top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 แนวทางในการรับมือกับ Hate Speech ความเกลียดที่มากกว่า "คำหยาบ"


เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจอกับคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (Hate Speech) จากคนอื่น หรืออาจจะมีบ้างในบางครั้งที่เราเองก็เผลอใช้คำพูดเช่นนี้กับคนอื่นด้วยเช่นกัน ซึ่งหากทุกคนสามารถรู้เท่าทันตัวเองได้และคิดก่อนพูดทุกครั้ง ปัญหาเรื่องการทำร้ายกันด้วยคำพูดก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ในเมื่อการรู้เท่าทันตัวเองเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องฝึกฝน และมันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไปควบคุมคนอื่นว่า “อย่าพูดแบบนี้กับเรานะ” ดังนั้น ทางเลือกที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดในการใช้ชีวิตของตัวเองให้มีความสุขมากขึ้น ก็คงจะเป็นการฝึกฝนให้ตัวเองมีแนวทางในการรับมือกับ Hate Speech นั่นเอง


5 แนวทางในการรับมือกับ Hate Speech

1. หาความต้องการของคนที่ใช้ Hate Speech กับคุณ

เมื่อมีคนมาพูดจาแสดงความเกลียดชังกับคุณ จนทำให้คุณรู้สึกรำคาญใจเป็นอย่างมากกับคำพูดเหล่านั้น วิธีการที่ตรงไหนตรงมาที่สุดก็คือ ลองถามว่าเพราะอะไรเขาถึงใช้คำพูดแบบนี้กับคุณ เพื่อให้เขาได้ทบทวนว่าตัวเองต้องการอะไรจากคุณ แต่หากคุณได้ถามไปแล้วเขาไม่ตอบและยังคงพูดจากับคุณเช่นเดิมไม่หยุด คุณอาจจะลองเดาดูก็ได้ว่าเขาต้องการอะไรหรือได้อะไรจากใช้ Hate Speech กับคุณ ซึ่งโดยมากแล้วคุณมักจะพบว่าปัญหามักจะไม่ได้มาจากคุณสักเท่าไหร่ แต่มักจะเป็นปัญหาของผู้ที่ใช้ Hate Speech เองที่อาจจะมีความรู้สึกเชิงลบด้วยอุปนิสัยส่วนตัวของเขาเอง หรือหากคุณไม่มั่นใจว่าตัวคุณเองคือต้นเหตุของปัญหาหรือไม่ ก็อาจจะลองถามเพื่อให้เขาขยายความได้ว่าที่เขาพูดมานั้นเขาหมายความว่าอย่างไร แท้จริงแล้วต้องการจะบอกอะไร

2. บอกความรู้สึกของคุณให้คนที่ใช้ Hate Speech กับคุณทราบ

มีผู้คนจำนวนมากที่พูดโดยไม่คิดและไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังพูดอะไรออกมา หรือพูดออกมาด้วยความเคยชินแบบไม่คิดอะไร ทำให้เขาไม่ทันระมัดระวังคำพูดของตัวเองว่าจะไปทำร้ายจิตใจคนฟังหรือเปล่า หากคุณรู้สึกแย่กับคำพูดของเขาก็อาจจะบอกความรู้สึกของตัวเองออกไปให้ผู้พูดได้ทราบ เพราะเขาอาจจะไม่เคยรู้ตัวเลยก็ได้ ถ้าคุณไม่บอกเขาก็อาจจะคิดไปเองว่าคุณไม่ได้รู้สึกอะไรกับคำพูดที่เขาพูดออกมา ซึ่งการบอกนั้นก็ควรจะเป็นการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาโดยไม่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ แต่เน้นการสื่อสารให้คู่สนทนารับทราบถึงความรู้สึกที่แท้จริงของคุณ เช่น “ฉันไม่รู้ว่าเธอหมายความแบบนั้นจริงไหม แต่ฉันรู้สึกแย่ทุกครั้งเลย เวลาที่ได้ยินคำพูดแบบนี้”

