยมวย โยนบาส ทุบเกมตัวตุ่น ขัดพื้น ล้างห้องน้ำ เป็นต้น


6. คิดก่อนพูด


เมื่อเราเป็นผู้ถูกกระทำ เรามักจะเก็บและจดจำถ้อยคำร้าย ๆ เหล่านั้นไว้ในใจ และเมื่อเราขาดสติ ฟิวส์ขาด นอตหลุด เราก็มักจะปล่อยคำพูดร้าย ๆ เหล่านั้นไปสู่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว และไม่ตั้งใจ ก่อนจะรู้ก็ทำร้ายคนอื่นไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้น หากไม่ชอบอะไรโปรดอย่าไปทำกับใครเขานะคะ


แม้ว่า “Hate Speech” จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงที่จะพบเจอไม่ได้ แต่เราสามารถรับมือ และจัดการกับอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้นจากมันได้ หากคุณผู้อ่านสนใจปรึกษาเรื่อง “Hate Speech” เพิ่มเติมสามารถติดต่อ Istrong ได้เสมอนะคะ พบกันใหม่บทความจิตวิทยาหน้าค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

1. ARTICLE 19. (2015). คู่มือไขข้อสงสัยเรื่อง ‘ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง’ ฉบับ ค.ศ. 2015. United Kingdom; London: Free Word Centre. หน้า 9 – 12, 20 – 21 และ 40 – 65.

2. สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2563, มกราคม). การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง Hate Speech. กรุงเทพฯ : มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน. หน้า 4, 6 และ 12.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page