3. แบ่งปันประสบการณ์เชิงบวกกับคนที่ใช้ Hate Speech กับคุณ

บ่อยครั้งที่คนที่ใช้ Hate Speech คือคนที่มีแต่ประสบการณ์เชิงลบ ทำให้เขาไม่เคยมีแบบอย่างของการพูดจาดี ๆ เช่น อาจจะถูกเลี้ยงดูมาจากผู้ปกครองที่ชอบพูดจารุนแรง ชุมชนที่เขาเติบโตมามีความคิดความเชื่อว่าการพูดจาแรง ๆ ต่อกันคือการแสดงถึงความจริงใจ เป็นต้น เขาจึงไม่รู้วิธีการในการเข้าหาผู้อื่นด้วยวิธีเชิงบวก คุณอาจจะแบ่งปันประสบการณ์เชิงบวกที่คุณเคยได้รับคำพูดดี ๆ ให้เขาทราบหรืออาจจะเป็นตัวอย่างให้กับเขา ด้วยการใช้คำพูดเชิงบวกกับเขาแทนที่จะตอบโต้ Hate Speech ของเขาด้วย Hate Speech ของคุณ

4. กล่าวลาและออกจากการสนทนานั้นไป

หากคุณได้ลองทำวิธีการต่าง ๆ มามากพอแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมาเลย ก็คงจะถึงเวลาที่คุณต้องกล่าวลาและออกจากการสนทนานั้นไป โดยสื่อสารให้อีกฝ่ายทราบว่าคุณเข้าใจว่าเขายังรู้สึกเกลียดชังคุณอยู่ แต่คุณเองก็ต้องการความสงบสุขทางใจเช่นกัน โดยอาจจะพูดให้เขาทราบว่า “ฉันเข้าใจว่าเธออาจจะกำลังรู้สึกไม่ดีอยู่ ฉันก็อยากคุยกับเธอต่อ ถ้าหากเธอเลิกใช้คำพูดแบบนี้กับฉัน แต่ถ้าเธอยังไม่เลิกใช้คำพูดแบบนี้ ฉันขอตัวก่อนดีกว่า”

5. ปรึกษานักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษา

มันอาจจะเป็นเรื่องยากในสังคมไทยที่จะสื่อสารความต้องการหรือความรู้สึกของตัวเองออกไปตรง ๆ อีกวิธีการที่เป็นทางเลือกที่ดีก็คือ การไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถเอื้อให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าเพราะอะไรคุณถึงเจ็บช้ำกับ Hate Speech ของคนอื่นและไม่สามารถมูฟออนไปจากมันได้เลย นอกจากนั้น นักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษาจะถูกฝึกมาให้มีลักษณะฟังอย่างเข้าใจไม่ตัดสินและรักษาความลับของคุณได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ Hate Speech มีความเกี่ยวข้องกับลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนด้วยเช่นกัน จึงไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนด้วยการให้บุคคลต้องคอยหาวิธีรับมือกับ Hate Speech อยู่เรื่อยไป หากชุมชนสามารถทำการรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความตระหนักให้ผู้คนได้เข้าใจถึงผลกระทบของ Hate Speech และความสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่ดีให้ทุกคนทราบโดยทั่วกัน ก็จะช่วยลดการเกิดขึ้นของ Hate Speech อย่างยั่งยืนมากกว่า กล่าวคือ สังคมจะต้องชูประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้ Hate Speech ให้ทุกคนรับทราบและเกิดความเข้าใจว่า การพูดจาแย่ ๆ ใส่กันมันไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา มันไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถอ้างได้ว่า “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” หรือ “อ่อนแอก็แพ้ไป” แต่มันคือการประทุษร้ายทางวาจาซึ่งไม่มีใครบนโลกนี้ที่สมควรได้รับ Hate Speech

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี)

และเป็นนักเขียนของ istrong


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page